แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ร้องเป็นผู้เสียหายในคดีส่วนอาญาได้ยื่นคำร้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาให้เลื่อนนัดสืบพยานโจทก์จำเลยไป ส่วนการสืบพยานส่วนแพ่งให้รอไว้หลังจากสืบพยานโจทก์จำเลยในคดีอาญาเสร็จแล้วนั้น หมายถึงว่า เมื่อสืบพยานโจทก์จำเลยในคดีส่วนอาญาเสร็จแล้ว หากคู่ความฝ่ายใดประสงค์จะสืบพยานเพิ่มเติมตามประเด็นแห่งคดีในส่วนแพ่งซึ่งยังไม่ได้นำสืบตามประเด็นในคดีส่วนอาญา ศาลจะพิจารณาสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้คู่ความนำสืบตามขอหรือไม่ โดยพิจารณาจากพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบไปแล้วในคดีส่วนอาญาว่าเพียงพอจะวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นในคดีส่วนแพ่งหรือไม่ ซึ่ง ป.วิ.อ. มาตรา 47 บัญญัติว่า คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง… ป.พ.พ. มาตรา 438 บัญญัติว่า ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแต่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด… ศาลจึงมีอำนาจกำหนดจำนวนค่าสินไหมทดแทนให้ได้โดยวินิจฉัยตามข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญาโดยไม่จำต้องสืบพยานเพิ่มเติมอีก ส่วนที่สั่งว่าให้จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การในส่วนแพ่งภายใน 14 วัน มิฉะนั้นถือว่าไม่ติดใจนั้น หมายถึงจำเลยไม่ติดใจให้การแก้คดี ไม่ใช่ผู้ร้องไม่ติดใจเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน และเมื่อสืบพยานโจทก์จำเลยเสร็จแล้วศาลสอบผู้ร้องในส่วนของการสืบพยานเพิ่มเติม ผู้ร้องแถลงไม่ติดใจสืบพยาน ศาลมีคำสั่งว่าคดีเสร็จการพิจารณา หมายความว่า ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานในสำนวนที่ได้สืบมาแล้วเพียงพอที่จะวินิจฉัยชี้ขาดคดีได้แล้วจึงไม่ได้มีคำสั่งให้ผู้ร้องนำพยานมาสืบเพิ่มเติม จึงไม่มีกรณีที่จะถือว่าผู้ร้องทิ้งคำร้อง และคำพิพากษาในส่วนค่าสินไหมทดแทนไม่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91, 295, 371
ผู้เสียหายยื่นคำร้อง ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงิน 140,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้เสียหาย
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธคดีส่วนอาญา และจำเลยที่ 1 ให้การคดีส่วนแพ่ง ขอให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธคดีส่วนอาญา แต่จำเลยที่ 2 ไม่ยื่นคำให้การคดีส่วนแพ่ง
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 2 หลบหนี ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 ประกอบมาตรา 83, 371 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพาอาวุธปืนฯ เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับ 4,000 บาท ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกาย จำคุก 6 เดือน และปรับ 4,000 บาท รวมจำคุก 6 เดือน และปรับ 8,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30, 30/1 (ที่ถูกไม่ต้องระบุมาตรา 30/1) ข้อหาอื่นให้ยก ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 8 เมษายน 2551) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้เสียหาย ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความในคดีส่วนแพ่งให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน แต่ไม่ต้องระบุให้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความในคดีส่วนแพ่งในศาลชั้นต้นให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ทำนองว่าผู้ร้องเป็นผู้เสียหายยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในมูลละเมิดแก่ผู้ร้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งก่อนสืบพยานโจทก์นัดแรกว่า “… การสืบพยานในส่วนแพ่งให้รอไว้หลังสืบพยานโจทก์จำเลยในคดีอาญาเสร็จแล้ว…ให้จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การภายใน 15 วัน นับแต่วันนี้ มิฉะนั้นให้ถือว่าไม่ติดใจ…” เมื่อสืบพยานโจทก์จำเลยในคดีสวนอาญาเสร็จแล้ว ผู้ร้องแถลงไม่สืบพยานต่อไปนั้น ถือว่าผู้ร้องทิ้งคำร้องหรือไม่ และการที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องนั้นเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ผู้ร้องเป็นผู้เสียหายในคดีส่วนอาญา ได้ยื่นคำร้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในมูลละเมิด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 ซึ่งมาตรา 46 บัญญัติว่า ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 9 กันยายน 2551 ให้เลื่อนนัดสืบพยานโจทก์จำเลยไปเป็นวันที่ 20 พฤศจิกายน 2551 ส่วนการสืบพยานส่วนแพ่งให้รอไว้หลังจากสืบพยานโจทก์จำเลยในคดีอาญาเสร็จแล้วนั้น หมายถึงว่า เมื่อสืบพยานโจทก์จำเลยในคดีส่วนอาญาเสร็จแล้ว หากคู่ความฝ่ายใดประสงค์จะสืบพยานเพิ่มเติมตามประเด็นแห่งคดีในส่วนแพ่งซึ่งยังไม่ได้นำสืบตามประเด็นในคดีส่วนอาญา ศาลจะพิจารณาสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้คู่ความนำสืบตามคำขอหรือไม่ โดยพิจารณาจากพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบไปแล้วในคดีส่วนอาญาว่าเพียงพอจะวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นในคดีส่วนแพ่งหรือไม่ ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 47 บัญญัติว่า คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง… ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 บัญญัติว่า ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น ให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด…. ศาลจึงมีอำนาจกำหนดจำนวนค่าสินไหมทดแทนให้ได้โดยวินิจฉัยตามข้อเท็จจริงในคดีส่วนอาญาโดยไม่จำต้องสืบพยานเพิ่มเติมอีก ส่วนที่สั่งว่าให้จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การในส่วนแพ่งภายใน 15 วัน มิฉะนั้นให้ถือว่าไม่ติดใจนั้น หมายถึงจำเลยไม่ติดใจให้การแก้คดี ไม่ใช่ผู้ร้องไม่ติดใจเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน และเมื่อสืบพยานโจทก์จำเลยเสร็จแล้ว ศาลสอบผู้ร้องในส่วนของการสืบพยานเพิ่มเติมในส่วนของค่าเสียหาย ผู้ร้องแถลงไม่สืบพยานเพิ่มเติม ศาลมีคำสั่งว่าคดีเสร็จการพิจารณา หมายความว่า ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานในสำนวนที่ได้สืบมาแล้วเพียงพอที่จะวินิจฉัยชี้ขาดคดีได้แล้วจึงไม่ได้มีคำสั่งให้ผู้ร้องนำพยานมาสืบเพิ่มเติม จึงไม่มีกรณีที่จะถือว่าผู้ร้องทิ้งคำร้อง และคำพิพากษาในส่วนค่าสินไหมทดแทนไม่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น ตามที่จำเลยที่ 1 อ้างในฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน