คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 896/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ปรากฏตามเอกสารที่โจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกาทำขึ้นพร้อมคำแปลและอ้างเป็นพยานว่า พ. รองประธานกรรมการอาวุโสของโจทก์ยืนยันว่าได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้ยืนยันว่า โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์พิพาท ด. ที่ปรึกษาสมาคมลงชื่อรับรองลายมือชื่อของพ.ว่าเป็นผู้ได้รับมอบอำนาจให้มาลงนามของโจทก์ร.โนตารีปับลิกมลรัฐนิวยอร์ก รับรองว่า พ.และด. ทำการปฏิญาณต่อหน้าตนน. เสมียนเคาน์ตี้และจ่าศาลของศาลซูพรีมคอร์ต แห่งมลรัฐนิวยอร์กประจำเคาน์ตี้ออฟนิวยอร์กรับรองว่าร.เป็นโนตารีปับลิกประจำมลรัฐนิวยอร์กและเป็นผู้มีคุณสมบัติที่จะปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว ย.กงศุล ใหญ่ ไทย ณ มลรัฐนิวยอร์กรับรองลายมือชื่อของน. ดังนี้ จะเห็นได้ว่าเอกสารดังกล่าวมีการรับรองกันมาตามลำดับเนื้อความแห่งเอกสารนั้นย่อมมีอยู่จริง จึงนำมาฟังประกอบคำเบิกความของ ล. กรรมการบริษัท ซ. ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ได้ว่า ภาพยนตร์พิพาทเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ ทั้งบริษัท ซ. ได้รับอนุญาตจากโจทก์ให้นำภาพยนตร์ของโจทก์มาทำวีดีโอเทปซ้ำเพื่อออกจำหน่ายแก่สมาชิกในประเทศไทยติดต่อกันมาได้ 3 ปีแล้ว โจทก์มอบอำนาจให้บริษัทซ. ปกป้องลิขสิทธิ์และฟ้องร้องตามหนังสือมอบอำนาจ ย่อมแสดงให้เห็นว่าโจทก์เป็นผู้สร้างภาพยนตร์พิพาทขึ้นเอง ภาพยนตร์พิพาทจึงเป็นงานสร้างสรรค์ของโจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องคดีละเมิดลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์ของโจทก์ได้ ขณะเกิดเหตุประเทศสหรัฐอเมริกายังไม่ได้เข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรมทำ ณ กรุงเบอร์น ซึ่งประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอยู่แล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2474 โดยเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาดังกล่าวฉบับที่ทำ ณ กรุงเบอร์น เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1908และสำเร็จบริบูรณ์ด้วยโปรโตคล เพิ่มเติม ลงนาม ณ กรุงเบอร์นเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 1914 แต่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2521 ก็มิได้มีบทบัญญัติกีดกันงานอันมีลิขสิทธิ์ของประเทศที่มิได้เป็นภาคีในอนุสัญญาเบอร์น เพื่อไม่ให้ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติดังกล่าวแต่อย่างใด ทั้งนี้โดยที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนไขเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ พ.ศ. 2526ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 159 ของ รัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ ได้กำหนดเงื่อนไขการให้ความคุ้มครองแก่งานดังกล่าวไว้ในมาตรา 4 ว่า”งานอันมีลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้ (1)… ในกรณีที่ได้โฆษณาแล้ว การโฆษณาต้องกระทำเป็นครั้งแรกในประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญา…” ด้วยเหตุนี้งานอันมีลิขสิทธิ์ของประเทศนอกภาคีอนุสัญญาเบอร์น อย่างเช่นงานของประเทศสหรัฐอเมริกาย่อมได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ หากได้กระทำการโฆษณาเป็นครั้งแรกในประเทศใดประเทศหนึ่งที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาเบอร์น เมื่อปรากฏว่าประเทศแคนาดาเป็นประเทศภาคีประเทศหนึ่งในอนุสัญญาดังกล่าว งานอันมีลิขสิทธิ์ของประเทศสหรัฐอเมริกาจึงอาจได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ งานอันมีลิขสิทธิ์ของประเทศสหรัฐอเมริกาจะได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ก็ต่อเมื่อได้มีการโฆษณางานนั้นตามความหมายของเงื่อนไขการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วย ฉะนั้น การทำให้ปรากฏซึ่งภาพยนตร์โดยการนำออกฉายเป็นครั้งแรกในประเทศแคนาดาแม้จะถือเป็นการโฆษณา แต่ก็มิใช่การโฆษณางานในความหมายเพื่อให้ได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯและมาตรา 4(1) แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว หากแต่เป็นเพียงการโฆษณาในความหมายของคำว่า “โฆษณา” ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ซึ่งใช้เฉพาะในกรณีที่ต้องการทราบความหมายของการนำออกโฆษณาอันเป็นสิทธิแต่ผู้เดียวประการหนึ่งของเจ้าของลิขสิทธิ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 13(2) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวและในกรณีที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์โดยการโฆษณาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 24 และมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันเท่านั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงเพียงว่า โจทก์นำภาพยนตร์พิพาททั้งสองเรื่องไปฉายโฆษณาเป็นครั้งแรกในประเทศแคนาดาเท่านั้น หาได้ปรากฏว่าโจทก์ได้นำก๊อปปี้ฟิล์มภาพยนตร์พิพาทอันเป็นสำเนาจำลองออกจำหน่ายโดยให้ก๊อปปี้ฟิล์มภาพยนตร์นั้นมีปรากฏต่อสาธารณชนเป็นจำนวนมากพอสมควรแต่อย่างใดไม่ งานภาพยนตร์ของโจทก์จึงไม่อาจได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ฯ ได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา โจทก์มอบอำนาจให้บริษัทซีเนแอดส์ วีดีโอ จำกัด ฟ้องคดีนี้ โจทก์เป็นผู้ สร้างสรรค์ และเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์แต่เพียงผู้เดียวในงานภาพยนต์เรื่อง King Davidมีชื่อภาษาไทยว่า เดวิด เจ้าบัลลังก์ และ Star Trek III มีชื่อภาษาไทยว่า สตาร์เทร็ค 3 ภาพยนตร์ดังกล่าวได้นำออกโฆษณาเป็นครั้งแรกพร้อมกันในประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศแคนาดา ซึ่งประเทศแคนาดา และประเทศ ไทยต่างเป็นภาคีแห่งอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม ทำ ณ กรุงเบอร์นทั้งประเทศแคนาดา และประเทศไทยได้ให้ความคุ้ม ครองเช่นเดียวกันแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของภาคดีอื่น ๆ แห่งอนุสัญญาดังกล่าวรวมถึงงานภาพยนต์และวีดีโอเทปด้วย ภาพยนตร์อันเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์จึงได้รับความคุ้ม ครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 และพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนไขเพื่อคุ้ม ครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศพ.ศ. 2526 จำเลยได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือเมื่อระหว่างวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2529 ถึงวันที่ 18 กุมภาพันธ์พ.ศ. 2529 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยได้กระทำซ้ำหรือดัดแปลงภาพยนตร์ของโจทก์เป็นวีดีโอเทป โดยมิได้รับอนุญาตจากโจทก์ให้มีอำนาจกระทำได้ และนำออกขาย ให้เช่า ให้เช่าซื้อ หรือเสนอขายเสนอให้เช่าหรือเสนอให้เช่าซื้อหรือนำออกโฆษณาหรือแจกจ่ายในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าวีดีโอเทปเรื่องดังกล่าวได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำเพื่อการค้าและทำให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 13, 24, 25, 26, 27, 42,43,มาตรา 44, 47, 49 พระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนไขเพื่อคุ้ม ครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ พ.ศ. 2526 มาตรา 3, 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91ให้ของกลางตกเป็นของโจทก์ กับให้ค่าปรับที่ได้รับชำระตามคำพิพากษาจ่ายแก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่ง
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 27,(1), 44 วรรคสอง ปรับ 20,000 บาทของกลางให้ตกเป็นของโจทก์ค่าปรับที่ได้ชำระตามคำพิพากษาให้จ่ายแก่โจทก์กึ่งหนึ่ง
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยฎีกาในข้อแรกว่า คำเบิกความของนายเลอศักดิ์ อัศวถาวรวานิช เป็นพยานบอกเล่า คำรับรองของเคาน์ตรีเคลิก มิได้รับรองเนื้อความแห่งเอกสาร กงศุล ไทย ประจำนครนิวยอร์ก ลง ชื่อเพื่อรับรองลายมือชื่อเคาน์ตี้เคลิก รับฟังไม่ได้และโจทก์ไม่ได้นำสืบถึงความเป็นผู้สร้างสรรค์ ให้ศาล เห็น จึงไม่อาจฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์ และเป็นผู้เสียหาย มี อำนาจฟ้องคดีนี้ โจทก์มีนายเลอศักดิ์ อัศวถาวรวานิช กรรมการ ของบริษัท ซีเนแอดส์วีดีโอ จำกัด ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์มาเบิกความ ว่า ภาพยนตร์พิพาททั้งสองเรื่องได้ทำการฉายครั้งแรกแล้วที่ ประเทศแคนาดาอันเป็นประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วย การคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยร่วมเป็นภาคีอยู่ด้วย ถือ ภาพยนตร์เรื่องเดวิดเจ้าบัลลังก์ ตามม้วนวีดีโอเทปของกลางหมาย จ.3 ฉายครั้งแรกที่ประเทศแคนาดา เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2528 และเรื่องสตาร์เทร็ค 3 ตามม้วนวีดีโอเทปของกลางหมาย จ.4 ฉาย ครั้งแรกที่ประเทศแคนาดา เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 และโจทก์ มีเอกสารหมาย จ.12, จ.13 พร้อมคำแปลที่โจทก์เป็นฝ่ายจัดทำขึ้นโดย มีโนตารีปับลิก เคาน์ตี้เคลิก และกงศุล ไทยประจำนครนิวยอร์กประเทศสหรัฐอเมริการับรองความถูกต้องแห่งเอกสารนั้นมาประกอบ จากคำแปลเอกสารหมาย จ.12, จ.13 ซึ่งจำเลยมิได้คัดค้านคำแปลแต่อย่างใดได้ความว่านายพอลดี สปริงเกอร์ รองประธานกรรมการอาวุโสของโจทก์ยืนยันว่าได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้ยืนยันว่าโจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์เรื่องเดวิด เจ้าบัลลังก์ และสตาร์เทร็ค 3นายเดวิด เอส.โรเซ็นบวม ที่ปรึกษาสมาคมลงชื่อรับรองลายมือชื่อของนายพอล ดีปริงเกอร์ ว่าเป็นผู้ได้รับมอบอำนาจให้มาลงนามของโจทก์ นายโรบิน เอ.กูลด์ โนตารีปับลิก มลรัฐนิวยอร์ก รับรองว่า นายพอล ดี.สปริงเกอร์ และนายเดวิด เอ.โรเซ้นบวม ทำการปฏิบัติต่อหน้าตน นายนอร์แมน กูดแมน เสมียนเคาน์ตี้ และจ่าศาลของซูพรีคอร์ต แห่งมลรัฐนิวยอร์ก ประจำเคาน์ตี้ ออฟนิวคอร์ก รับรอง ว่านายโรบิน เอ.กูลด์ เป็นโนตารีปับลิก ประจำมลรัฐนิวยอร์ก และเป็นผู้มีคุณสมบัติที่จะปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว นายยนต์ เกิดผล กงสุลใหญ่ไทย ณ มลรัฐนิวยอร์ก รับรองลายมือชื่อของนายนอร์แมน กู้ดแมนเห็นว่าเมื่อพิเคราะห์เอกสารหมาย จ.12 จ.13 พร้อมคำแปลดังกล่าวแล้วจะเห็นได้ว่าได้มีการรับรองกันมาตามลำดับ จึงฟังได้ว่าเนื้อความแห่งเอกสารนั้นย่อมมีอยู่จริง นำมาฟังประกอบคำเบิกความของนายเลอศักดิ์ กรรมการของบริษัทผู้รับมอบอำนาจได้ว่า ภาพยนตร์พิพาทเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์จริง ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่นำสืบถึงความเป็นผู้สร้างสรรค์ ของ โจทก์นั้น โจทก์ได้นำสืบว่าบริษัทซีเนแอดส์ วีดีโอ จำกัด ได้รับอนุญาตจากโจทก์ให้นำภาพยนตร์ของโจทก์มาทำวีดีโอเทปซ้ำเพื่อออกจำหน่ายแก่สมาชิกในประเทศไทย ติดต่อกันมาได้ 3 ปีแล้ว โจทก์มอบอำนาจให้บริษัทซีเนแอดส์ วีดีโอจำกัด ปกป้องลิขสิทธิ์และฟ้องร้องตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมายจ.11 ย่อมแสดงให้เห็นว่าโจทก์เป็นผู้สร้างภาพยนตร์พิพาทขึ้นเอง ภาพยนตร์พิพาทจึงเป็นงานสร้างสรรค์ของโจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องคดีนี้
ฎีกาข้อต่อไปของจำเลยมีว่า โจทก์มิได้นำสืบแสดงให้เห็นว่าโจทก์โฆษณาอย่างไรจึงฟังไม่ได้ว่าเป็นการโฆษณางานตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ข้อนี้โจทก์นำสืบว่า ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรมทำ ณ กรุงเบอร์น เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1886 แก้ไขณ กรุงเบอร์ลิน เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 1908 และสำเร็จบริบูรณ์โดยโปรโตคล เพิ่มเติม ลงนาม ณ กรุงเบอร์น เมื่อวันที่ 20มีนาคม ค.ศ. 1914 ซึ่งประเทศไทยเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาระหว่างประเทศฉบับนี้เมื่อวันที่ 17 กรกฏาคม พ.ศ. 2474 ประเทศแคนาดาเข้าเป็นภาคีเมื่อวันที่ 10 เมษายน ค.ศ. 1928 ตามประกาศกระทรวงการต่างประเทศ ลงวันที่ 31 กรกฏาคม พ.ศ. 2474กรรมสารกรุงเบอร์ลิน ค.ศ. 1908 และรายชื่อประเทศที่เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาเบอร์น ฉบับแก้ไข ณ กรุงเบอร์ลิน ค.ศ. 1908 เอกสารหมายจ.14 และ จ.17 พร้อมคำแปลเอกสารหมาย จ.18 และ จ.19กรรมสารกรุงเบอร์ลิน ค.ศ. 1908 เขียนไว้กว้าง ๆ ในมาตรา 2 ว่า ให้ความคุ้มครองแก่งานวรรณกรรม ศิลปกรรมและงานวิทยาศาสตร์ไม่ว่าจะปรากฏในรูปแบบใด ๆ ซึ่งหมายรวมถึงภาพยนตร์และวีดีโอเทปด้วยประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนสุัญญา มีหน้าที่ตรากฎหมายของตนเพื่อให้ความคุ้ม ครองงานอันมีลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศภาคีแห่งอนุสัญญา เป็นแหล่งกำเนิด ประเทศแคนาดา ได้ตราพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (รวมทั้งให้ความคุ้มครองแก่งานที่มีแหล่งกำเนิด ใน ประเทศ ภาคีของอนุสัญญาเบอร์น)ฉบับแก้ไข ค.ศ. 1952 มาตรา 55 และที่ได้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงจนถึงวันที่ 23 ธันวาคม ค.ศ. 1971 ซึ่งเรียกชื่อย่อว่าพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ อาร์.เอส.ซี.32 เอส.1 ตามเอกสารหมายจ.29 พร้อมคำแปลเอกสารหมาย จ.30 มาตรา 4 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า งานอันมีลิขสิทธิ์หมายถึงงานที่ทำขึ้นโดยคนสัญชาติแคนาดา หรือโดยคน สัญชาติอื่นแต่ได้อาศัยอยู่ในประเทศแคนาดา ในระหว่างที่ทำงานนั้น หรือได้นำงานนั้นไปโฆษณาเป็นครั้งแรกในประเทศแคนาดา และมาตรา 3 อนุมาตรา 2 บัญญัติว่าเพื่อประโยชน์แห่งพระราชบัญญัตินี้ การโฆษณาในความเกี่ยวพันกับงานใด ๆ หมายความถึง การนำสำเนาจำลองแห่งงานนั้นออกจำหน่ายต่อสาธารณชน มาตรา 3 อนุมาตรา 4 บัญญัติว่าเพื่อประโยชน์แห่งพระราชบัญญัตินี้ให้ถือว่างานใดเป็นงานที่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรกในราชอาณาจักรแห่งสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ หรือในต่างประเทศซึ่งพระราชบัญญัตินี้ได้ขยายความคุ้ม ครองไปถึงด้วย ถึงแม้ว่าจะได้มีการโฆษณางานนั้นพร้อมกันในที่อื่น ๆ ด้วยก็ตาม และให้ถือว่าเป็นงานอันได้โฆษณาในสองที่พร้อมกันถ้าหากเวลาระหว่างที่ทำการโฆษณาในที่หนึ่งและในอีกที่หนึ่งห่างกันไม่เกิน 14 วัน หรือไม่ห่างกันเกินกว่าระยะเวลาซึ่งยาวกว่าอันอาจกำหนดไว้ในพระบรมราชโองการนอกจากนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพานิชย์ และการค้าของประเทศแคนาดาได้มีคำแจ้งความซึ่งประกาศโฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษารับรองว่า ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเภทที่ให้หรือยอมจะให้แก่พลเมืองของประเทศแคนาดา ซึ่งลิขสิทธิ์ภายใต้บังคับหลักเกณฑ์ที่เหมือนกันในข้อสาระสำคัญที่ให้แก่พลเมืองของตน งานภาพยนตร์ของคนสัญชาติอเมริกันที่โฆษณาครั้งแรกในประเทศแคนาดา ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ของแคนาดา พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ของแคนาดา ให้ความคุ้มครองแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของประเทศไทย ประเทศสหรัฐอเมริกาไม่ได้เป็นภาคีของอนุสัญญาเบอร์น ภาพยนตร์พิพาทเรื่องเดวิด เจ้าบัลลังก์ฉายครั้งแรกที่ประเทศแคนาดาเมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2528 และเรื่องสตาร์เทร็ค 3 ฉายครั้งแรกที่ประเทศแคนาดา เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม2527 จากที่โจทก์นำสืบมาดังกล่าว เห็นว่า ขณะเกิดเหตุคดีนี้ประเทศสหรัฐอเมริกายังไม่ได้เข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม ทำ ณ กรุงเบอร์นซึ่งประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอยู่แล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 17 กรกฏาคมพ.ศ. 2474 โดยเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาดังกล่าวฉบับที่ทำ ณกรุงเบอร์น เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. 1908 และสำเร็จบริบูรณ์ด้วยโปรโตคล เพิ่มเติมลงนาม ณ กรุงเบอร์น เมื่อวันที่ 20 มีนาคมค.ศ. 1914 แต่พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 ก็มิได้มีบทบัญญัติกีดกันงานอันมีลิขสิทธิ์ของประเทศที่มิได้เข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาเบอร์น เพื่อไม่ให้ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติดังกล่าวแต่อย่างใด ทั้งนี้โดยที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนไขเพื่อคุ้มครองลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศ พ.ศ. 2526 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 159 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ ฯ ได้กำหนดเงื่อนไขการให้ความคุ้มครองแก่งานดังกล่าวไว้ในมาตรา 4 ว่า “งานอันมีลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้ (1)… ในกรณีที่ได้โฆษณาแล้ว การโฆษณาต้องกระทำเป็นครั้งแรกในประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญา…”ซึ่งคำว่า “อนุสัญญา” ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวให้หมายความว่า “อนุสัญญา” ระหว่างประเทศว่าด้วยความคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม ทำ ณ กรุงเบอร์น เมื่อเดือน กันยายนค.ศ. 1886 ซึ่งได้แก้ไข ณ กรุงเบอร์ลิน เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายนค.ศ. 1908 และสำเร็จ บริบูรณ์ ด้วยโปรโตคล เพิ่มเติม ลงนาม ณกรุงเบอร์น เมื่อวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 1914″ ด้วยเหตุนี้งานอันมีลิขสิทธิ์ของประเทศนอกภาคีอนุสัญญาเบอร์น อย่างเช่นงานของประเทศสหรัฐอเมริกาที่พิพาทในคดีนี้ย่อมได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ ฯ หากได้กระทำการโฆษณาเป็นครั้งแรกในประเทศใดประเทศหนึ่งที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาเบอร์น เมื่อปรากฏว่าประเทศแคนาดา เป็นประเทศภาคีประเทศหนึ่งในอนุสัญญาดังกล่าวงานอันมีลิขสิทธิ์ของประเทศสหรัฐอเมริกาจึงอาจได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ ฯ แต่อย่างไรก็ดี งานอันมีลิขสิทธิ์ของประเทศสหรัฐอเมริกาจะได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัตินี้ก็ต่อเมื่อได้มีการโฆษณางานนั้นตามความหมายของเงื่อนไขการได้มา ซึ่งลิขสิทธิ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วย ความหมายของคำว่า “โฆษณา” อันเป็นเงื่อนไขของการได้มาซึ่งลิขสิทธิ์เนื่องด้วยการโฆษณาตามบทมาตรา ดังกล่าวบัญญัติไว้ในวรรคสุดท้ายโดยให้หมายความว่า “…การนำสำเนาจำลองของงานไม่ว่าในรูปหรือลักษณะอย่างใดที่ทำขึ้นโดยความยินยอมของผู้สร้างสรรค์ออกจำหน่ายโดยสำเนาจำลองนั้นมีปรากฏต่อสาธารณชนเป็นจำนวนมากพอสมควรตามสภาพของงานนั้น แต่ทั้งนี้ ไม่หมายความรวมถึงการ…ทำให้ปรากฏซึ่ง…ภาพยนตร์…” ฉะนั้น การทำให้ปรากฏซึ่งภาพยนตร์โดยการนำออกฉายเป็นครั้งแรกในประเทศแคนาดา แม้จะถือเป็นการโฆษณาแต่ก็มิใช่การโฆษณางานในความหมายเพื่อให้ได้มาซึ่งลิขสิทธิ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ ฯ และมาตรา 4 (1) แห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว หากแต่เป็นเพียงการโฆษณาในความหมายของคำว่า “โฆษณา” ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ซึ่งให้หมายความว่า “ทำให้ปรากฏต่อสาธารณชนโดยการแสดง การบรรยาย การสวด การบรรเลง การทำให้ปรากฏด้วยเสียงและหรือภาพ การก่อสร้าง การจำหน่าย หรือโดยวิธีอื่นใดซึ่งงานที่ได้จัดทำขึ้น” ความหมายของคำว่า “โฆษณา” ตามมาตรา 4ดังกล่าวใช้เฉพาะในกรณีที่ต้องการทราบความหมายของการนำออกโฆษณาอันเป็นสิทธิแต่ผู้เดียวประการหนึ่งของเจ้าของลิขสิทธิ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 13 (2) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวและในกรณีที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์โดยการโฆษณาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 24และมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกันเท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบฟังได้จากคำเบิกความของนายเลอศักดิ์ อัศวถาวรวานิชผู้รับมอบอำนาจโจทก์เพียงว่า โจทก์นำภาพยนตร์พิพาททั้งสองเรื่องไปฉายโฆษณาเป็นครั้งแรกในประเทศแคนาดา เท่านั้น หาได้ปรากฏว่าโจทก์ได้นำก๊อปปี้ฟิล์มภาพยนตร์พิพาทอันเป็นสำเนาจำลองออกจำหน่ายโดยให้ก๊อปปี้ฟิลม์ ภาพยนตร์นั้นมีปรากฏต่อสาธารณชนเป็นจำนวนมากพอสมควรแต่อย่างใดไม่ งานภาพยนตร์ของโจทก์จึงไม่อาจได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ใด ๆ ได้ไม่จำต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในข้อต่อไปว่างานภาพยนตร์ซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์อยู่นั้นเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา14 ของกรรมสารกรุงเบอร์ลิน ค.ศ. 1908 หรือไม่
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share