คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8923/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การใช้อำนาจประเมินภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 71 (1) กฎหมายบัญญัติให้เป็นดุลพินิจของเจ้าพนักงานประเมิน ดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติในมาตรา 71 วรรคสอง ว่า ในกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีตามมาตรา 71 เจ้าพนักงานประเมินจะใช้ดุลพินิจประเมินให้เสียภาษีตามบทบัญญัติในมาตราอื่นก็ได้ ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยใช้อำนาจตามมาตรา 71 (1) ประเมินภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ จึงเป็นการปฏิบัติไปตามมาตรา 71 (1) การกระทำของจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมาย
ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 27 วรรคหนึ่งระบุว่า บุคคลใดไม่เสียหรือนำส่งภาษีภายในกำหนดเวลาตามที่บัญญัติไว้ในหมวดต่าง ๆ แห่งลักษณะนี้เกี่ยวกับภาษีอากรประเมินให้เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่งโดยไม่รวมเบี้ยปรับ และในวรรคสามบัญญัติว่า การคำนวณเงินเพิ่มให้เริ่มนับเมื่อพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการหรือนำส่งภาษีจนถึงวันชำระหรือนำส่งภาษี ส่วนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 69 บัญญัติว่า บุคคลมีหน้าที่เสียภาษีอากรตามที่กฎหมายบัญญัติ ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานของจำเลยคิดเงินเพิ่มจากโจทก์นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการ จึงเป็นการปฏิบัติถูกต้องตามประมวลรัษฎากรและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการประเมินภาษีตามหนังสือแจ้งการประเมินที่ ๙๙๒๐๐๑๐/๒/๑๐๐๑๙๐ ลงวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๔๐ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ ตง. /๒/๒๕๔๒ ลงวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๔๒
จำเลยให้การว่า โจทก์มิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลของรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๓๕ ถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๓๕ เจ้าพนักงานของจำเลยจึงออกหมายเรียก ต่อมาระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมีนาคม ๒๕๔๐ โจทก์ถึงได้นำส่งเอกสารดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานของจำเลย การที่โจทก์ไม่ยื่นแบบแสดงรายการภายในหนึ่งร้อยห้าสิบวันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีตามมาตรา ๖๙ เจ้าพนักงานของจำเลยจึงอาศัยอำนาจตามมาตรา ๗๑ (๑) และคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป. ๕/๒๕๒๗ ประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราร้อยละ ๕ จากยอดรายรับของโจทก์ ทำให้โจทก์มีหน้าที่เสียภาษีจำนวน ๓๗๔,๖๙๓.๒๐ บาท เงินเพิ่มคำนวณถึงวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๔๐ จำนวน ๒๘๖,๖๔๐.๓๐ บาท การประเมินของเจ้าพนักงานของจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมาย สำหรับการเรียกเก็บเงินเพิ่มนั้น ตามมาตรา ๒๗ วรรคสาม กำหนดให้การคำนวณเงินเพิ่มให้เริ่มนับเมื่อพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการหรือนำส่งภาษีจนถึงวันชำระหรือนำส่งภาษี ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานของจำเลยคำนวณเงินเพิ่มตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว จึงเป็นการคำนวณเงินเพิ่มโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความให้ ๓,๐๐๐ บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรพิจารณาแล้ว มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกว่า เจ้าพนักงานประเมินใช้อำนาจตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๗๑ (๑) ประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี ๒๕๓๕ แก่โจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์ส่งมอบบัญชีและเอกสารให้เจ้าพนักงานของจำเลยทำการตรวจสอบแล้วและโจทก์มีผลประกอบการขาดทุนสุทธิ เจ้าพนักงานของจำเลยไม่ควรประเมินภาษีโจทก์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๗๑ (๑) การประเมินภาษีตามมาตรา ๗๑ (๑) ต้องเป็นกรณีที่มีภาษีที่จะต้องเสียจึงจะเลือกประเมินตามวิธีที่มากกว่าได้ เมื่อโจทก์มีผลประกอบการขาดทุนสุทธิจึงไม่มีภาษีต้องเสียนั้น เห็นว่า การใช้อำนาจประเมินภาษีตามมาตรา ๗๑ (๑) กฎหมายบัญญัติให้เป็นดุลพินิจของเจ้าพนักงานประเมิน ดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติในมาตรา ๗๑ วรรคสอง ว่า ในกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีตามมาตรา ๗๑ เจ้าพนักงานประเมินจะใช้ดุลพินิจประเมินให้เสียภาษีตามบทบัญญัติในมาตราอื่นก็ได้ ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยใช้อำนาจตามมาตรา ๗๑ (๑) ประเมินภาษีในอัตราร้อยละ ๕ ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใด ๆ จึงเป็นการปฏิบัติไปตามมาตรา ๗๑ (๑) การกระทำของจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์เกี่ยวกับการคิดเงินเพิ่มซึ่งโจทก์อุทธรณ์ว่า หนี้จากการประเมินภาษีในอัตราร้อยละ ๕ ของจำนวนเงิน ๓๗๔,๖๙๓.๒๐ บาท เกิดขึ้นเมื่อมีการประเมินตามมาตรา ๗๑ (๑) ตราบใดที่ยังไม่มีการประเมิน หนี้จำนวนดังกล่าวก็ยังไม่เกิด จึงคิดเงินเพิ่มตั้งแต่วันครบกำหนดยื่นรายการไม่ได้ การนำมาตรา ๒๗ วรรคสาม มาบังคับแก่โจทก์จึงเป็นการใช้กฎหมายที่เป็นโทษแก่ผู้เสียภาษีอันเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๖๙ นั้น เห็นว่า ตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๒๗ วรรคหนึ่ง ระบุว่าบุคคลใดไม่เสียหรือนำส่งภาษีภายในกำหนดเวลาตามที่บัญญัติไว้ในหมวดต่าง ๆ แห่งลักษณะนี้เกี่ยวกับภาษีอากรประเมินให้เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ ๑.๕ ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่งโดยไม่รวมเบี้ยปรับ และในวรรคสามบัญญัติว่า การคำนวณเงินเพิ่มให้เริ่มนับเมื่อพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการหรือนำส่งภาษีจนถึงวันชำระหรือนำส่งภาษี ส่วนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๖๙ บัญญัติว่า บุคคลมีหน้าที่เสียภาษีอากรตามที่กฎหมายบัญญัติ ตามบทบัญญัติของมาตรา ๒๗ วรรคสาม ดังกล่าวระบุให้คำนวณเงินเพิ่มโดยเริ่มนับเมื่อพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการ การที่เจ้าพนักงานของจำเลยคิดเงินเพิ่มจากโจทก์นับแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการจึงเป็นการปฏิบัติถูกต้องตามประมวลรัษฎากรและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มาตรา ๖๙ แล้ว ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาชอบแล้ว
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.

Share