แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
หนังสือซึ่งตีพิมพ์มีข้อความสงวนลิขสิทธิ์ไว้พอที่จะฟังได้ว่าเจ้าของได้ปฏิบัติการครบถ้วนตามเงื่อนไขและวิธีการของประเทศอังกฤษซึ่งเป็นที่เกิดแห่งวรรณกรรมลิขสิทธิ์แห่งหนังสือนั้นได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ. 2474 มาตรา 29(ก) ซึ่งมาตรา 28 ถือเสมือนว่าวรรณกรรมนั้นได้โฆษณาเป็นครั้งแรกในประเทศไทยโดยที่ประเทศไทยและอังกฤษเป็นสมาชิกในสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรมตามประกาศกระทรวงการต่างประเทศ ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2474 การได้ลิขสิทธิ์ไม่ต้องจดทะเบียนการมีแม่พิมพ์เพื่อพิมพ์สำเนาจำลองและการพิมพ์สำเนาจำลองโดยไม่ได้รับความยินยอมของเจ้าของเป็นความผิดตาม พระราชบัญญัติ นั้น มาตรา 4, 20, 25 กระทงหนึ่ง กับมีความผิดฐานใช้ตรารูปเรือใบ และ ชื่อ “ลองแมน” ให้ประชาชนหลงเชื่อตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272(1) อีกกระทงหนึ่ง
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272(1) จำคุก 3 เดือนกระทงหนึ่ง ผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ. 2474 มาตรา 4, 20,25 ปรับ 500 บาทอีกกระทงหนึ่ง จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “มีปัญหาในเบื้องต้นว่า บริษัทลองแมนกรุ๊ปจำกัด เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หนังสือยูดิดอิทเฟิสท์และหนังสือเดอะพริสซันเนอร์ออฟเซ็นด้าหรือไม่ โจทก์อ้างหนังสือยูดิดอิทเฟิสท์หมาย จ.1 และเดอะพริสซันเนอร์ออฟเซ็นด้าหมาย จ.2 เป็นพยาน ในหนังสือดังกล่าวมีชื่อบริษัทลองแมนกรุ๊ป จำกัด เป็นเจ้าของหนังสือหมาย จ.1 พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1458 (พ.ศ. 2501) หนังสือหมาย จ.2 พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1939 (พ.ศ. 2482) หนังสือทั้งสองฉบับพิมพ์ในปีต่อ ๆ มาอีกหลายครั้ง ได้พิมพ์มีข้อความสงวนลิขสิทธิ์ พร้อมทั้งมีรูปเรือใบ และ “ลองแมน” เป็นตราประทับของบริษัทผู้เสียหายไว้ด้วย ย่อมเพียงพอที่จะให้ฟังว่าผู้ประพันธ์หรือเจ้าของได้ปฏิบัติครบถ้วนตามเงื่อนไขและวิธีการของประเทศอังกฤษซึ่งเป็นที่เกิดแห่งวรรณกรรมได้กำหนดไว้ลิขสิทธิ์ของหนังสือทั้งสองฉบับจึงได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ. 2474 มาตรา 29(ก) ประเทศอังกฤษเป็นสมาชิกแห่งสันนิบาตลิขสิทธิ์ประเทศหนึ่งรวมทั้งประเทศไทยด้วยในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยความคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรมตามประกาศกระทรวงการต่างประเทศ ลงวันที่ 31 กรกฎาคม พุทธศักราช 2474 และมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรม พ.ศ. 2474 บัญญัติให้วรรณกรรมที่ได้โฆษณาในประเทศสมาชิกแห่งสันนิบาตลิขสิทธิ์ถือเสมือนว่าได้โฆษณาหรือนำสำเนาจำลองออกจำหน่ายเป็นครั้งแรกในพระราชอาณาจักร ฉะนั้นบริษัทลองแมนกรุ๊ป จำกัด ผู้เสียหายจึงเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หนังสือสองฉบับตามนัยแห่งมาตรา 4, 5(ก) การได้ลิขสิทธิ์หาจำต้องจดทะเบียนดังจำเลยอ้างไม่
ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยได้กระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของบริษัทผู้เสียหายหรือไม่ ของกลางที่ค้นได้ที่โรงพิมพ์และบ้านของจำเลยมีแม่พิมพ์ (บล๊อก) 50 อัน สำเนาจำลองหนังสือยูดิดอิทเฟิสท์ 20,000 แผ่น สำเนาจำลองหนังสือเดอะพริสซันเนอร์ออฟเซ็นด้า 1,000 แผ่น และกระดาษเปล่า 2,500แผ่น จำเลยนำสืบรับว่า มีชายคนหนึ่งไม่รู้จักชื่อนำแม่พิมพ์กับกระดาษมาว่าจ้างพิมพ์ จำเลยจึงได้พิมพ์สำเนาจำลองหนังสือยูดิดอิทเฟิสท์ขึ้น 20,000แผ่น ส่วนสำเนาจำลองหนังสือเดอะพริสซันเนอร์ออฟเซ็นด้านั้น ผู้ว่าจ้างนำติดมากับกระดาษเปล่า จำเลยไม่ได้รับจ้างพิมพ์ หลักฐานการว่าจ้างคือเอกสารหมาย จ.39 พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า เอกสาร จ.39 เป็นหนังสือของผู้ว่าจ้างออกให้แก่จำเลยผู้รับจ้าง แสดงว่าผู้ว่าจ้างได้สั่งพิมพ์ภาษาอังกฤษ 6 ยก พร้อมทั้งกระดาษ 12 ริม ราคายกละ 200 บาท เป็นเงิน 1,200 บาท และวางมัดจำไว้300 บาท ที่เหลือจะชำระเมื่อรับของเรียบร้อยแล้ว แล้วลงชื่อผู้ว่าจ้าง ตามปกติเมื่อมีผู้มาว่าจ้างพิมพ์หนังสือ โรงพิมพ์จำเลยจะต้องออกหนังสือรับจ้างให้ผู้ว่าจ้างเป็นหลักฐาน เพื่อจะมารับเอาของ และชำระเงินค่าจ้างพิมพ์ แต่กลับปรากฏว่าเป็นหลักฐานที่ผู้ว่าจ้างทำขึ้นและมอบให้แก่จำเลยไว้ ซึ่งเป็นการผิดปกติวิสัยของจำเลยผู้ประกอบการค้า ขณะตรวจค้นนายสำรวย หมอกเจริญ ไม่ได้ให้ถ้อยคำต่อตำรวจว่า มีผู้มาว่าจ้างให้พิมพ์ทั้งไม่ได้แสดงหลักฐานหมาย จ.34 ในวันที่จำเลยเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน จำเลยก็มิได้นำเอกสารหมาย จ.34 ไปแสดง จำเลยนำหลักฐานหมาย จ.34 ไปมอบให้พนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2518 ซึ่งเป็นเวลาหลังเกิดเหตุหลายวัน ส่อพิรุธให้เห็นว่าเอกสารหมาย จ.39 ทำขึ้นภายหลังเกิดเหตุ จำเลยไม่ได้นำผู้ว่าจ้างมาเป็นพยานประกอบเอกสาร รับฟังไม่ได้ว่าเอกสาร จ.39 เป็นหลักฐานของการว่าจ้าง จึงไม่เชื่อว่าจำเลยรับจ้างพิมพ์สำเนาจำลองหนังสือยูดิดอิทเฟิสท์ของกลาง แต่เชื่อว่าจำเลยพิมพ์สำเนาจำลองหนังสือยูดิดอิทเฟิสท์ดังกล่าวขึ้นเอง รวมทั้งสำเนาจำลองหนังสือเดอะพริสซันเนอร์ออฟเซ็นด้าด้วย ที่จำเลยนำสืบว่าสำเนาจำลองหนังสือเดอะพริสซันเนอร์ออฟเซ็นด้า ติดมากับกระดาษเปล่าของผู้ว่าจ้างนั้นไม่น่าเชื่อเพราะเป็นสำเนาจำลองหนังสือจำนวนมาก เมื่อติดมาจริงผู้ว่าจ้างและจำเลยผู้รับจ้างจะต้องรู้และจะต้องคืนไป และที่จำเลยอ้างว่าไม่ได้พิมพ์สำเนาจำลองหนังสือเดอะพริสซันเนอร์ออฟเซ็นด้า เพราะไม่มีแม่พิมพ์นั้น ก็ไม่มีเหตุผลน่าเชื่อจำเลยพิมพ์เสร็จแล้ว จะเอาไปซุกซ่อนหรือทำลายเสียก็ย่อมทำได้ จำเลยพิมพ์สำเนาจำลองหนังสือนั้นด้วยแม่พิมพ์ของกลาง ได้สำเนาจำลองเป็นจำนวนมากแสดงว่าพิมพ์ขึ้นเพื่อขายโดยไม่ได้รับความยินยอม เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของบริษัทผู้เสียหาย จำเลยเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้พิมพ์หนังสือตามกฎหมาย เป็นผู้พิมพ์และโฆษณาย่อมรู้ดีว่า สำเนาจำลองหนังสือสองฉบับนั้นมีการสงวนลิขสิทธิ์เพราะมีข้อความห้ามคนอื่นพิมพ์ขึ้น จำเลยจะอ้างว่าไม่ทราบว่าเป็นหนังสือที่มีการสงวนลิขสิทธิ์นั้นฟังไม่ขึ้น การที่จำเลยมีแม่พิมพ์ของกลางไว้ในความครอบครองเพื่อทำสำเนาจำลอง และได้พิมพ์สำเนาจำลองหนังสือสองฉบับดังกล่าวขึ้นเป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ฐานเดียวกัน
ในสำเนาจำลองหนังสือสองฉบับที่จำเลยจัดพิมพ์นั้น มีตรารูปเรือใบและชื่อ “ลองแมน” อันเป็นเครื่องหมายการค้าของบริษัทผู้เสียหายย่อมแสดงว่าจำเลยพิมพ์เครื่องหมายการค้าไว้เพื่อจะให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นหนังสือของผู้เสียหายจำเลยต้องมีความผิดฐานเอารูปและชื่อในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้ด้วย”
พิพากษายืน