คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 884/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยขับรถในขณะเมาสุราอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 43 (2), 160 วรรคสาม กับการที่จำเลยขับรถตามหลังรถคันอื่นด้วยความเร็วในระยะกระชั้นชิดจนหยุดรถไม่ทันในขณะเมาสุรา ซึ่งเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งของการกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้รถยนต์ของจำเลยไปชนรถยนต์บุคคลอื่นได้รับความเสียหาย อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 43 (4), 157 เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกันและเป็นผลโดยตรงให้รถยนต์ดังกล่าวได้รับความเสียหาย จึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แม้การกระทำความผิดดังกล่าวจะเป็นการกระทำความผิดที่ต้องมีเจตนาและไม่มีเจตนา กับบทลงโทษบัญญัติไว้คนละมาตรา ก็ไม่ทำให้การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2547 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยขับรถยนต์บรรทุก หมายเลขทะเบียน 70 – 2364 กรุงเทพมหานคร ไปในทางตามถนนราชสีมา ในขณะเมาสุรา จำเลยขับรถตามหลังรถยนต์ หมายเลขทะเบียน ปฉ 5165 กรุงเทพมหานคร ในทิศทางเดียวกันด้วยความเร็ว เมื่อรถที่อยู่ด้านหน้าลดความเร็วลงเมื่อเข้ามาใกล้ทางแยก ในภาวะเช่นนั้นจำเลยต้องใช้ความระมัดระวังให้เพียงพอ โดยไม่ขับรถมาด้วยความเร็วและต้องขับรถให้ห่างจากรถคันหน้าพอสมควรเพื่อจะหยุดได้ทัน แต่จำเลยหาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ กลับขับรถตามหลังรถคันหน้ามาด้วยความเร็วในระยะกระชั้นชิด เมื่อรถคันที่อยู่ด้านหน้าหยุด จำเลยจึงหยุดรถไม่ทัน เป็นเหตุให้รถของจำเลยชนท้ายรถคันดังกล่าวได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (2) (4), 157 160 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (2), 160 จำคุก 2 เดือน และมาตรา 43 (4), 157 ปรับ 1,000บาท รวมจำคุก 2 เดือน และปรับ 1,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 เดือน และปรับ 500 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (2) (4), 157, 160 วรรคสาม เป็นการกระทำกรรมดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 43 (2), 160 วรรคสาม ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 2 เดือน และปรับ 6,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 จำคุก 1 เดือน และปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี ระหว่างรอการลงโทษให้คุมความประพฤติจำเลย โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 เดือนต่อครั้ง จนกว่าจะครบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ฎีกาข้อกฎหมายว่า ความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุราเป็นการกระทำที่ผู้กระทำความผิดต้องมีเจตนาในการกระทำความผิด ส่วนความผิดฐานขับรถโดยประมาทอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินนั้นเป็นการกระทำที่ไม่ต้องมีเจตนาก็เป็นความผิด แม้ความผิดทั้งสองฐานจะบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตราเดียวกัน แต่ก็ต่างอนุมาตรากันและบทลงโทษก็บัญญัติไว้คนละมาตรา การกระทำความผิดของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมนั้น เห็นว่า การที่จำเลยขับรถในขณะเมาสุราอันเป็นความผิดตามพระราชบบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (2), 160 วรรคสาม กับการที่จำเลยขับรถตามหลังรถคันอื่นด้วยความเร็วในระยะกระชั้นชิดจนหยุดรถไม่ทันในขณะเมาสุรา ซึ่งเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งของการกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้รถยนต์ของจำเลยไปชนรถยนต์ หมายเลขทะเบียน ปฉ 5165 กรุงเทพมหานคร ได้รับความเสียหาย อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกันและเป็นผลโดยตรงให้รถยนต์คันดังกล่าวได้รับความเสียหาย จึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แม้การกระทำความผิดดังกล่าวจะเป็นการกระทำความผิดที่ต้องมีเจตนาและไม่มีเจตนา กับบทลงโทษบัญญัติไว้คนละมาตราตามที่โจทก์ฎีกา ก็ไม่ทำให้การกระทำดังกล่าวเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การกระทของจำเลยเป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share