คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 899/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรอันเกิดจากโจทก์กับจำเลยตามที่จำเลยให้สัญญาไว้ขณะจดทะเบียนหย่ากันนั้น แม้ภายหลังโจทก์ได้ยกบุตรให้เป็นบุตรบุญธรรมของผู้อื่น บุตรบุญธรรมก็ไม่สูญสิทธิและหน้าที่ในครอบครัวที่ได้กำเนิดมาตาม ป.พ.พ. มาตรา1598/28 ดังนั้น การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรม จึงไม่เป็นผลที่จะทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เมื่อโจทก์ได้ให้ทนายความมีหนังสือทวงถามจำเลยให้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรและจดทะเบียนโอนทรัพย์ให้โจทก์ตามสัญญาจำเลยได้รับแล้วแต่ไม่ปฏิบัติตาม จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยจดทะเบียนหย่ากัน และได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่า จำเลยจะให้ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรแก่โจทก์เดือนละ 10,000 บาท และตกลงยกบ้านพร้อมที่ดินซึ่งเป็นสินสมรสให้โจทก์ จำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญา ขอให้บังคับจำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร และโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่เคยนัดให้จำเลยไปโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านจำเลยกับโจทก์มิได้ตกลงกันแจ้งชัดว่าให้บุตรอยู่ในความปกครองของโจทก์ และยังมิได้ตกลงจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรให้โจทก์จำเลยมิได้กระทำการใดเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระค่าเลี้ยงดูบุตรแก่โจทก์เดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2528 จนกว่าเด็กหญิงณัฐวัณน์ อิงคตานุวัฒน์ จะมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์หรือบรรลุนิติภาวะ และให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 65785พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยเพิ่งทราบในภายหลังว่า เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2530 (ที่ถูกวันที่ 18มิถุนายน 2530) โจทก์ได้ยกเด็กหญิงณัฐวัณน์ซึ่งเป็นบุตรอันเกิดจากโจทก์กับจำเลยให้เป็นบุตรบุญธรรมของนายกิตติ มิตรศรัทธา สามีใหม่ของโจทก์ ปรากฏตามสำเนาเอกสารท้ายฎีกา ดังนั้น นับแต่วันจดทะเบียนดังกล่าว อำนาจปกครองบุตรจึงตกแก่นายกิตติผู้รับบุตรบุญธรรมโจทก์ย่อมไม่มีสิทธิได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดูตามฟ้อง และโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องดังฎีกาของจำเลยหรือไม่ เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้ จำเลยก็อ้างอิงปัญหานี้ในชั้นฎีกาได้และศาลฎีกาได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ตามสำเนาทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมท้ายฎีกาของจำเลย ปรากฏว่านายกิตติจดทะเบียนรับเด็กหญิงณัฐวัณน์เป็นบุตรบุญธรรมเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2530 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้แล้ว อีกทั้งบุตรบุญธรรมก็ไม่สูญสิทธิและหน้าที่ในครอบครัวที่ได้กำเนิดมาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1598/28 ด้วย ดังนั้นการจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมดังกล่าวหามีผลทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องไม่ ฎีกาของจำเลยในปัญหานี้ฟังไม่ขึ้น คงมีปัญหาที่จะวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปเพียงว่า จำเลยได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์หรือไม่ ปัญหานี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์และจำเลยไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาว่า โจทก์ได้ให้ทนายความมีหนังสือทวงถามจำเลยให้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร และจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินให้โจทก์ตามสัญญา จำเลยได้รับหนังสือทวงถามดังกล่าวแล้วปรากฏตามหนังสือทวงถามและใบตอบรับเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5แต่จำเลยไม่ได้ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร และไม่ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินให้โจทก์ตามหนังสือทวงถาม ซึ่งจากข้อเท็จจริงที่ได้ความดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้…”
พิพากษายืน.

Share