คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8880-8886/2542

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 75 วรรคหนึ่งมีเจตนารมณ์คุ้มครองนายจ้างที่ต้องประสบวิกฤตการณ์ในการดำเนินกิจการซึ่งมิใช่เหตุสุดวิสัย ส่งผลกระทบกระเทือนแก่กิจการของนายจ้างอย่างรุนแรงจนถึงขั้นมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวอันเป็นการให้สิทธิแก่นายจ้างที่จะไม่ให้ลูกจ้างทั้งหมดหรือบางส่วนทำงานเป็นการชั่วคราว โดยไม่เลือกปฏิบัติว่าลูกจ้างที่จะให้หยุดทำงานชั่วคราวนั้นเป็นกรรมการลูกจ้างหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อให้นายจ้างมีโอกาสแก้ไขวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นให้หมดไปหรือบรรเทาลง แต่นายจ้างก็มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินแก่ลูกจ้างในระหว่างหยุดกิจการชั่วคราวเพียงไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน แม้กฎหมายจะให้สิทธินายจ้างหยุดกิจการชั่วคราวเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ได้ กฎหมายก็ไม่ได้ยอมให้นายจ้างกระทำไปโดยอิสระแต่ได้กำหนดมาตรการควบคุมไว้ในมาตรา 75 วรรคสอง หากปรากฏในภายหลังว่านายจ้างกล่าวอ้างยกเหตุจำเป็นต้องหยุดกิจการตามมาตรา 75เป็นความเท็จ เพื่อเอาเปรียบลูกจ้าง ลูกจ้างก็ชอบจะใช้สิทธิฟ้องต่อศาลแรงงานเรียกค่าเสียหายรวมทั้งสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ หากมีตามสัญญาจ้างหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างจากนายจ้างได้
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 75 มีเจตนารมณ์แตกต่างอย่างชัดเจนจากบทบัญญัติมาตรา 52แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ซึ่งมีเจตนารมณ์ให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้างที่เป็นกรรมการลูกจ้างโดยเฉพาะให้พ้นจากการเลือกปฏิบัติหรือกลั่นแกล้งจากนายจ้างด้วยการเลิกจ้างลดค่าจ้าง ลงโทษขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการลูกจ้างหรือกระทำการใดที่อาจเป็นผลให้กรรมการลูกจ้างไม่สามารถทนทำงานอยู่ต่อไปได้ อันเป็นสถานการณ์ปกติของนายจ้าง ไม่ใช่กรณีที่นายจ้างประสบวิกฤตการณ์จนจำเป็นต้องหยุดการดำเนินกิจการไว้ชั่วคราวตามมาตรา 75
ที่ผู้ร้องนายจ้างในคดีนี้อ้างว่า มีความจำเป็นต้องหยุดกิจการบางส่วนชั่วคราวโดยสาเหตุที่มิใช่เหตุสุดวิสัย และขอจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างทั้งเจ็ดซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างร้อยละห้าสิบของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับเป็นการใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 มาตรา 75 วรรคหนึ่ง ซึ่งไม่ต้องด้วยมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ที่จะต้องขออนุญาตต่อศาลแรงงานก่อน กรณีตามคำร้องยังถือไม่ได้ว่าผู้ร้องถูกโต้แย้งสิทธิและไม่ใช่กรณีที่ผู้ร้องจะใช้สิทธิทางศาลที่ศาลแรงงานมีคำสั่ง ให้ยกคำร้องชอบแล้ว

ย่อยาว

คดีทั้งเจ็ดสำนวนศาลแรงงานกลางรวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยเรียกผู้ร้องทุกสำนวนว่าผู้ร้อง และเรียกกรรมการลูกจ้างตามลำดับสำนวนว่า กรรมการลูกจ้างที่ 1 ถึงที่ 7

คดีทั้งเจ็ดสำนวนผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2541ผู้ร้องยื่นคำร้องขออนุญาตศาลเลิกจ้างกรรมการลูกจ้างตามคดีหมายเลขดำที่ 13387-13393/2541 และ 13772/2541 โดยอ้างเหตุว่าภาวะเศรษฐกิจของผู้ร้องตกต่ำอย่างรุนแรงและไม่มีงานให้ทำ สินค้าของผู้ร้องยอดขายตกลงอย่างมาก และขาดทุนสูงขึ้น ทำให้จำนวนพนักงานไม่สมดุลกับปริมาณงานที่ลดน้อยลง จึงจำเป็นต้องลดพนักงานลงตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ข้อ 1 โดยจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย คดีอยู่ในระหว่างสืบพยานผู้ร้อง ผู้ร้องมีปัญหาด้านการเงินเพราะเมื่อปี 2541 ผู้ร้องขาดทุน100 ล้านบาทเศษ ผู้ร้องไม่มีงานให้กรรมการลูกจ้างทำ และประสบปัญหาการผลิต แต่ต้องรับภาระจ่ายค่าจ้างให้กรรมการลูกจ้างจนถึงปัจจุบัน ผู้ร้องจึงต้องขอเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิมที่ให้กรรมการลูกจ้างหยุดงานชั่วคราวเป็นให้หยุดกิจการบางส่วนตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2542 ถึงวันที่ 16มิถุนายน 2542 และจ่ายเงินให้ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับ จึงขออนุญาตจ่ายค่าจ้างให้กรรมการลูกจ้างจำนวนครึ่งหนึ่งของค่าจ้างที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2542 ถึงวันที่ 16มิถุนายน 2542

ศาลแรงงานกลางตรวจคำร้องแล้วมีคำสั่งว่า ตามคำร้องไม่ใช่กรณีขอให้ศาลมีคำสั่งลงโทษกรรมการลูกจ้าง จึงไม่ใช่กรณีที่จะใช้สิทธิทางศาลและไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิ ให้ยกคำร้อง

ผู้ร้องทั้งเจ็ดสำนวนอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 มาตรา 75 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในกรณีที่นายจ้างมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวโดยเหตุหนึ่งเหตุใดที่มิใช่เหตุสุดวิสัยให้นายจ้างจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน และวรรคสองบัญญัติว่าให้นายจ้างแจ้งให้ลูกจ้างและพนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าก่อนวันเริ่มหยุดกิจการตามวรรคหนึ่ง บทบัญญัติในมาตรา 75 วรรคหนึ่งดังกล่าวมีเจตนารมณ์คุ้มครองนายจ้างที่ต้องประสบวิกฤตการณ์ในการดำเนินกิจการซึ่งมิใช่เหตุสุดวิสัย ส่งผลกระทบกระเทือนแก่กิจการของนายจ้างอย่างรุนแรงจนถึงขั้นมีความจำเป็นต้องหยุดกิจการทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราวอันเป็นการให้สิทธิแก่นายจ้างที่จะไม่ให้ลูกจ้างทั้งหมดหรือบางส่วนทำงานเป็นการชั่วคราวโดยไม่เลือกปฏิบัติว่าลูกจ้างที่จะให้หยุดทำงานชั่วคราวนั้นเป็นกรรมการลูกจ้างหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อให้นายจ้างมีโอกาสแก้ไขวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นให้หมดไปหรือบรรเทาลง แต่นายจ้างก็มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินแก่ลูกจ้างในระหว่างหยุดกิจการชั่วคราวเพียงไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับก่อนนายจ้างหยุดกิจการตลอดระยะเวลาที่นายจ้างไม่ได้ให้ลูกจ้างทำงาน อย่างไรก็ดี แม้กฎหมายจะให้สิทธินายจ้างหยุดกิจการชั่วคราวเพื่อแก้ไขวิกฤตการณ์ได้ กฎหมายก็ไม่ได้ยอมให้นายจ้างกระทำไปโดยอิสระ แต่ได้กำหนดมาตรการควบคุมไว้ในมาตรา 75 วรรคสอง ว่าก่อนจะหยุดกิจการชั่วคราว นอกจากจะให้นายจ้างต้องแจ้งลูกจ้างให้รู้ตัวล่วงหน้าเพื่อจะได้มีเวลาเตรียมตัววางแผนแก้ไขไม่ให้ได้รับความเสียหายในช่วงหยุดทำงานชั่วคราวแล้ว ยังได้กำหนดให้นายจ้างต้องแจ้งให้พนักงานตรวจแรงงานทราบล่วงหน้าด้วย เพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานใช้อำนาจที่มีอยู่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 มาตรา 139 คอยตรวจสอบข้อเท็จจริงและควบคุมนายจ้างให้ปฏิบัติอย่างโปร่งใสและถูกต้องตามมาตรา 75 หากปรากฏในภายหลังว่านายจ้างกล่าวอ้างยกเหตุจำเป็นต้องหยุดกิจการตามมาตรา 75 เป็นความเท็จเพื่อเอาเปรียบลูกจ้าง ลูกจ้างก็ชอบจะใช้สิทธิฟ้องต่อศาลแรงงานเรียกค่าเสียหายรวมทั้งสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ หากมีตามสัญญาจ้างหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างจากนายจ้างได้ บทบัญญัติมาตรา 75 ดังกล่าวจึงมีเจตนารมณ์แตกต่างอย่างชัดเจนจากบทบัญญัติมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ซึ่งมีเจตนารมณ์ให้ความคุ้มครองแก่ลูกจ้างที่เป็นกรรมการลูกจ้างโดยเฉพาะให้พ้นจากการเลือกปฏิบัติหรือกลั่นแกล้งจากนายจ้างด้วยการเลิกจ้างลดค่าจ้างลงโทษขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการลูกจ้าง หรือกระทำการใดที่อาจเป็นผลให้กรรมการลูกจ้างไม่สามารถทนทำงานอยู่ต่อไปได้ อันเป็นสถานการณ์ปกติของนายจ้างไม่ใช่กรณีที่นายจ้างประสบวิกฤตการณ์จนจำเป็นต้องหยุดการดำเนินกิจการไว้ชั่วคราวตามมาตรา 75 ข้างต้นที่ผู้ร้องนายจ้างในคดีนี้อ้างว่ามีความจำเป็นต้องหยุดกิจการบางส่วนชั่วคราวโดยสาเหตุที่มิใช่เหตุสุดวิสัย และขอจ่ายเงินให้แก่ลูกจ้างทั้งเจ็ดซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างร้อยละห้าสิบของค่าจ้างในวันทำงานที่ลูกจ้างได้รับจึงเป็นการใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541มาตรา 75 วรรคหนึ่ง ซึ่งไม่ต้องด้วยมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ที่จะต้องขออนุญาตต่อศาลแรงงานก่อนกรณีตามคำร้องยังถือไม่ได้ว่าผู้ร้องถูกโต้แย้งสิทธิ และไม่ใช่กรณีที่ผู้ร้องจะใช้สิทธิทางศาล ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้ยกคำร้องชอบแล้ว

พิพากษายืน

Share