แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อจำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวซึ่งมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไป หรือมีจำนวนตั้งแต่สิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไปไว้ในครอบครอง ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะกระทำความผิด ให้ถือว่าจำเลยทั้งสองมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ มี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในวรรคสามของมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “การผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามปริมาณ ดังต่อไปนี้ ให้สันนิษฐานว่าเป็นการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย …
(2) แอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีน มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไป หรือมียาเสพติดที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่จำนวนสิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไปหรือมีน้ำหนักสุทธิตั้งแต่หนึ่งจุดห้ากรัมขึ้นไป …
และ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “บทบัญญัติมาตรา 15 วรรคสาม มาตรา 17 วรรคสอง และมาตรา 26 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ไม่ให้ใช้บังคับแก่คดีที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และให้นำกฎหมายซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ บังคับแก่คดีดังกล่าวต่อไปจนกว่าคดีถึงที่สุด” ซึ่งหมายความว่ามิให้นำ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 อันเป็นกฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดมาใช้บังคับแก่คดีนี้ เนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 ใช้บังคับ (ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2560 เป็นต้นไป) อย่างไรก็ตามเนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 6 – 7/2561 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2561 ว่า พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง ในส่วนที่ห้ามมิให้นำมาตรา 15 วรรคสาม มาตรา 17 วรรคสอง และมาตรา 26 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 มาใช้บังคับแก่คดีที่ยังไม่ถึงที่สุด เป็นบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และมาตรา 29 วรรคสอง ตามประกาศสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เรื่อง ผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งลงโฆษณาในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอนที่ 104 ก ลงวันที่ 6 ธันวาคม 2561 ดังนั้น เมื่อคดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ศาลฎีกาจึงมีอำนาจนำ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 มาตรา 3 อันเป็นกฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดมาใช้บังคับแก่คดีนี้ได้ตาม ป.อ. มาตรา 3 จึงสันนิษฐานว่าจำเลยทั้งสองมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย อันมิใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 57, 66, 91, 100/1, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีน ส่วนข้อหาอื่นให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 จำคุกคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 10,000 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 3 เดือน และปรับคนละ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด 2 ปี (ที่ถูก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 (ที่แก้ไขใหม่)) หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุกคนละ 6 ปี และปรับคนละ 400,000 บาท คำให้การในชั้นจับกุม ชั้นสอบสวน และชั้นพิจารณาของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 4 ปี และปรับคนละ 266,666.66 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 หากต้องกักขังแทนค่าปรับให้กักขังไม่เกิน 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงอันเป็นยุติในชั้นนี้โดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาโต้แย้งกันฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองเป็นพี่น้องกันและได้มาเช่าบ้านที่เกิดเหตุเป็นที่พักอาศัย ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุดังฟ้อง พันตำรวจโทจรัล ในฐานะเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.2519 และเจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจค้นบ้านที่เกิดเหตุ โดยจับกุมนายธนกรหรือปอนด์ จำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ย.48/2558 ของศาลชั้นต้น และจำเลยทั้งสอง พร้อมยึดได้เมทแอมเฟตามีนชนิดเม็ด 19 เม็ด และชนิดเกล็ดสีขาว 3 ซอง ภายในบ้านที่เกิดเหตุเป็นของกลาง พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรเมืองภูเก็ต ส่งเมทแอมเฟตามีนของกลางไปตรวจพิสูจน์ ปรากฏว่าเป็นเมทแอมเฟตามีนไฮโดรคลอไรด์อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ทั้งหมด 2.49 กรัม จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องโจทก์ ซึ่งคดีส่วนนี้ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาตตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า หากจำเลยทั้งสองไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองจริง ในชั้นสอบสวนจำเลยทั้งสองก็ควรที่จะให้การต่อพนักงานสอบสวนในรายละเอียดเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจเสียในโอกาสแรก มิใช่ให้การปฏิเสธลอย ๆ โดยจำเลยทั้งสองจะขอไปให้การชั้นศาล การที่จำเลยทั้งสองเบิกความในชั้นพิจารณาดังกล่าว จึงเป็นเพียงการนำสืบแก้ตัวที่ง่ายต่อการกล่าวอ้าง ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจตรวจพบเมทแอมเฟตามีนและอุปกรณ์ในการเสพเมทแอมเฟตามีนอยู่ภายในบ้านที่เกิดเหตุซึ่งจำเลยทั้งสองเป็นผู้ครอบครอง ไม่ว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางจะซุกซ่อนไว้หรือวางไว้โดยเปิดเผยภายในบ้านที่เกิดเหตุอันเป็นที่อยู่อาศัยของจำเลยทั้งสอง ยากที่จะรับฟังให้เห็นเป็นอย่างอื่นได้ นอกเสียจากว่าจำเลยทั้งสองรู้เห็นเป็นใจในการร่วมกันครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลางด้วยอย่างปราศจากข้อสงสัย ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า นายธนกรเพียงผู้เดียวที่เป็นผู้ครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลาง โดยจำเลยทั้งสองไม่ได้ร่วมกับนายธนกรครอบครองด้วยนั้น ฟังไม่ขึ้น ปรากฏว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางชนิดเม็ดมีจำนวน 19 เม็ด คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 0.405 กรัม และชนิดเกล็ดสีขาว คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 2.085 กรัม รวมคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ทั้งสิ้น 2.49 กรัม จำเลยทั้งสองจึงร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวซึ่งมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไป หรือมีจำนวนตั้งแต่สิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไปไว้ในครอบครอง โดยที่พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะกระทำความผิด ให้ถือว่าจำเลยทั้งสองมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในวรรคสามของมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“การผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามปริมาณ ดังต่อไปนี้ ให้สันนิษฐานว่าเป็นการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
(1) เด็กซ์โตรไลเซอร์ไยด์ หรือ แอล เอส ดี มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่ศูนย์จุดเจ็ดห้ามิลลิกรัมขึ้นไป หรือมียาเสพติดที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่จำนวนสิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไปหรือมีน้ำหนักสุทธิตั้งแต่สามร้อยมิลลิกรัมขึ้นไป
(2) แอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีน มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไป หรือมียาเสพติดที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่จำนวนสิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไปหรือมีน้ำหนักสุทธิตั้งแต่หนึ่งจุดห้ากรัมขึ้นไป
(3) ยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 นอกจาก (1) และ (2) มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามกรัมขึ้นไป”
และพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “บทบัญญัติมาตรา 15 วรรคสาม มาตรา 17 วรรคสอง และมาตรา 26 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้ ไม่ให้ใช้บังคับแก่คดีที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และให้นำกฎหมายซึ่งใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ บังคับแก่คดีดังกล่าวต่อไปจนกว่าคดีถึงที่สุด” ซึ่งหมายความว่ามิให้นำพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 อันเป็นกฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดมาใช้บังคับแก่คดีนี้ เนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 ใช้บังคับ (ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2560 เป็นต้นไป) อย่างไรก็ตามเนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 6 – 7/2561 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2561 ว่า พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง ในส่วนที่ห้ามมิให้นำมาตรา 15 วรรคสาม มาตรา 17 วรรคสอง มาตรา 20 วรรคสอง และมาตรา 26 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 มาใช้บังคับแก่คดีที่ยังไม่ถึงที่สุด เป็นบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และมาตรา 29 วรรคสอง ตามประกาศสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เรื่อง ผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งลงโฆษณาในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอนที่ 104 ก ลงวันที่ 6 ธันวาคม 2561 ดังนั้น เมื่อคดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ศาลฎีกาจึงมีอำนาจนำพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 มาตรา 3 อันเป็นกฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดมาใช้บังคับแก่คดีนี้ได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 จึงสันนิษฐานว่าจำเลยทั้งสองมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย อันมิใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาด ปรากฏว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางมีจำนวนไม่มากนัก ซึ่งโจทก์มีเพียงร้อยตำรวจโทธีรชัยและดาบตำรวจเจริญพร ผู้จับกุมเบิกความว่า ก่อนตรวจค้นบ้านที่เกิดเหตุ มีสายลับมาแจ้งว่านายนายธนกรและจำเลยทั้งสองมีพฤติการณ์ร่วมกันจำหน่ายยาเสพติดให้โทษ แต่โจทก์ก็ไม่ได้นำสายลับผู้นี้มาเบิกความเป็นพยานยืนยันว่าจำเลยทั้งสองได้จำหน่ายยาเสพติดให้โทษให้แก่ผู้ใด เมื่อใด คำเบิกความของพยานโจทก์ส่วนนี้จึงเป็นเพียงพยานบอกเล่าที่ต้องห้ามมิให้ศาลรับฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 จำเลยทั้งสองก็นำสืบว่า นายธนกรเป็นผู้นำเมทแอมเฟตามีนมาให้จำเลยทั้งสองเสพที่บ้านที่เกิดเหตุ โดยจำเลยทั้งสองไม่รู้เห็นกับการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลางด้วย ชั้นจับกุมนายธนกรได้เขียนบันทึกข้อความไว้ว่า นายธนกรเป็นผู้นำเมทแอมเฟตามีนของกลางมาที่บ้านที่เกิดเหตุซึ่งจำเลยทั้งสองเช่าพักอาศัยอยู่ และถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม โดยไม่ได้ซัดทอดว่าจำเลยทั้งสองมีพฤติการณ์ในการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนด้วย พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองจึงรับฟังหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวได้ว่า จำเลยทั้งสองได้รับมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางมาจากนายธนกร และร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อเสพ มิได้มีไว้เพื่อจำหน่าย ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามที่พิจารณาได้ความนี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 โดยใช้พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 67 ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 มาตรา 7 อันเป็นกฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด เป็นบทลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง มาตรา 67 (ที่แก้ไขใหม่) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกคนละ 3 ปี ทางนำสืบของจำเลยทั้งสอง เป็นการให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์