คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8906/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างว่า ช. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 72398 ตำบลพระโขนง อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งบ้านเลขที่ 110/1 ซึ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าว ต่อมา ช. รื้อบ้านหลังดังกล่าวและปลูกสร้างเป็นอาคาร 2 หลัง แทนหลังเดิมและขอเลขที่บ้านเป็น 3 หลัง ให้ ส. ภริยาและบุตร 4 คน พักอาศัยอยู่ร่วมกันในที่ดินแปลงเดิม แบ่งเป็นบ้านเลขที่ 110/1 ให้ ส. ป. และ ก. พักอาศัย บ้านเลขที่ 110/4 ให้โจทก์ที่ 2 พักอาศัยและบ้านเลขที่ 110/5 ให้ ณ. พักอาศัย แสดงให้เห็นเจตนาและความประสงค์ให้บุตรและภริยาได้พักอาศัยเป็นสัดส่วน ช. โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่ ป. และ ก. โดยเสน่หา แต่โจทก์ที่ 2 ยังคงพักอาศัยในบ้านและที่ดินดังกล่าวมาโดยตลอดไม่ได้ปล่อยให้ ป. และ ก. ครอบครองเพียงฝ่ายเดียว เมื่อโจทก์ที่ 2 แต่งงานกับโจทก์ที่ 1 แล้วย้ายไปพักอาศัยที่อื่น ก็นำบ้านหลังดังกล่าวให้บุคคลภายนอกเช่าโดยไม่มีบุคคลใดโต้แย้งกรรมสิทธิ์ ถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของและครอบครองบ้านเลขที่ 110/4 เมื่อโจทก์ทั้งสองอ้างว่า ได้รับความเสียหายจากการกระทำละเมิดของจำเลยทั้งหกและจำเลยร่วมอันเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ทั้งสองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้อง
ส่วนการยื่นคำร้องขอให้ศาลหมายเรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) ต้องแสดงเหตุว่าตนอาจฟ้องหรือถูกคู่ความเช่นนั้นฟ้องตนได้เพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทน โดยต้องยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องหรือคำให้การ ถ้ายื่นภายหลังนั้นต้องแสดงเหตุให้เป็นที่พอใจของศาลว่าไม่สามารถยื่นคำร้องได้ก่อนนั้นได้แต่ต้องยื่นก่อนมีคำพิพากษา การที่จำเลยที่ 6 ไม่สามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีพร้อมกับคำให้การได้โดยจำเลยที่ 6 แสดงเหตุอันสมควรที่จำเลยที่ 6 ไม่สามารถยื่นคำร้องได้เนื่องจากจำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้รับประกันขอตรวจสอบความเสียหายและเจรจากับโจทก์ทั้งสองก่อน จนกระทั่งจำเลยร่วมปฏิเสธไม่รับผิด จำเลยที่ 6 จึงยื่นคำร้องขอหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีภายหลังจากที่จำเลยที่ 6 ยื่นคำให้การแล้ว แต่เป็นระยะเวลาก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา และศาลชั้นต้นอนุญาตให้หมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดี คำร้องขอหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีของจำเลยที่ 6 จึงชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3)

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันขนย้ายดินออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 16904 ตำบลพระโขนง อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร จนมีความสูงของพื้นดินระดับเดียวกับพื้นบ้านของโจทก์ทั้งสองตลอดทั้งแปลงหรือลดต่ำจากปัจจุบัน 2.30 เมตร ให้จำเลยทั้งหกร่วมกันใช้ค่าเสียหาย 70,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสองและให้จำเลยทั้งหกร่วมกันใช้ค่ารักษาพยาบาลแก่โจทก์ที่ 2 เดือนละ 20,000 บาท ค่ายาปีละ 400,000 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งหกจะซ่อมแซมบ้านให้แก่โจทก์ทั้งสองหรือใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสองแล้วเสร็จ
จำเลยทั้งหกให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 6 ยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทมิตซุย สุมิโตโม อินชัวรันซ์ จำกัด ผู้รับประกันภัยการก่อสร้างเข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 6 กับจำเลยร่วม ร่วมกันชำระเงิน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 11 เมษายน 2550) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยที่ 6 กับจำเลยร่วม ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยที่ 6 กับจำเลยร่วม ร่วมกันใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสองชนะคดี ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองและจำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 6 และจำเลยร่วมด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยทั้งหกและจำเลยร่วมทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า โจทก์ทั้งสองแต่งงานอยู่กินกันตามประเพณีตั้งแต่ปี 2537 จนถึงปัจจุบัน โจทก์ที่ 2 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายชาตรี กับนางสุปราณี มีพี่น้องรวม 4 คน ประกอบด้วย โจทก์ที่ 2 นายประชิตพล นางกุนทรี และนางสาวณัฏฐินี เมื่อนายชาตรีถึงแก่ความตายโจทก์ที่ 2 และนางสาวณัฏฐินีเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาล บ้านเลขที่ 110/4 ซอยสุขุมวิท 38 แขวงพระโขนง เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร นายชาตรีบิดาของโจทก์ที่ 2 เป็นผู้ขออนุญาตปลูกสร้างบนที่ดินโฉนดเลขที่ 72398 อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีนายประชิตพลกับนางกุนทรีเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวม โดยได้รับการยกให้โดยเสน่หาจากนายชาตรีเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2529 โจทก์ที่ 2 มีชื่อเป็นเจ้าบ้านของบ้านเลขที่ 110/4 ส่วนนายชาตรีมีชื่อเป็นผู้อาศัย บนที่ดินโฉนดเลขที่ 72398 นอกจากมีบ้านเลขที่ 110/4 ปลูกอยู่แล้ว ยังมีบ้านเลขที่ 110/1 และ 110/5 ปลูกอยู่ในรั้วเดียวกัน โดยบ้านเลขที่ 110/4 กับ 110/5 เป็นบ้านแฝด จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 11700 อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 16904 อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร ที่ดินของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ดังกล่าวติดกับที่ดินของโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 1 ประสงค์ที่จะจัดสวนในที่ดินของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้เป็นบริเวณเดียวกัน จำเลยที่ 1 ว่าจ้างจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ออกแบบการจัดสวนและสิ่งปลูกสร้าง โดยจำเลยที่ 3 ออกแบบสถาปัตยกรรมของบ่อเลี้ยงปลา ศาลาอเนกประสงค์ และป้อมยาม จำเลยที่ 4 ออกแบบโครงสร้างของสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดและระบบกำแพงกันดิน จำเลยที่ 5 ออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม จากนั้นจำเลยที่ 1 ว่าจ้างจำเลยที่ 6 ดำเนินการก่อสร้างตามแบบแปลนของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ก่อนดำเนินการก่อสร้างจำเลยที่ 6 ส่งตัวแทนเข้าไปตรวจสอบสภาพพื้นที่รวมทั้งบ้านของโจทก์ทั้งสองโดยถ่ายภาพไว้ จากนั้นได้ดำเนินการก่อสร้างโดยการปรับพื้นที่ที่จะใช้ก่อสร้าง จัดทำกำแพงกันดินเพื่อป้องกันการเลื่อนไถลหรือการเคลื่อนตัวของดินในชั้นใต้ดิน โดยกำแพงกันดินที่กำหนดขึ้นตามแบบของจำเลยที่ 4 เป็นกำแพงฐานรากยื่นหรือระบบกำแพงกันดินฐานรากตีนเป็ด การถมดินในช่วงแรกระดับความสูงจากพื้นประมาณ 1 เมตร หลังจากถมดินดังกล่าวเสร็จโจทก์ที่ 1 แจ้งแก่จำเลยที่ 6 ว่าบริเวณช่องว่างระหว่างกำแพงผนังห้องครัว รั้วของโจทก์ทั้งสอง รั้วของจำเลยที่ 1 และกำแพงกันดินมีน้ำซึมเข้ามา จำเลยที่ 6 ก่ออิฐปิดบริเวณดังกล่าวเพื่อป้องกันน้ำไม่ให้ซึมเข้ามา หลังจากนั้นมีการแก้ไขอีกครั้งโดยการรื้ออิฐดังกล่าวออกและใช้แผ่นสังกะสีครอบไว้แทน ต่อมามีการถมดินเพิ่มเติมจากช่วงแรกจนมีระดับความสูงจากพื้นดินประมาณ 2.30 เมตร โจทก์ที่ 1 แจ้งว่ามีรอยแตกร้าวบริเวณห้องครัวของโจทก์ทั้งสอง โจทก์ที่ 1 กับฝ่ายจำเลยจึงประชุมโดยมีข้อตกลงให้บริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด เข้ามาสำรวจความเสียหาย บริษัทดังกล่าวสำรวจความเสียหายแล้วทำรายงานผลว่า การแตกร้าวบริเวณห้องครัวของโจทก์ทั้งสองมีสาเหตุมาจากการถมดินบริเวณที่ดินของจำเลยที่ 2 เกิดการเลื่อนไถลของดินอ่อนในชั้นใต้ดินเข้ามาดันดินชั้นใต้ดินฝั่งของบ้านโจทก์ทั้งสอง
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามคำแก้ฎีกาของจำเลยร่วมมีว่า คำร้องขอให้หมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นคู่ความในคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) ของจำเลยที่ 6 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยร่วมยื่นคำแก้ฎีกาว่า จำเลยที่ 6 รู้อยู่แล้วว่าได้ทำสัญญาประกันภัยความรับผิดของตนไว้กับจำเลยร่วม จำเลยที่ 6 ย่อมมีหน้าที่ยื่นคำร้องขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นคู่ความในคดีพร้อมกับการยื่นคำให้การตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) เมื่อปรากฏว่า จำเลยที่ 6 ยื่นคำให้การต่อสู้คดีตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2550 แต่จำเลยที่ 6 เพิ่งยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดี เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2550 และจำเลยร่วมได้รับหมายเรียกโดยวิธีปิดหมายเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2551 ซึ่งคดีมีการสืบพยานชั้นไต่สวนคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวจนเสร็จสิ้นแล้ว การที่จำเลยที่ 6 กล่าวอ้างในคำร้องว่าเหตุที่ไม่อาจยื่นคำร้องก่อนหน้านั้นได้เพราะบริษัทล็อคตั้น วัฒนา อินชัวร์รันส์ โบรคเกอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และจำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยขอตรวจสอบความเสียหายและเจรจากับโจทก์ทั้งสองก่อนจึงไม่ใช่ข้ออ้างอันมีเหตุสมควรตามกฎหมาย ปัญหานี้จำเลยร่วมได้ยื่นอุทธรณ์ไว้ แต่ศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัยเพราะเห็นว่าโจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้อง เมื่อโจทก์ทั้งสองยื่นฎีกาจำเลยร่วมได้กล่าวไว้ในคำแก้ฎีกาถึงประเด็นข้อนี้ด้วย คดีจึงมีประเด็นตามคำแก้ฎีกาของจำเลยร่วม เห็นว่า การยื่นคำร้องขอให้ศาลหมายเรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) ต้องแสดงเหตุว่าตนอาจฟ้องหรือถูกคู่ความเช่นนั้นฟ้องตนได้เพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทน โดยต้องยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องหรือคำให้การ ถ้ายื่นภายหลังจากนั้นต้องแสดงเหตุให้เป็นที่พอใจของศาลว่า ไม่สามารถยื่นคำร้องได้ก่อนนั้นได้แต่ต้องยื่นก่อนมีคำพิพากษา การที่จำเลยที่ 6 ยื่นคำร้องขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีโดยอ้างเหตุว่า จำเลยที่ 6 ทำสัญญาประกันภัยความเสียหายไว้กับบริษัทล็อคตั้น วัฒนา อินชัวร์รันส์ โบรคเกอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะนายหน้าประกันภัยและจำเลยร่วมในฐานะผู้รับประกันภัย โดยเป็นผู้รับประกันความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการก่อสร้างของจำเลยที่ 6 ซึ่งหากศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 6 ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 6 ย่อมมีสิทธิและอำนาจฟ้องร้องจำเลยร่วมและบริษัทดังกล่าวเพื่อรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในวงเงินตามกรมธรรม์ประกันภัย อันเป็นการใช้สิทธิฟ้องร้องเพื่อไล่เบี้ยตามกฎหมาย ตามคำร้องของจำเลยที่ 6 ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 6 ในฐานะผู้เอาประกันภัยมีสิทธิฟ้องบังคับจำเลยร่วมในฐานะผู้รับประกันภัยให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหากจำเลยที่ 6 ต้องชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองได้ ทั้งตามคำร้องของจำเลยที่ 6 ดังกล่าวยังแสดงเหตุอันสมควรที่จำเลยที่ 6 ไม่สามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีพร้อมกับคำให้การได้เนื่องจากบริษัทล็อคตั้น วัฒนา อินชัวร์รันส์ โบรคเกอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด และจำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยขอตรวจสอบความเสียหายและเจรจากับโจทก์ทั้งสองก่อน จนกระทั่งจำเลยร่วมและบริษัทดังกล่าวข้างต้นปฏิเสธไม่ยอมรับผิดชดใช้ความเสียหายตามสัญญาประกันภัย จำเลยที่ 6 จึงจำต้องยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีภายหลังจากที่จำเลยที่ 6 ยื่นคำให้การแล้ว แต่เป็นระยะเวลาก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา และศาลชั้นต้นอนุญาตให้หมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดี คำร้องขอให้หมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีของจำเลยที่ 6 จึงชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) คำแก้ฎีกาของจำเลยร่วมข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองต่อไปว่า โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์ทั้งสองฎีกาว่า โจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของบ้านเลขที่ 110/4 ซอยสุขุมวิท 38 แขวงพระโขนง เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 72398 ตำบลพระโขนง อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร เมื่อจำเลยทั้งหกและจำเลยร่วมกระทำละเมิดเป็นเหตุให้บ้านเลขที่ 110/4 และทรัพย์สินได้รับความเสียหายแล้ว โจทก์ทั้งสองจึงถูกโต้แย้งสิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 นั้น ในข้อนี้ โจทก์ทั้งสองมีโจทก์ทั้งสองและนายประชิตพล น้องของโจทก์ที่ 2 เบิกความทำนองเดียวกันว่า เดิมโจทก์ที่ 2 พักอาศัยที่บ้านเลขที่ 110/4 ต่อมาปี 2537 แต่งงานโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับโจทก์ที่ 1 แล้วไปพักอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 18/89 และนำบ้านเลขที่ 110/4 ออกให้บุคคลภายนอกเช่า ส่วนบ้านเลขที่ 110/5 และบ้านเลขที่ 110/1 ปลูกในที่ดินแปลงเดียวกัน เดิมมีบ้านเลขที่ 110/1 เพียงหลังเดียวแต่เนื่องจากนายชาตรี มีบุตร 4 คน จึงปลูกบ้านแบ่งเป็น 3 หลัง โดยรื้อบ้านหลังเดิมเลขที่ 110/1 แล้วปลูกสร้างเป็น 2 อาคาร บ้านเลขที่ 110/1 ให้นายประชิตพลและนางกุนทรี พักอาศัย บ้านเลขที่ 110/4 ให้โจทก์ที่ 2 พักอาศัย ส่วนบ้านเลขที่ 110/5 ให้นางสาวณัฏฐินี พักอาศัย ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างนายชาตรีโอนเงินให้โจทก์ที่ 2 ดำเนินการทั้งสิ้นประมาณ 40 ล้านบาท โจทก์ที่ 1 เป็นผู้เก็บรักษาใบอนุญาตและแบบแปลนการก่อสร้าง และขอเลขบ้านโดยมีนางสุปราณี มารดาโจทก์ 2 เป็นเจ้าบ้านเนื่องจากขณะนั้นนายประชิตพลกับนางกุนทรียังไม่บรรลุนิติภาวะ ก่อนก่อสร้างบ้านบิดาและมารดาได้จดทะเบียนหย่าแต่ยังอุปการะเลี้ยงดูมาตลอด ระหว่างมีชีวิตนายชาตรีใส่ชื่อบุตรเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แต่ถือว่าทุกคนเป็นเจ้าของด้วยกัน ในปี 2551 ได้จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ที่ 2 และนางสาวณัฏฐินีในโฉนดเลขที่ 72398 เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายลดค่าธรรมเนียมโดยชำระค่าธรรมเนียมคนละ 250,000บาท ส่วนจำเลยทั้งหกและจำเลยร่วมนำสืบทำนองเดียวกันว่า โจทก์ทั้งสองไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านเลขที่ 110/4 เนื่องจากนายชาตรีบิดาของโจทก์ที่ 2 เป็นผู้ขออนุญาตปลูกสร้างและปลูกบ้านเลขที่ 110/4 โดยปลูกบนที่ดินโฉนดเลขที่ 72398 อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของนายประชิตพลกับนางกุนทรี และจำเลยที่ 6 มีนายมนูญ นักวิชาการที่ดินชำนาญการเบิกความว่า ถือว่าโจทก์ที่ 2 และนางสาวณัฏฐินีได้กรรมสิทธิ์ทางทะเบียนในวันที่ 25 ธันวาคม 2551 และเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 5 ว่า ก่อนทำบันทึกบ้านเลขที่ 110/1 บ้านเลขที่ 110/4 บ้านเลขที่ 110/5 และที่ดินโฉนดเลขที่ 72398 อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีนายประชิตพลกับนางกุนทรีเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวม ขณะทำบันทึกกรรมสิทธิ์รวมทางราชการได้ประกาศลดค่าธรรมเนียมจากอัตราเดิมร้อยละ 2 เหลืออัตราร้อยละ 0.1 เห็นว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 72398 อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร เป็นกรรมสิทธิ์ของนายชาตรีและมีบ้านเลขที่ 110/1 ซอยสุขุมวิท 38 แขวงพระโขนง เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร ปลูกอยู่เพียงหลังเดียว ต่อมานายชาตรีมีบุตร 4 คน รวมทั้งโจทก์ที่ 2 ด้วยจึงรื้อบ้านหลังเดิมเลขที่ 110/1 แล้วขออนุญาตปลูกอาคารเป็น 2 หลัง ในที่ดินแปลงเดิมแบ่งเป็นบ้านเลขที่ 110/1 ให้นายประชิตพลและนางสาวกุนทรีพักอาศัย บ้านเลขที่ 110/4 ให้โจทก์ที่ 2 พักอาศัย ส่วนบ้านเลขที่ 110/5 ให้นางสาวณัฏฐินีพักอาศัย ขณะปลูกสร้างบ้านนั้นนายชาตรีกับนางสุปราณีจดทะเบียนหย่า แต่ยังคงอุปการะเลี้ยงดูบุตรและภริยาโดยโอนเงินให้โจทก์ที่ 2 ดำเนินการปลูกสร้างบ้านดังกล่าวจนแล้วเสร็จเพื่อเป็นที่พักอาศัยของบุตรทั้งสี่คนและภริยา โดยบ้านเลขที่ 110/1 มีนางสุปราณีเป็นเจ้าบ้านเนื่องจากขณะนั้นนายประชิตพลกับนางสาวกุนทรียังไม่บรรลุนิติภาวะ แสดงให้เห็นเจตนาและความประสงค์ว่าขณะที่นายชาตรียังมีชีวิตได้รื้อบ้านหลังเดิมและปลูกสร้างบ้านใหม่เป็น 2 หลัง แล้วขอเลขบ้านเป็น 3 หลัง ซึ่งปลูกลงในที่ดินแปลงเดิมก็เพื่อให้บุตรทั้ง 4 คน และภริยาได้พักอาศัยเป็นสัดส่วน แม้ที่ดินโฉนดเลขที่ 72398 ที่ใช้ปลูกบ้านนายชาตรีจะโอนกรรมสิทธิ์ยกให้โดยเสน่หาแก่นายประชิตพลกับนางกุนทรีเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมขณะเป็นผู้เยาว์ แต่โจทก์ที่ 2 นายประชิตพล นางกุนทรี นางสาวณัฏฐินี และนางสุปราณียังคงพักอาศัยในบ้านและที่ดินดังกล่าวมาโดยตลอด ไม่ได้ปล่อยให้นายประชิตพลกับนางกุนทรีครอบครองเพียงฝ่ายเดียว แม้ช่วงที่โจทก์ที่ 2 แต่งงานกับโจทก์ที่ 1 แล้วไปพักอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 18/89 ซอยสุขุมวิท 39 ส่วนบ้านเลขที่ 110/4 โจทก์ที่ 2 ให้บุคคลภายนอกเช่า และบ้านเลขที่ 110/5 ขณะที่นางสาวณัฏฐินีไปศึกษาต่อต่างประเทศก็ให้บุคคลภายนอกเช่า ประกอบกับโจทก์ที่ 2 นายประชิตพล นางกุนทรี นางสาวณัฏฐินี และนางสุปราณีไม่เคยโต้แย้งกรรมสิทธิ์เกี่ยวกับบ้านพักและที่ดินดังกล่าว กับทั้งยินยอมให้โจทก์ที่ 2 และนางสาวณัฏฐินีมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 72398 เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2551 ก็เพราะเพื่อให้เป็นไปตามความประสงค์ที่แท้จริงของนายชาตรี และขณะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รัฐบาลมีนโยบายลดค่าธรรมเนียม ซึ่งสอดรับกับคำเบิกความของนายมนูญ พยานจำเลยที่ 6 จึงเชื่อว่าโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของและครอบครองบ้านเลขที่ 110/4 ซอยสุขุมวิท 38 แขวงพระโขนง เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 72398 อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นกรรมสิทธ์รวม เมื่อโจทก์ทั้งสองอ้างว่าได้รับความเสียหายจากการกระทำละเมิดของจำเลยทั้งหกและจำเลยร่วม อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 6 ร่วมกันชำระเงิน 3,000,000 บาท โดยให้จำเลยร่วมร่วมรับผิดเป็นเงิน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 11 เมษายน 2550 ) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง คำขออื่นให้ยก ให้จำเลยที่ 1 ที่ 6 และจำเลยร่วมร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ทั้งสองเฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสองชนะคดีในชั้นฎีกา โดยกำหนดค่าทนายความรวม 100,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีการะหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 2 ถึง ที่ 5 ให้เป็นพับ

Share