แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 มีข้อความระบุว่า “ข้าพเจ้า บริษัท สแกนดิเนเวียฯ โดยนาย ซ. และนาย ว. กรรมการผู้มีอำนาจ ขอแต่งตั้งให้นาย ว. แต่ผู้เดียวลงลายมือชื่อพร้อมประทับตราสำคัญบริษัท ให้เป็นตัวแทนของบริษัท และให้อำนาจดำเนินการแทนบริษัท ดังจะกล่าวต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ตัวแทนมีอำนาจฟ้องคดี
ข้อ 9
ให้มีอำนาจแต่งตั้งตัวแทนช่วง เพื่อให้มีอำนาจและดำเนินการตามอำนาจดังกล่าวข้างต้นให้ทุกประการ
” และหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 มีข้อความว่า “ด้วยหนังสือนี้ ข้าพเจ้า บริษัทสแกนดิเนเวียฯ โดยนาย ว. กรรมการผู้มีอำนาจ ขอแต่งตั้งให้ นาย จ. และหรือ นาย ก. ให้เป็นตัวแทนของบริษัทและให้อำนาจดำเนินการแทนบริษัทดังจะกล่าวต่อไปนี้
” แม้หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 ระบุว่านาย ว. ผู้มอบอำนาจกระทำการในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจโจทก์ มิได้ระบุว่ากระทำการแทนในฐานะตัวแทนโจทก์ก็ตาม แต่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 10 บัญญัติว่า “เมื่อความข้อใดข้อหนึ่งในเอกสารอาจตีความได้สองนัย นัยไหนจะทำให้เป็นผลบังคับได้ ให้ถือเอาตามนัยนั้น ดีกว่าที่จะถือเอานัยที่ไร้ผล” ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยในคำฟ้องระบุว่า นาย จ. และหรือ นาย ก. เป็นผู้รับมอบอำนาจช่วง กับอ้างหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 เป็นพยานหลักฐาน ทั้งใบแต่งทนายความโจทก์ระบุว่า ผู้แต่งทนายความ คือ โจทก์ โดยนาย จ. ผู้รับมอบอำนาจช่วง จึงต้องถือว่านาย ว. มีเจตนาลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 เพื่อมอบอำนาจช่วงให้นาย จ. และหรือ นาย ก. ฟ้องคดีนี้ตามที่ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ หาได้กระทำการในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจโจทก์แต่อย่างใด ดังนี้ หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 จึงมีผลสมบูรณ์ โจทก์มีอำนาจฟ้อง
โจทก์บรรยายฟ้องได้ความว่าโจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด มีกรรมการสองคนลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญ มีอำนาจกระทำการแทนและมีผลผูกพันโจทก์ ตามหนังสือรับรองเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ในการดำเนินคดีนี้ โจทก์มอบอำนาจให้นาย ว. เป็นผู้ดำเนินคดีแทนและมีอำนาจแต่งตั้งตัวแทนช่วงได้ ซึ่งนาย ว. ได้มอบอำนาจช่วงให้นาย จ. และ/หรือ นาย ก. เป็นผู้ดำเนินคดีแทน ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 และ 3 ดังนั้น นาย ว.ซึ่งเป็นกรรมการคนหนึ่งของโจทก์มีฐานะเป็นผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ด้วย รวมทั้งมีอำนาจแต่งตั้งตัวแทนช่วงได้ การกระทำของนาย ว. ตามหนังสือมอบอำนาจทั้งสองฉบับดังกล่าวจึงไม่ขัดกัน ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.4 มีข้อความระบุให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ “ข้อ 1 มีอำนาจกระทำการ และลงลายมือชื่อในเอกสารต่าง ๆ และมีอำนาจมอบอำนาจช่วงแก่บุคคล หรือนิติบุคคลอื่นใดเกี่ยวกับกิจการให้เช่า/เช่าซื้อของบริษัท ดังนี้ 1.1 ยึดทรัพย์สินที่ให้เช่า/เช่าซื้อ 1.2
1.6
” ข้อความดังกล่าวเป็นการมอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจกระทำการและลงลายมือชื่อในเอกสารต่างๆ แทนโจทก์ส่วนหนึ่ง กับมีอำนาจมอบอำนาจช่วงแก่บุคคลหรือนิติบุคคลอื่นใดเกี่ยวกับกิจการให้เช่าหรือเช่าซื้อของโจทก์ตามที่ระบุในข้อ 1.1 ถึง ข้อ 1.6 อีก
ส่วนหนึ่ง ดังนั้น นางสาว พ. และนาย ส. ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ จึงมีอำนาจลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อแทนโจทก์ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาเป็นเงิน 1,072,123 บาท และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ให้โจทก์เป็นเงิน 331,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จกับค่าเสียหายต่อไปอีกเดือนละ 8,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะส่งมอบรถยนต์คืนหรือใช้ราคาและให้ร่วมกันชำระภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเงิน 44,672 บาท แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 800,000 บาท ให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์เป็นเงิน 195,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 195,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 3 เมษายน 2543) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ต่อไปอีกเดือนละ 5,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาแต่ไม่เกิน 6 เดือน และให้ร่วมกันชำระภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 7,147.32 บาท กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชน จำกัด เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2538 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อวอลโว่ หมายเลขทะเบียน 1ฬ – 5815 กรุงเทพมหานคร ไปจากโจทก์ ตกลงชำระค่าเช่าซื้อรวม 60 งวด ตามสัญญาเช่าซื้อโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ตามหนังสือสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 18
คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า นายวินิต ได้มอบอำนาจให้นายจาตุรนต์และหรือนายกฤตธี เป็นผู้ฟ้องคดีนี้ ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 โดยนายวินิตลงลายมือชื่อเพียงผู้เดียวและประทับตราสำคัญของโจทก์ หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 จึงไม่สมบูรณ์ตามหนังสือรับรองของโจทก์และไม่ผูกพันโจทก์นั้น เห็นว่า หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 มีข้อความระบุว่า “ข้าพเจ้า บริษัท สแกนดิเนเวียฯ โดยนายไซมอน และนายวินิต กรรมการผู้มีอำนาจขอแต่งตั้งให้ นายวินิตแต่ผู้เดียวลงลายมือชื่อพร้อมประทับตราสำคัญบริษัท ให้เป็นตัวแทนของบริษัท และให้อำนาจดำเนินการแทนบริษัทดังจะกล่าวต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ตัวแทนมีอำนาจฟ้องคดี
ข้อ 9
ให้มีอำนาจแต่งตั้งตัวแทนช่วง เพื่อให้มีอำนาจและดำเนินการตามอำนาจดังกล่าวข้างต้นให้ทุกประการ
” และหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 มีข้อความว่า “ด้วยหนังสือนี้ ข้าพเจ้าบริษัท สแกนดิเนเวียฯ โดยนายวินิต กรรมการผู้มีอำนาจ ขอแต่งตั้งให้ นายจตุรนต์และหรือนายกฤตธี ให้เป็นตัวแทนของบริษัท และให้อำนาจดำเนินการแทนบริษัทดังจะกล่าวต่อไปนี้
” แม้หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 ระบุว่านายวินิตฯ ผู้มอบอำนาจกระทำการในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจโจทก์ มิได้ระบุว่ากระทำการแทนในฐานตัวแทนโจทก์ก็ตาม แต่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 10 บัญญัติว่า “เมื่อความข้อใดข้อหนึ่งในเอกสาร อาจตีความได้สองนัย นัยไหนจะทำให้เป็นผลบังคับได้ให้ถือเอาตามนัยนั้น ดีกว่าที่จะถือเอานัยที่ไร้ผล” ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยในคำฟ้องระบุว่านายจตุรนต์ และหรือ นายกฤตธี เป็นผู้รับมอบอำนาจช่วง กับอ้างหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 เป็นพยานหลักฐาน ทั้งใบแต่งทนายความโจทก์ระบุว่า ผู้แต่งทนายความ คือ โจทก์โดยนายจตุรนต์ ผู้รับมอบอำนาจช่วง จึงต้องถือว่านายวินิตมีเจตนาลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 เพื่อมอบอำนาจช่วงให้นายจตุรนต์และหรือนายกฤตธี ฟ้องคดีนี้ตามที่ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ หาได้กระทำการในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจโจทก์แต่อย่างใด หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 จึงมีผลสมบูรณ์ โจทก์มีอำนาจฟ้อง
คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ต่อไปว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 นายวินิตกระทำการในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจโจทก์ ซึ่งกระทำนอกเหนือจากที่ได้รับมอบอำนาจตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.2 นายวินิตจึงกระทำการตามหนังสือมอบอำนาจทั้งสองฉบับต่างฐานะกัน โจทก์บรรยายฟ้องขัดแย้งกันนั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องได้ความว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด มีกรรมการสองคนลงลายมือชื่อร่วมกันและประทับตราสำคัญ มีอำนาจกระทำการแทนและมีผลผูกพันโจทก์ ตามหนังสือรับรองเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ในการดำเนินคดีนี้ โจทก์มอบอำนาจให้นายวินิตเป็นผู้ดำเนินคดีแทนและมีอำนาจแต่งตั้งตัวแทนช่วงได้ ซึ่งนายวินิตได้มอบอำนาจช่วงให้นายจาตุรนต์และหรือนายกฤตธี เป็นผู้ดำเนินคดีแทน ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 และ 3 ดังนั้น นายวินิตซึ่งเป็นกรรมการคนหนึ่งของโจทก์มีฐานะเป็นผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ด้วย รวมทั้งมีอำนาจแต่งตั้งตัวแทนช่วงได้ การกระทำของนายวินิตตามหนังสือมอบอำนาจทั้งสองฉบับดังกล่าวจึงไม่ขัดกัน ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ประการสุดท้ายว่า โจทก์มอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจทำการให้เช่าซื้อตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.4 หรือไม่ เห็นว่า หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.4 มีข้อความระบุให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ “ข้อ 1 มีอำนาจกระทำการ และลงลายมือชื่อในเอกสารต่าง ๆ และมีอำนาจมอบอำนาจช่วงแก่บุคคลหรือนิติบุคคลอื่นใดเกี่ยวกับกิจการให้เช่า/เช่าซื้อของบริษัท ดังนี้ 1.1 ยึดทรัพย์สินที่ให้เช่า/เช่าซื้อ 1.2
1.6
” ข้อความดังกล่าวเป็นการมอบอำนาจให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจกระทำการและลงลายมือชื่อในเอกสารต่าง ๆ แทนโจทก์ส่วนหนึ่ง กับมีอำนาจมอบอำนาจช่วงแก่บุคคลหรือนิติบุคคลอื่นใดเกี่ยวกับกิจการให้เช่าหรือเช่าซื้อของโจทก์ตามที่ระบุในข้อ 1.1 ถึง ข้อ 1.6 อีกส่วนหนึ่ง ดังนั้น นางสาวพวงทิพย์ และนายสันติ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ จึงมีอำนาจลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อแทนโจทก์ได้
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 5,000 บาท แทนโจทก์.