แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คพิพาททั้งสามฉบับ ย่อมเข้าข้อสันนิษฐานตามกฎหมายที่ระบุให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ปฏิเสธความรับผิด ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชั้นพิจารณาจำเลยที่ 2 เบิกความในฐานะพยานจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพียงว่าเช็คพิพาทหาย และไปแจ้งความลงบันทึกในรายงานประจำวันรับแจ้งเอกสารหายต่อเจ้าพนักงานตำรวจไว้เท่านั้น ไม่ได้ดำเนินการใดต่อไปหรือแม้กระทั่งการเรียกคืนเช็คจากโจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์พึงกระทำเลย และในรายละเอียดของรายงานประจำวันรับแจ้งเอกสารหายก็ไม่ได้กล่าวว่าเช็คพิพาทสูญหายไปอย่างไร แค่กล่าวอ้างอย่างลอย ๆ ว่าไม่แน่ใจว่าเช็คหล่นหายหรือถูกขโมย ย่อมยากที่จะรับฟังเป็นจริงตามภาระการพิสูจน์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องแพ้คดี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 1,159,667 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,080,667 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 1,159,667 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,080,667 บาท นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 11 กันยายน 2555) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแก่โจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 และที่ 2 และในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ และเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิด จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คของธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย สาขาถนนนวมินทร์ รวม 3 ฉบับ เช็คฉบับที่ 1 เลขที่ 0407567 ลงวันที่ 16 กันยายน 2554 จำนวนเงิน 392,140 บาท เช็คฉบับที่ 2 เลขที่ 0407565 ลงวันที่ 21 กันยายน 2554 จำนวนเงิน 348,379 บาท และเช็คฉบับที่ 3 เลขที่ 0407566 ลงวันที่ 23 กันยายน 2554 จำนวนเงิน 340,148 บาท รวมเป็นเงิน 1,080,667 บาท เช็คทั้งสามฉบับมีจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คแล้วส่งมอบให้แก่โจทก์เพื่อเป็นการชำระหนี้เงินกู้ยืม โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อเช็คทั้งสามฉบับถึงกำหนด โจทก์นำเช็คเข้าบัญชีโจทก์ที่ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) สาขาตลาดน้อย เพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คทั้งสามฉบับโดยให้เหตุผลว่า มีคำสั่งให้ระงับการจ่าย โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระแล้ว แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉยตามหนังสือทวงถามและไปรษณีย์ตอบรับ การกระทำของจำเลยทั้งสามทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยทั้งสามต้องชำระเงินคืนโจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน เช็คฉบับที่ 1 เป็นดอกเบี้ย 28,974.03 บาท เช็คฉบับที่ 2 เป็นดอกเบี้ย 25,382.74 บาท และเช็คฉบับที่ 3 เป็นดอกเบี้ย 24,643.25 บาท รวมเป็นดอกเบี้ย 79,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,159,667 บาท
จำเลยที่ 2 นำสืบว่า จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ไม่เคยรู้จักและไม่เคยมีนิติสัมพันธ์กับโจทก์และจำเลยที่ 3 ลายมือชื่อในเช็คของจำเลยที่ 2 เป็นลายมือชื่อปลอม เช็คพิพาททั้งสามฉบับเป็นเช็คของจำเลยที่ 1 จริง แต่จำเลยที่ 2 ทำเช็คหายจึงได้แจ้งธนาคารเจ้าของเช็คมีคำสั่งระงับการจ่ายเงิน และจำเลยที่ 2 ได้แจ้งความเอกสารหายไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลร่มเกล้า ตามรายงานประจำวันรับแจ้งเอกสารหาย
ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังยุติได้ว่า โจทก์ได้รับมอบเช็คพิพาท 3 ฉบับ สั่งจ่ายเงินจากบัญชีจำเลยที่ 1 ที่มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจากจำเลยที่ 3 โดยมีนางณัฐธยาน์ ในฐานะกรรมการจำเลยที่ 3 เป็นผู้ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 3 สลักหลังเช็คพิพาททั้งสามฉบับมอบให้แก่โจทก์ ต่อมาโจทก์นำเช็คพิพาททั้งสามฉบับไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารตามเช็คไม่ได้ เนื่องจากจำเลยที่ 1 มีคำสั่งให้ธนาคารตามเช็คระงับการจ่ายเงิน คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 ตามเนื้อความในเช็คพิพาทนั้นต่อโจทก์หรือไม่ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การต่อสู้เป็นประเด็นสำคัญข้อแรกว่า ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คพิพาททั้งสามฉบับ เป็นลายมือชื่อปลอม จากการตรวจดูลายมือชื่อจำเลยที่ 2 ในคำขอเปิดบัญชีเงินรับฝากของจำเลยที่ 1 ต่อธนาคารตามเช็คพิพาทที่โจทก์อ้าง และในใบแต่งทนายความของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในสำนวนคดีนี้ เปรียบเทียบกับลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คพิพาททั้ง 3 ฉบับ เห็นว่า มีรูปลักษณะตัวอักษรในการลงลายมือชื่อใกล้เคียงกัน ประกอบกับจำเลยที่ 2 เองก็เบิกความตอบคำถามทนายความจำเลยที่ 3 ไม่ถึงกับปฏิเสธลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คพิพาทว่าเช็คพิพาททั้งสามฉบับพยานจำไม่ได้ว่าจะได้ลงลายมือชื่อและประทับตราไว้ก่อนแล้วหรือไม่ ด้วยเหตุนี้ย่อมทำให้พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักดีกว่า ฟังได้ว่าลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คพิพาทไม่ใช่ลายมือชื่อปลอม แต่เป็นลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 กระทำการแทนจำเลยที่ 1 ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การต่อสู้เป็นประเด็นสำคัญอีกข้อว่า เช็คพิพาททั้งสามฉบับหาย จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ต้องรับผิดนั้น เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คพิพาททั้งสามฉบับ ย่อมเข้าข้อสันนิษฐานตามกฎหมายที่ระบุให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 900 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ปฏิเสธความรับผิด ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชั้นพิจารณาจำเลยที่ 2 เบิกความในฐานะพยานจำเลยที่ 1 และที่ 2 เพียงว่าเช็คพิพาทหาย และไปแจ้งความลงบันทึกในรายงานประจำวันรับแจ้งเอกสารหายต่อเจ้าพนักงานตำรวจไว้เท่านั้น ไม่ได้ดำเนินการใดต่อไปหรือแม้กระทั่งการเรียกคืนเช็คจากโจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์พึงกระทำเลย และในรายละเอียดของรายงานประจำวันรับแจ้งเอกสารหายก็ไม่ได้กล่าวว่าเช็คพิพาทสูญหายไปอย่างไร แค่กล่าวอ้างอย่างลอย ๆ ว่าไม่แน่ใจว่าเช็คหล่นหายหรือถูกขโมย ย่อมยากที่จะรับฟังเป็นจริงตามภาระการพิสูจน์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องแพ้คดี ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ