คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8895/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้สำเนาคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินของผู้คัดค้านและนาย ธ. ให้ผู้คัดค้าน (จำเลย) แต่ผู้คัดค้านยังไม่ได้รับสำเนาเนื่องจากไม่มีการดำเนินการใดตามคำสั่งศาลชั้นต้น ถือเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ว่าด้วยการพิจารณาในส่วนของการยื่นและส่งคำคู่ความและเอกสาร ทำให้ผู้คัดค้านไม่อาจยื่นคำร้องคัดค้านคำร้องของผู้ร้องที่ขอให้ริบทรัพย์สินของผู้คัดค้านได้ จนเป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ริบทรัพย์สินส่วนของผู้คัดค้าน ซึ่งแม้คำร้องของผู้ร้องจะเป็นการร้องตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ฯ ซึ่งมาตรา 28 ได้บัญญัติให้ศาลสั่งให้ประกาศหนังสือพิมพ์และให้เลขาธิการแจ้งให้ผู้ที่อาจอ้างเป็นเจ้าของทรัพย์สินทราบทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับด้วยก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นสั่งให้สำเนาให้จำเลยแล้ว จึงต้องนำบทบัญญัติตาม ป.วิ.พ. ดังกล่าวมาใช้บังคับโดยอนุโลมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15 ทั้งไม่ปรากฏว่า เลขธิการได้แจ้งให้ผู้คัดค้านทราบแต่อย่างใดจึงเป็นกรณีมีเหตุอันสมควรที่ศาลฎีกาจะย้อนสำนวนคืนศาลชั้นต้นให้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ว่าด้วยการพิจารณาในส่วนของการยื่นและส่งคำคู่ความและเอกสารให้ครบถ้วนเสียก่อน ส่วนที่ศาลชั้นต้นประกาศคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินในหนังสือพิมพ์นั้น เป็นการประกาศให้บุคคลภายนอกที่อาจมีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่ขอให้ริบได้ทราบเพื่อจะได้ร้องคัดค้านเข้ามาในคดีก่อนคดีถึงที่สุด มิได้หมายถึงผู้คัดค้านซึ่งเป็นคู่ความในคดีและต้องขังอยู่ซึ่งไม่อาจทราบประกาศได้แต่อย่างใด ฉะนั้น จะถือว่าผู้คัดค้านทราบคำร้องฉบับนี้หาได้ไม่

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องได้ยื่นฟ้องผู้คัดค้านเป็นจำเลยที่ 1 และนายธนพลหรือหนุ่ยหรือโกวิทย์ ทิพย์พยอม เป็นจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันมียาเสพติดให้โทษชนิดเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2544 ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 8004/2544 ให้ลงโทษจำคุกผู้คัดค้านมีกำหนด 16 ปี ในข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ยกฟ้องข้อหามีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในครอบครอง และยกฟ้องนายธนพลหรือหนุ่ยหรือโกวิทย์ คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โดยระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินได้ตรวจสอบทรัพย์สินของผู้คัดค้านและนายธนพลหรือหนุ่ยหรือโกวิทย์พบว่า บุคคลทั้งสองเป็นผู้เกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดมาก่อน และไม่สามารถแสดงหลักฐานได้ว่าทรัพย์สินที่ถูกตรวจสอบ 12 รายการ เป็นทรัพย์สินที่ไม่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือได้รับโอนทรัพย์สินมาโดยสุจริต และมีค่าตอบแทนหรือเป็นทรัพย์สินที่ได้มาตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีหรือในทางกุศลสาธารณะ คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินจึงวินิจฉัยว่าทรัพย์สินของผู้คัดค้านรวม 10 รายการ และของนายธนพลหรือหนุ่ยหรือโกวิทย์รวม 2 รายการ เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และมีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินดังกล่าวแล้ว จึงขอให้ไต่สวนและริบทั้ง 12 รายการ ของผู้คัดค้านและนายธนพลหรือหนุ่ยหรือโกวิทย์ผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของ ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 27, 29, 31
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ริบรถยนต์นั่งส่วนบุคคลยี่ห้อเบนซ์หมายเลขทะเบียน 40 – 6530 กรุงเทพมหานคร เงินฝากในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนพัฒนาการ เลขที่บัญชี 081 – 08400 – 3 พร้อมดอกเบี้ย เงินฝากในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนเพชรบุรีตัดใหม่ เลขที่บัญชี 028 – 2 – 57757 – 7 พร้อมดอกเบี้ย ที่ดินโฉนดเลขที่ 47364 เลขที่ดิน 1954 ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย เนื้อที่ 27 ตารางวา ที่ดินโฉนดเลขที่ 11052 เลขที่ดิน 364 ตำบลเวียงชัย อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย เนื้อที่ 10 ไร่ 1 งาน 95 ตารางวา ที่ดินโฉนดเลขที่ 20785 เลขที่ดิน 238 ตำบลเวียงชัย อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย เนื้อที่ 2 งาน และห้องชุดเลขที่ 17/463 ชั้นที่ 2 อาคารเลขที่ บี ชื่ออาคารชุดสินธานี คอนโดทาวน์ โครงการ 2 ทะเบียนอาคารชุดเลขที่ 5/2535 ตำบลลาดพร้าว (ออเป้า) อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 29 คำขอนอกจากนี้ให้ยก
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ริบรถยนต์นั่งส่วนบุคคลยี่ห้อเบนซ์ หมายเลขทะเบียน 4 อ – 6530 กรุงเทพมหานคร ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้น
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 170 วรรคสอง บัญญัติว่า “…การฟ้อง การพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในศาลชั้นต้น นอกจากจะต้องบังคับตามบทบัญญัติทั่วไปแห่งภาค 1 แล้ว ให้บังคับตามบทบัญญัติในลักษณะนี้ด้วย” ซึ่งมีความหมายว่า การพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นจะต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติทั่วไปของมาตรา 1 ถึงมาตรา 169/3 และมาตรา 170 ถึงมาตรา 188 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง อันรวมถึงการยื่นและส่งคำคู่ความและเอกสารตามมาตรา 67 ถึงมาตรา 83 อัฏฐ ด้วย ดังนั้นเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้สำเนาคำร้องดังกล่าวให้ผู้คัดค้าน (จำเลย) แต่ผู้คัดค้านยังไม่ได้รับสำเนาเนื่องจากไม่มีการดำเนินการใดตามคำสั่งศาลชั้นต้น จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณาในส่วนของการยื่นและส่งคำคู่ความและเอกสาร ทำให้ผู้คัดค้านไม่อาจยื่นคำร้องคัดค้านคำร้องของผู้ร้องที่ขอให้ริบทรัพย์สินของผู้คัดค้านได้ จนเป็นเหตุให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ริบทรัพย์สินส่วนของผู้คัดค้านรวม 7 รายการ ซึ่งแม้คำร้องของผู้ร้องจะเป็นการร้องตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 ซึ่งมาตรา 28 ได้บัญญัติให้ศาลสั่งให้ประกาศหนังสือพิมพ์และให้เลขาธิการแจ้งให้ผู้ที่อาจอ้างเป็นเจ้าของทรัพย์สินทราบทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับด้วยก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นสั่งให้สำเนาให้จำเลยแล้ว จึงต้องนำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งดังกล่าวมาใช้บังคับโดยอนุโลม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ทั้งไม่ปรากฏว่าเลขาธิการได้แจ้งให้ผู้คัดค้านทราบแต่อย่างใด จึงเป็นกรณีมีเหตุอันสมควรที่ศาลฎีกาจะย้อนสำนวนคืนศาลชั้นต้นให้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณาในส่วนของการยื่นและส่งคำคู่ความและเอกสารให้ครบถ้วนเสียก่อน ส่วนที่ศาลชั้นต้นประกาศคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินในหนังสือพิมพ์นั้น เป็นการประกาศให้บุคคลภายนอกที่อาจมีส่วนได้เสียในทรัพย์สินที่ขอให้ริบได้ทราบ เพื่อจะได้ร้องคัดค้านเข้ามาในคดีก่อนคดีถึงที่สุด มิได้หมายถึงผู้คัดค้านซึ่งเป็นคู่ความในคดีและต้องขังอยู่ไม่อาจทราบประกาศแต่อย่างใด ฉะนั้นจะถือว่าผู้คัดค้านทราบคำร้องฉบับนี้หาได้ไม่ ฎีกาข้อนี้ของผู้คัดค้านฟังขึ้น กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของผู้คัดค้าน”
พิพากษาว่า อาศัยอำนาจตามความในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225 ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการพิจารณาในส่วนของการยื่นและการส่งคำคู่ความและเอกสารให้ผู้คัดค้านทราบ แล้วพิจารณาและมีคำสั่งใหม่ต่อไป

Share