คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 886/2521

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โรงรับจำนำต้องคืนทรัพย์จำนำแก่เจ้าของ โดยเรียกให้ชำระหนี้จำนำไม่ได้ เมื่อรับจำนำไว้โดยแม้จะไม่รู้แต่ควรรู้ว่าทรัพย์จำนำนั้นได้มาโดยกระทำความผิด

ย่อยาว

เครื่องพิมพ์ดีดของจำเลยร่วมถูกลักไป 16 เครื่อง ศาลลงโทษผู้ลักไปแล้วโจทก์รับจำนำเครื่องพิมพ์ไว้หลายคราวรวม 16 เครื่อง โจทก์ถูกฟ้องฐานรับของโจร ศาลยกฟ้องเพราะไม่พอฟังว่าโจทก์รู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ถูกลักมา จำเลยร่วมได้รับคืนเครื่องพิมพ์ไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ขอให้จำเลยใช้คืนเครื่องพิมพ์ดีด หรือใช้ราคาที่รับจำนำไว้โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ต่อมาพนักงานสอบสวนยึดเครื่องพิมพ์ดีดทั้ง 16 เครื่อง ได้จากโรงรับจำนำของโจทก์ที่ 1 แล้วได้มอบให้พันตรีบุญเชิดสุมาตรา จำเลยที่ 3 ไปเก็บรักษาไว้จนกว่าคดีจะเสร็จสิ้นหรือไถ่ของคืน และได้จับกุมนายสนั่น ศิริวิติ กับสิบโทสุนทร วิริยะชูศรี ดำเนินคดีในข้อหาลักทรัพย์ศาลอาญาได้พิพากษาเมื่อวันที่ 6 กันยายน 2517 ให้จำคุกนายสนั่น ศิริวิติและสิบโทสุนทร วิริยะชูศรี คนละ 3 ปี เครื่องพิมพ์ดีด 16 เครื่องของกลางให้คืนผู้เสียหาย และพนักงานสอบสวนได้จับกุมโจทก์ที่ 2 ในคดีนี้ ดำเนินคดีในข้อหารับของโจร ศาลอาญาพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า พฤติการณ์ต่าง ๆที่โจทก์นำสืบยังไม่พอที่จะรับฟังได้ว่า จำเลย (โจทก์ที่ 2 ในคดีนี้) รับจำนำเครื่องพิมพ์ดีดของกลางไว้โดยรู้ว่าเครื่องพิมพ์ดีดของกลางนั้นได้มาจากการกระทำผิดฐานลักทรัพย์จึงลงโทษตามฟ้องโจทก์ไม่ได้ พิพากษายกฟ้องโจทก์ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2518 แต่ให้ขังจำเลยไว้ในระหว่างอุทธรณ์ ปรากฏตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 7730/2517 และที่ 8060/2518 คดีถึงที่สุดทั้งสองคดี โดยไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์ต่อมา โจทก์ทั้งสองจึงมาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2519 เรียกเครื่องพิมพ์ดีดของกลาง 16 เครื่องคืน

คดีมีประเด็นว่า โจทก์จะฟ้องขอให้ศาลบังคับให้จำเลยและจำเลยร่วมคืนเครื่องพิมพ์ดีด 16 เครื่องที่โจทก์รับจำนำไว้ หากคืนไม่ได้ก็ให้ใช้ราคาได้หรือไม่ ตามพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. 2505 มาตรา 24 เดิม ซึ่งเป็นกฎหมายใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์รับจำนำเครื่องพิมพ์ดีดพิพาท 16 เครื่องบัญญัติว่า “ผู้รับจำนำต้องคืนทรัพย์จำนำให้แก่เจ้าของโดยจะเรียกให้เจ้าของชำระหนี้ที่เกิดจากการรับจำนำทรัพย์นั้นมิได้ ในกรณีต่อไปนี้ (1)…(2) ผู้รับจำนำได้รับจำนำทรัพย์ไว้โดยรู้หรือมีเหตุอันควรรู้ว่า ทรัพย์จำนำนั้นได้มาโดยการกระทำความผิด ปรากฏว่า ในคดีของศาลอาญาหมายเลขแดงที่ 8060/2518 ซึ่งพนักงานอัยการได้เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ที่ 2 ในคดีนี้เป็นจำเลยในข้อหารับของโจร เครื่องพิมพ์ดีดพิพาท 16 เครื่อง ศาลอาญาได้วินิจฉัยแต่เพียงว่าพฤติการณ์ต่าง ๆ ยังไม่พอที่จะรับฟังว่า จำเลย (โจทก์ที่ 2 ในคดีนี้) รับจำนำเครื่องพิมพ์ดีดของกลางไว้โดยรู้ว่าเครื่องพิมพ์ดีดของกลางนั้นได้มาจากการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ จึงลงโทษจำเลยตามฟ้องโจทก์ไม่ได้ ปัญหาวินิจฉัยจึงมีว่า โจทก์ได้รับจำนำเครื่องพิมพ์ดีดพิพาท 16 เครื่องไว้โดยมีเหตุอันควรรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยการกระทำความผิดหรือไม่” ฯลฯ

“ตามข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่าง ๆ ดังที่ได้วินิจฉัยมา จึงเชื่อได้ว่าโจทก์ได้รับจำนำเครื่องพิมพ์ดีดพิพาทรวม 16 เครื่อง ของกองทัพบกจำเลยร่วมไว้โดยมีเหตุอันควรรู้ว่า เป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยการกระทำผิดโจทก์ต้องคืนเครื่องพิมพ์ดีดดังกล่าวให้แก่จำเลยร่วมซึ่งเป็นเจ้าของ และจะเรียกร้องให้จำเลยร่วมชำระหนี้ที่เกิดจากการรับจำนำทรัพย์นั้นไม่ได้ ตามพระราชบัญญัติโรงรับจำนำ พ.ศ. 2505 มาตรา 24 ดังกล่าวข้างต้น เมื่อพนักงานสอบสวนในบังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 มอบเครื่องพิมพ์ดีดพิพาทให้จำเลยที่ 3 เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหน่วยงานของจำเลยร่วมผู้เป็นเจ้าของเครื่องพิมพ์ดีดพิพาทไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจมาฟ้องให้จำเลยและจำเลยร่วมรับผิด”

พิพากษายืน

Share