คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 884/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การฟ้องนายจ้างให้ร่วมรับผิดในผลแห่งการละเมิดที่ลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้าง ไม่จำต้องบอกกล่าวนายจ้างก่อนเพราะถือได้ว่าผิดนัดมาตั้งแต่วันละเมิดแล้ว
ผู้ซื้อรถจักรยานยนต์จากผู้ขายโดยชำระราคาเพียงครึ่งหนึ่งที่เหลือจะชำระเมื่อไรก็ได้ และผู้ขายจะโอนทะเบียนเป็นชื่อผู้ซื้อเมื่อชำระราคาให้ครบแล้ว ดังนี้ กรรมสิทธิ์ในรถได้โอนเป็นของผู้ซื้อแล้ว เมื่อมีผู้ทำละเมิดให้รถจักรยานยนต์เสียหาย ผู้ซื้อมีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายได้
ข้าราชการผู้มีสิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลจากทางราชการ และเบิกไปแล้ว จะฟ้องเรียกค่ารักษาพยาบาลจากผู้กระทำละเมิดอีกไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างมีหน้าที่ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 ผู้เป็นนายจ้าง ตามธุรกิจการงาน ตามทางการที่จ้างวันที่ 7 มีนาคม 2510 เวลากลางคืนโจทก์ขับขี่รถจักรยานยนต์ของโจทก์มุ่งหน้าไปทางพระโขนง ตามถนนสุขุมวิท พอถึงปากซอย 23ประสานมิตรจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ของจำเลยที่ 2 สวนทางมาด้วยความเร็วและมิได้ให้สัญญาณเลี้ยวหักรถเข้าซอยประสานมิตร ตัดหน้ารถของโจทก์โดยกระทันหันและกระชั้นชิด ชนรถของโจทก์อย่างแรงเป็นเหตุให้ไฟลุกไหม้รถของโจทก์เสียหาย โจทก์ได้รับอันตราย ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลตำรวจ 85 วัน ศาลแขวงพระนครใต้พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยประมาท ชนคนบาดเจ็บสาหัส จำคุก 45 วันตามคดีหมายเลขแดงที่ 3685/2510 จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ค่ารักษาพยาบาล ค่าเวชภัณฑ์ ทั้งในและนอกโรงพยาบาลตลอดจนค่าพาหนะไปกลับโรงพยาบาล ตามฟ้องข้อ 3 ก.ถึง จ. เป็นเงิน42,928 บาท ค่าเสียหายเพื่อการที่โจทก์เสียความสามารถประกอบการงานบางส่วน เป็นเงิน 20,000 บาท รถจักรยานยนต์ของโจทก์เสียหาย ใช้การไม่ได้ เป็นเงิน 6,000 บาท จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิด ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน 68,928 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลูกจ้างมีหน้าที่ขับรถของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ชนกับรถจักรยานยนต์ที่โจทก์ขับขี่มา จะเป็นเพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 หรือไม่ ไม่ทราบ ทั้งมิใช่เป็นไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จึงหาต้องร่วมรับผิดด้วยไม่ โจทก์มิได้เสียค่ารักษาพยาบาลตามจำนวนที่ฟ้องแม้เสียไปจริง ก็ไม่มากมายเช่นนั้น ค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากรถยนต์ชน 20,000 บาทไม่เป็นความจริง โจทก์ไม่ซ่อมแซมรถจักรยานยนต์เพราะต้องการค่าเสียหายมากกว่าเป็นจริง ทั้งรถดังกล่าวมิใช่ของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหาย โจทก์มีส่วนประมาทเลินเล่อ จำเลยไม่เคยรับหนังสือทวงถามจากโจทก์

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนคือค่ารักษาพยาบาลตามฟ้องข้อ ก. เป็นเงิน 8,034 บาท ค่าจ้างพยาบาลพิเศษตามข้อ ข. 960 บาท ค่าพาหนะไปโรงพยาบาลตามข้อ ค. 360 บาทค่ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลเลิศสินตามข้อ จ. 5,000 บาท ค่าซ่อมรถจักรยานยนต์ 2,651 บาท รวม 27,005 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และใช้ค่าฤชาธรรมเนียม ค่าทนายความ 500 บาทแทนโจทก์

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงินให้โจทก์เป็นเงิน 24,005 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จเฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะ นอกจากที่แก้แล้วให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ 150 บาท

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า กรณีของคดีเกิดแต่มูลละเมิดลูกหนี้ย่อมได้ชื่อว่าผิดนัดตั้งแต่วันที่ทำละเมิด ดังความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 206 บัญญัติว่า “ในกรณีหนี้อันเกิดแต่มูลละเมิด ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิด”ฉะนั้น จำเลยจึงต้องรับผิดนับแต่วันเวลาที่ทำละเมิดโดยมิพักต้องเตือนหรือบอกกล่าวก่อน

ในปัญหาที่จำเลยฎีกาว่า รถจักรยานยนต์ที่เสียหาย โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายได้นั้นได้ความจากนายพิชาญพยานโจทก์ว่า ได้ขายรถคันนี้ให้โจทก์ก่อนเกิดเหตุรถถูกชน3 เดือน เป็นเงิน 6,000 บาท โจทก์ชำระราคาให้ครึ่งหนึ่ง ส่วนที่ค้างชำระเมื่อไรก็ได้ แม้ผู้ขายจะโอนทะเบียนเป็นชื่อผู้ซื้อเมื่อชำระราคาให้ครบแล้วเห็นว่า กรรมสิทธิ์ในรถได้โอนเป็นของโจทก์ผู้ซื้อแล้ว ฉะนั้น เมื่อจำเลยทำความเสียหายแก่รถอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์แล้วโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยได้

ที่จำเลยฎีกาว่า ค่าพยาบาลในโรงพยาบาลตำรวจ โจทก์มีสิทธิเบิกเงินจำนวนนี้ได้จากทางราชการแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิให้จำเลยชดใช้อีกนั้น พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ตามกฎหมายเมื่อจำเลยเป็นผู้ทำละเมิดต่อโจทก์ให้ได้รับความเสียหายแก่ร่างกาย อนามัย แล้วจำเลยจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น แต่ปัญหาเรื่องค่าสินไหมทดแทนนั้น กฎหมายให้เท่าที่เสียหายไปจริงไม่ต้องการให้มาหากำไรจากการเรียกค่าสินไหมทดแทน ข้อเท็จจริงคดีนี้คู่ความรับกันว่าค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลตำรวจมีเพียง 8,034 บาท ซึ่งโจทก์รับว่าเป็นข้าราชการ มีสิทธิเบิกเงินจำนวนนี้ได้ และเบิกเงินจำนวนดังกล่าวมาแล้วตามสิทธิจริง พฤติการณ์เช่นนี้จะถือว่าโจทก์ยังได้รับความเสียหายอยู่ 8,034 บาท และมีสิทธิเรียกร้องเงินค่าเสียหายจำนวนนี้จากจำเลยอีกนั้นหาชอบไม่

พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เป็นเงิน 15,971 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยใช้แทนโจทก์เท่าที่ชนะ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share