คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 896/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ท. มีตำแหน่งเป็นแม่บ้าน มีหน้าที่ดูแลความสะอาดและความเรียบร้อยภายในสำนักงาน บริการจัดหาเครื่องดื่ม ของว่างและอาหารแก่ผู้มาติดต่อและพนักงานที่ประจำอยู่ ณ สำนักงาน กับจัดซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคตามบันทึกข้อมูลขอบข่ายหน้าที่ของพนักงาน ซึ่งโดยลักษณะงานย่อมจะต้องเข้าทำงานก่อนพนักงานอื่น และต้องทำงานนอกสถานที่ทำงานของโจทก์เพราะต้องจัดซื้ออาหารและเครื่องดื่มจากตลาด โจทก์ได้กำหนดค่าล่วงเวลาเหมาจ่ายเป็นรายเดือนให้ด้วย โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจาก ท. ต้องเริ่มทำงานก่อนเวลาทำการปกติ แสดงแจ้งชัดว่า ท. ต้องเริ่มทำงานให้โจทก์ก่อนเวลา 8 นาฬิกา ซึ่งเป็นเวลาทำงานปกติของพนักงาน แม้ ท. จะยังมิได้ลงชื่อเข้าทำงานก็มิใช่ข้อสาระสำคัญ เพราะตามสภาพความเป็นจริง ท. ได้เริ่มปฏิบัติงานตามหน้าที่แล้ว สามารถลงชื่อเข้าทำงานในภายหลังได้ เมื่อขณะ ท. ขับรถจักรยานยนต์ไปที่ทำงาน ท. ได้แวะซื้อของที่ตลาดเพื่อนำไปเตรียมไว้รับรองแขกและพนักงานของโจทก์ตามหน้าที่ เมื่อซื้อของเสร็จกำลังขับรถจากตลาดไปที่ทำงานได้เกิดเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์อีกคันหนึ่ง เป็นเหตุให้ ท. ได้รับบาดเจ็บกรณีจึงเป็นการที่ ท. ได้รับอันตรายแก่กายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง อันเป็นการประสบอันตรายตามความหมายของมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.เงินทดแทนฯ แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยทั้งสองของจำเลย และให้จำเลยจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล 35,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์จ่ายเงิน (วันที่ 24 กรกฎาคม 2544) แก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยหรือคำสั่งของจำเลยเขตพื้นที่ 3 ที่ รส 0720/17114 ลงวันที่ 29 พฤษภาคม 2544 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนที่ 209/2544 ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2544 ให้จำเลยชำระเงิน 35,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2544 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางว่า นางทิพย์พร ศิริบูรณ์หรือจินานุวัฒนานนท์ เป็นลูกจ้างโจทก์มาตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2541 ในตำแหน่งแม่บ้าน มีหน้าที่ทำความสะอาด จัดเตรียมเครื่องดื่ม น้ำชา กาแฟ อาหารและของว่างไว้รับรองแขกที่มาเยี่ยมและพนักงานของโจทก์ที่มายังโรงงาน ตามบันทึกข้อมูลขอบข่ายหน้าที่ของพนักงานเอกสารหมาย จ.4 ได้รับค่าจ้างสุดท้ายเดือนละ 6,500 บาท และค่าทำงานล่วงเวลาเหมาจ่ายเดือนละ 1,500 บาท ตามหลักฐานการจ่ายเงินเดือนเอกสารหมาย จ.3 ตามระเบียบของโจทก์กำหนดเวลาทำงานของพนักงานไว้ตั้งแต่ 8 นาฬิกา ถึง 17 นาฬิกา เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2544 เวลาประมาณ 7 นาฬิกา นางทิพย์พรขับรถจักรยานยนต์เพื่อไปทำงานโดยแวะซื้อของที่ตลาด ระหว่างทางจะไปโรงงานได้ถูกรถจักรยานยนต์อีกคันหนึ่งเฉี่ยวชน เป็นเหตุให้ศีรษะกระแทกพื้นและสลบไปตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย จ.5 นางทิพย์พรเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลเอกชนซึ่งคิดค่ารักษาพยาลบาลเป็นเงิน 35,000 บาท ตามใบเสร็จเงินและรายละเอียดค่ารักษาพยาบาลเอกสารหมาย จ.8 โจทก์เห็นว่านางทิพย์พรประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้โจทก์จึงยื่นคำร้องต่อจำเลยเพื่อให้กองทุนเงินทดแทนจ่ายค่ารักษาพยาบาลดังกล่าว แต่จำเลยปฏิเสธการจ่ายเงินอ้างว่า นางทิพย์พรมิได้ประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้โจทก์ โจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนตามเอกสารหมาย จ.7 ระหว่างนั้นโรงพยาบาลเอกชนทวงถามค่ารักษาพยาบาลดังกล่าว โจทก์จึงชำระให้ไปตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.8 ต่อมาคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนมีคำวินิจฉัยยืนตามคำวินิจฉัยของจำเลย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อแรกว่า นางทิพย์พรประสบอันตรายตามความหมายของพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 5 หรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า ขณะเกิดเหตุยังไม่ถึงเวลาเริ่มทำงานของพนักงานโจทก์ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เวลา 8 นาฬิกา ถึง 17 นาฬิกา และยังไม่มีการลงชื่อเข้าทำงาน ทั้งงานที่โจทก์มอบหมายให้ทำก็อยู่ที่บริษัทแต่นางทิพย์พรประสบอุบัติระหว่างเดินทางไปทำงาน ถือได้ว่านางทิพย์พรยังไม่ได้เริ่มทำงานให้แก่โจทก์นั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 5 ให้นิยามคำว่า ประสบอันตราย หมายความว่า การที่ลูกจ้างได้รับอันตรายแก่กายหรือผลกระทบแก่จิตใจเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง นางทิพย์พรมีตำแหน่งเป็นแม่บ้าน มีหน้าที่ดูแลความสะอาดและความเรียบร้อยภายในสำนักงาน บริการจัดหาเครื่องดื่ม ของว่างและอาหารแก่ผู้มาติดต่อและพนักงานที่ประจำอยู่ ณ สำนักงาน กับจัดซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคตามบันทึกข้อมูลข่ายหน้าที่ของพนักงาน ซึ่งโดยลักษณะงานย่อมจะต้องเข้าทำงานก่อนพนักงานอื่นและต้องทำงานนอกสถานที่ทำงานของโจทก์เพราะต้องจัดซื้ออาหารและเครื่องดื่มจากตลาด ปรากฏว่าโจทก์ได้กำหนดค่าล่วงเวลาเหมาจ่ายเป็นรายเดือนให้ด้วย โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากนางทิพย์พรต้องเริ่มทำงานก่อนเวลาทำการปกติตามเอกสารหมาย จ.4 แสดงแจ้งชัดว่านางทิพย์พรต้องเริ่มทำงานให้โจทก์ก่อนเวลา 8 นาฬิกา ซึ่งเป็นเวลาทำงานตามปกติของพนักงาน แม้นางทิพย์พรจะยังมิได้ลงชื่อเข้าทำงานก็มิใช่ข้อสาระสำคัญเพราะตามสภาพความเป็นจริงนางทิพย์พรได้เริ่มปฏิบัติงานตามหน้าที่แล้ว สามารถลงชื่อเข้าทำงานในภายหลังได้ เมื่อข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมาปรากฏว่าขณะนางทิพย์พรขับรถจักรยานยนต์ไปที่ทำงาน นางทิพย์พรได้แวะซื้อของที่ตลาดเพื่อนำไปเตรียมไว้รับรองแขกและพนักงานของโจทก์ตามหน้าที่ เมื่อซื้อของเสร็จกำลังขับรถจากตลาดไปที่ทำงาน ได้เกิดเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์อีกคันหนึ่งเป็นเหตุให้นางทิพย์พรได้รับบาดเจ็บ กรณีจึงเป็นการที่นางทิพย์พรได้รับอันตรายแก่กายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง อันเป็นการประสบอันตรายตามความหมายของมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 แล้ว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิได้รับเงินค่ารักษาพยาบาลคืนจากจำเลยจำนวน 35,000 บาท ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 13 โดยจำเลยอุทธรณ์ว่าใบเสร็จรับเงินที่แสดงจะต้องปรากฏว่า ได้จ่ายไปจริงตามความจำเป็น แต่ศาลแรงงานกลางรับฟังเพียงว่ามีการจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปจริงเท่านั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 13 บัญญัติว่า ให้นายจ้างจ่ายค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็น แสดงว่าการจ่ายค่ารักษาพยาบาลของนายจ้างจะต้องเป็นการจ่ายเท่าที่จ่ายจริง และเป็นค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นประกอบกันด้วย คดีนี้ศาลแรงงานกลางรับฟังว่าโจทก์ได้จ่ายค่ารักษาพยาบาลไปจริงตามใบเสร็จรับเงินของโรงพยาบาลเอกชนเอกสารหมาย จ.8 ซึ่งมีใบแจ้งหนี้แนบท้ายมาด้วยอีก 3 ฉบับ โดยมีรายละเอียดระบุชัดแจ้งว่าเป็นค่าใช้จ่ายเพื่ออะไร จำนวนเท่าใด แต่ละรายการล้วนเกี่ยวกับการบำบัดรักษาอาการเจ็บป่วยของนางทิพย์พรทั้งสิ้น ส่วนจำเลยมิได้โต้แย้งหรือแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงแจ้งชัดอยู่ในตัวว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการรักษาพยาบาล ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลจำนวน 35,000 บาท คืนจากจำเลย ถือว่าศาลแรงงานกลางรับฟังแล้วว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็น คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางจึงชอบด้วยพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 มาตรา 13 แล้ว ส่วนปัญหาว่า จำเลยจะต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า เมื่อจำเลยต้องชำระเงินค่ารักษาพยาบาลดังกล่าว จึงเป็นเรื่องหนี้เงินซึ่งมีจำนวนแน่นอน และโจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อจำเลยเพื่อให้จ่ายค่ารักษาพยาบาลนั้นแล้วแต่จำเลยปฏิเสธ โจทก์จึงชำระเงินจำนวนดังกล่าวแทนจำเลยไป ดังนี้จำเลยมีหน้าที่ต้องชำระคืนแก่โจทก์ตั้งแต่วันที่โจทก์ได้ชำระเงินไป จึงเป็นหนี้ที่มีกำหนดเวลาชำระตามวันแห่งปฏิทิน แต่จำเลยมิได้ชำระจึงตกเป็นผู้ผิดนัดโดยไม่จำต้องทวงถาม จำเลยต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แก่โจทก์นับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระเงินไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคสอง และมาตรา 224 วรรคหนึ่ง กรณีมิใช่ยังถือไม่ได้ว่าเป็นเงินจำนวนแน่นอนและยังมิได้ทวงถามให้ชำระหนี้ จำเลยจึงยังไม่ตกเป็นผู้ผิดนัดดังที่จำเลยอ้าง คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share