คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 887/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาจ้างระหว่างโจทก์จำเลยครั้งแรกได้กำหนดระยะเวลาไว้โดยมีข้อสัญญาว่า ‘เมื่อครบกำหนดแล้วสัญญานี้จะมีผลใช้บังคับต่อไปโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย และต้องทำสัญญากันใหม่อีกชั้นหนึ่ง’ ครบกำหนดตามสัญญาฉบับแรกแล้วได้มีการทำสัญญากันใหม่อีกโดยกำหนดเวลาไว้เช่นกัน และข้อกำหนดในสัญญาเช่นเดิม ดังนี้ ข้อกำหนดในสัญญาดังกล่าวมิใช่เงื่อนไขที่ทำให้ระยะเวลาที่กำหนดไว้เปลี่ยนแปลงไป แต่มีความหมายเพียงว่าถ้าโจทก์จำเลยประสงค์จะว่าจ้างกันต่อไปก็ต้องตกลงกันใหม่เป็นคราวๆถ้าไม่มีการตกลงทำสัญญากันใหม่ หรือไม่มีพฤติการณ์แสดงว่าจำเลยยอมให้โจทก์ทำงานต่อไป สัญญาระหว่างโจทก์จำเลยก็เป็นอันสิ้นสุดลง สัญญาจ้างระหว่างโจทก์จำเลยดังกล่าวจึงเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯข้อ 46 วรรคท้าย ที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์ทั้งสองเป็นลูกจ้างประจำ ต่อมาได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งสองโดยไม่มีความผิดและไม่จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย ขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์คนละ 6,300 บาท

จำเลยให้การว่า จำเลยจ้างโจทก์ทั้งสองมีกำหนดระยะเวลาแน่นอน จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์

ศาลแรงงานกลางเห็นว่า สัญญาจ้างระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอน เมื่อจำเลยเลิกจ้างจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้โจทก์ทั้งสองคนละ 6,200 บาท

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงยุติว่าตามเอกสารสัญญาจ้างหมาย จ.1 ถึง จ.4 นั้น เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2519 จำเลยจ้างโจทก์ที่ 1มีกำหนด 3 ปี เริ่มแต่วันทำสัญญาถึงวันที่ 30 กันยายน 2520 ตามสัญญาจ้างหมาย จ.1 ครบกำหนดจำเลยกับโจทก์ที่ 1 ทำสัญญากันใหม่มีกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2522 เอกสารหมาย จ.2 ส่วนโจทก์ที่ 2 จำเลยว่าจ้างเป็นลูกจ้างประจำตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2519 และ มีการต่อสัญญาจ้างกันมาปรากฏตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.3 ว่า โจทก์ที่ 2 กับจำเลยทำสัญญาจ้างเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2521 มีกำหนด 1 ปี นับแต่วันทำสัญญา เมื่อครบกำหนดได้ทำสัญญากันใหม่มีกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2522 ตามสัญญาจ้างหมาย จ.4 ครั้นถึงวันที่ 30 กันยายน 2523 ครบกำหนดสัญญาจ้างจำเลยไม่จ้างโจทก์ต่อไป โจทก์ทั้งสองจึงพ้นจากการเป็นลูกจ้างจำเลย ดังนี้ เห็นว่าสัญญาจ้างที่โจทก์จำเลยกระทำต่อกันตามเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.4 ได้มีการตกลงกำหนดระยะเวลาจ้างไว้แน่นอน มุ่งหมายจะให้สัญญามีผลผูกพันกันภายในระยะเวลาที่กำหนด ส่วนข้อความของสัญญาข้อ 2 ตอนท้ายที่ว่า”เมื่อครบกำหนดแล้วสัญญาจะมีผลใช้บังคับต่อไปโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย และต้องทำสัญญากันใหม่อีกชั้นหนึ่ง” นั้น มิใช่เงื่อนไขที่ทำให้ระยะเวลาที่กำหนดไว้เปลี่ยนแปลงไป หากมีความหมายแต่เพียงว่า ถ้าโจทก์ทั้งสองกับจำเลยประสงค์จะว่าจ้างรับจ้างกันต่อไป ก็ต้องตกลงกันใหม่เป็นคราว ๆ ถ้าไม่มีการตกลงทำสัญญาใหม่หรือไม่ มีพฤติการณ์ใดแสดงว่าจำเลยยอมให้โจทก์ทำงานต่อไป สัญญาระหว่างโจทก์จำเลยย่อมสิ้นสุดลง เมื่อถึงกำหนดเวลาไว้คดีไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยทำสัญญาดังกล่าวโดยมีเจตนาหลีกเลี่ยงจะไม่จ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์เมื่อเลิกจ้าง ฉะนั้น เมื่อครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญาเอกสารหมาย จ.2 และ จ.4 ในวันที่ 30 กันยายน 2523 จำเลยไม่จ้างโจทก์ทั้งสองต่อไปโดยเลิกจ้างเช่นนี้ สัญญาระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 46 วรรคท้ายแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 6) ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2521 ข้อ 2 จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งสอง

พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

Share