คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8831/2542

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์สั่งซื้อเครื่องตกแต่งหินแกรนิต จำนวน 2 ชุด จากบริษัท ซ. ประเทศอิตาลี โจทก์ว่าจ้างจำเลยติดต่อขนส่งสินค้าดังกล่าวมาประเทศไทยจำเลยติดต่อบริษัทอินเตอร์คอสเพ็ด จำกัด ประเทศอิตาลี บริษัทอินเตอร์คอสเพ็ด จำกัด ประเทศอิตาลี จ้างจำเลยร่วม ขนส่งสินค้า ที่โจทก์สั่งซื้อจากประเทศอิตาลีมาประเทศไทย ปรากฏว่าสินค้า ของโจทก์ได้รับความเสียหาย เมื่อปรากฏว่าจำเลยประกอบธุรกิจ เป็นตัวแทนหรือนายหน้าในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ จำเลย มิได้ประกอบธุรกิจขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเอง จำเลยได้ยื่น จดทะเบียนเสียภาษีเป็นตัวแทนนายหน้ากับกรมสรรพากร บริษัทตัวแทนจะมีหน้าที่ในการติดต่อผู้ซื้อและผู้ขายเพื่อนำสินค้าส่งต่อให้แก่ ผู้ขนส่ง ในการรับสินค้าทางบริษัทตัวแทนจะออกใบเฮ้าส์บิลออฟเลดดิ้งเพื่อแสดงว่าได้รับสินค้าตามจำนวนและส่งให้แก่ผู้ขนส่งและผู้ขนส่ง จะออกหลักฐานเป็นบิลออฟเลดดิ้ง หรือใบตราส่ง จำเลยจึงเป็น ตัวแทนผู้ส่ง ไม่ใช่ผู้ขนส่งหรือผู้ร่วมขนส่ง
เรือ พ. ของจำเลยร่วมที่ 2 เดินทางมาถึงท่าเรือบริษัท ด. ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2535 โจทก์ได้รับมอบสินค้าเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์2535 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534ใช้บังคับจึงต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 624มาใช้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 4 วรรคสอง จำเลยยื่นคำร้องขอให้เรียกจำเลยร่วมทั้งสอง เข้ามาเป็นคู่ความในคดีเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2536 ซึ่งเป็นระยะเวลาเกินกว่า 1 ปี นับแต่วันส่งมอบสินค้า คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 624
ที่โจทก์ฎีกาว่า สินค้าของโจทก์ได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากความประมาทปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งผู้ขนส่งจะต้องรับผิดในมูลละเมิด เมื่อจำเลยร่วมทั้งสองถูกเรียกเข้ามาเป็นคู่ความเมื่อวันที่ 25มีนาคม 2536 ต้องถือว่าโจทก์ทราบถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันที่ 25 มีนาคม 2536 คดีโจทก์ยังไม่ขาดอายุความนั้น คดีนี้โจทก์ฟ้องโดยยกข้ออ้างอันเป็นหลักแห่งข้อหาเพียงข้อเดียวว่าจำเลยต้องรับผิดในมูลหนี้ผิดสัญญารับขนของ หาได้ใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดในมูลละเมิดแต่อย่างใดไม่ ฎีกาของโจทก์จึงเป็น ข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2534 โจทก์สั่งซื้อเครื่องตกแต่งหินแกรนิต จำนวน 2 ชุด จากบริษัทซีแม็ค จำกัด ประเทศอิตาลีในราคาเอฟ.โอ.บี เป็นเงิน 1,000,000,000 ลีร์ คิดเป็นเงินไทย 23,000,000 บาทโจทก์ว่าจ้างจำเลยขนส่งทางทะเลมายังประเทศไทยและเอาประกันภัยไว้กับบริษัทคอมเมอร์เชียลยูเนี่ยนประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด วันที่ 1กุมภาพันธ์ 2535 สินค้ามาถึงท่าเรือกรุงเทพ ปรากฏว่าสินค้าเสียหายสำรวจพบว่าเครื่องตกแต่งหินแกรนิตทั้งสองเครื่องเสียหายอันเกิดจากการรับขนของจำเลย โจทก์ต้องซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เสียหายและทำการซ่อมสินค้าเป็นเงิน 18,509,500 บาท ผู้รับประกันภัยยอมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 10,000,000 บาท ส่วนที่เหลือจำนวน 8,509,500บาท จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ การที่เครื่องตกแต่งหินแกรนิตเสียหายแตกชำรุดต้องใช้เวลาซ่อมแซม 8 เดือน เป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถผลิตหินแกรนิตออกจำหน่ายขาดรายได้วันละ 200 ตารางเมตร กำไรตารางเมตรละ900 บาท รวมรายได้ที่โจทก์ขาดไป 8 เดือน เป็นจำนวน 43,200,000 บาทค่าเสื่อมราคาของเครื่องตกแต่งหินแกรนิตที่ต้องซ่อมแซมแล้ว โจทก์ขอคิดเป็นจำนวน 10,000,000 บาท เป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 61,709,500บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2535ถึงวันฟ้องจำนวน 8,977,464.25 บาท รวมเป็นเงิน 70,686,964.25 บาทโจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน70,686,964.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน61,709,500 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นเพียงตัวแทนของบริษัทอินเตอร์คอสเพ็ดจำกัด ประเทศอิตาลี ซึ่งไม่ได้ประกอบกิจการรับขนสินค้าทางทะเล จำเลยไม่มีเรือเดินทะเลเป็นของตนเอง ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขนถ่ายสินค้าขอให้ยกฟ้อง

จำเลยขอให้หมายเรียกบริษัทแบล็คซีชิปปิ้ง จำกัด และบริษัทลาวชิปปิ้ง จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต โดยให้เรียกว่าจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ

จำเลยร่วมทั้งสองให้การว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2534 โจทก์สั่งซื้อเครื่องตกแต่งหินแกรนิต จำนวน 2 ชุด จากบริษัทซีแม็ค จำกัดประเทศอิตาลี ในราคาเอฟ.โอ.บี เป็นเงิน 1,000,000,000 ลีร์ คิดเป็นเงินไทย 23,000,000 บาท โจทก์ว่าจ้างจำเลยติดต่อขนส่งสินค้าดังกล่าวมาประเทศไทย จำเลยติดต่อบริษัทอินเตอร์ คอสเพ็ด จำกัด ประเทศอิตาลีบริษัทอินเตอร์ คอสเพ็ด จำกัด ประเทศอิตาลี จ้างบริษัทแบล็คซีชิปปิ้ง จำกัดจำเลยร่วมที่ 1 ขนส่งสินค้าที่โจทก์สั่งซื้อจากประเทศอิตาลีมาประเทศไทยโดยขนส่งมากับเรือเซอร์กาชอพ แต่ในระหว่างทางมีเหตุขัดข้อง จำเลยร่วมที่ 1 ต้องขนถ่ายสินค้ามากับเรือปีเตอร์ ดูทอร์ฟ ซึ่งเป็นเรือของจำเลยร่วมที่ 1 และเรือพัฒนา 188 ซึ่งเป็นเรือของจำเลยร่วมที่ 2 โดยบริษัทไบรท์สตาร์ชิปปิ้งจำกัด เป็นผู้ขนถ่ายสินค้าจากเรือเซอร์กาชอพ ลงเรือพัฒนา 188 ครั้นวันที่ 1กุมภาพันธ์ 2535 เรือพัฒนา 188 มาถึงท่าเรือบริษัทไทยเดินเรือทะเล จำกัด และส่งมอบสินค้าให้แก่นายท่า ปรากฏว่าสินค้าของโจทก์ที่มากับเรือพัฒนา 188 ได้รับความเสียหาย ต่อมาบริษัทคอมเมอร์เชียลยูเนี่ยนประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด ผู้รับประกันภัยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 10,000,000 บาท คดีสำหรับจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2ฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่าจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2ได้ร่วมกันขนส่งสินค้าพิพาทรายนี้

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประเด็นแรกว่า จำเลยเป็นผู้ร่วมขนส่งสินค้าพิพาทด้วยหรือไม่ โจทก์ฎีกาในทำนองว่า โจทก์ติดต่อกับจำเลยในประเทศไทยเพื่อให้ขนสินค้าพิพาทจากประเทศอิตาลีมาประเทศไทย จำเลยติดต่อตัวแทนที่ประเทศอิตาลี โดยตัวแทนที่ประเทศอิตาลีจะทำหน้าที่ติดต่อผู้ขนส่ง โดยทำหน้าที่แทนผู้ขายเป็นการแบ่งหน้าที่กันลักษณะการดำเนินงานของจำเลยเป็นการร่วมกันทำการขนส่งกับจำเลยร่วมทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของเรือนั้น เห็นว่า โจทก์มีนายขจรเดช เจริญเวชฬพัฒน์ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความตอบคำถามค้านจำเลยว่า พยานเป็นผู้ดำเนินการรับส่งสินค้าด้วยตนเอง ก่อนที่จะสั่งซื้อสินค้ารายพิพาทโจทก์เคยสั่งซื้อสินค้ารายอื่นมาก่อน การส่งสินค้าพยานสามารถติดต่อกับเรือที่ขนส่งสินค้าให้มา รับสินค้าได้โดยตรง นอกจากจะติดต่อกับเจ้าของเรือโดยตรงแล้ว จะติดต่อกับตัวแทนเรือก็ได้ การติดต่อเรือจะติดต่อกับเอเย่นต์เรือก็ได้ หรือจะให้ตัวแทนของพยานไปติดต่อกับเจ้าของเรือโดยตรงก็ได้ตัวแทนเรือจะแจ้งเวลาเรือออกและค่าขนส่ง บริษัทจำเลยได้เสนอค่าระวางตามเอกสารหมาย จ.1 ตามเอกสารหมาย จ.18 (ที่ถูกน่าจะเป็น จ.38)มีการเสนอค่าระวางมาให้พยานเลือก ตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.38จำเลยได้ระบุท้ายเอกสารว่าเป็น เฟรจ ฟอร์เวิดเดอร์ (FREIGHT FORWARDERS)นอกจากนี้นางศิริวรรณ เฉลิมเตียวสกุล พยานโจทก์อีกปากหนึ่งเบิกความตอบคำถามค้านจำเลยว่า โดยปกติประเพณีการขนส่งทางทะเล จะมีบริษัทเฟรจ ฟอร์เวิดเดอร์ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งจะเป็นผู้ให้บริการเกี่ยวกับการจัดขนส่งสินค้าให้แก่ผู้ส่งของรวมทั้งติดต่อถึงผู้ขนส่งแทนผู้ส่งสินค้าด้วยในการติดต่อกับเฟรจ ฟอร์เวิดเดอร์ เฟรจ ฟอร์เวิดเดอร์จะออกเอกสารเรียกว่าเฮ้าส์บิลออฟเลดดิ้ง (HOUSE BILL OF LADING) ให้แก่ผู้ส่งด้วยตามเอกสารหมาย จ.5 แสดงว่าบริษัทอินเตอร์ คอสเพ็ด จำกัด ประเทศอิตาลี เป็นเฟรจฟอร์เวิดเดอร์ เท่าที่ทราบจำเลยประกอบธุรกิจเป็นเฟรจฟอร์เวิดเดอร์เช่นเดียวกัน คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองปากจึงเจือสมกับคำเบิกความของนายสวัสดิ์ ไหวพริบ พยานจำเลยซึ่งเบิกความว่า จำเลยประกอบธุรกิจเป็นตัวแทนหรือนายหน้าในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศจำเลยมิได้ประกอบธุรกิจขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเอง จำเลยได้ยื่นจดทะเบียนเสียภาษีเป็นตัวแทนนายหน้ากับกรมสรรพากร ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.1 บริษัทอินเตอร์ คอสเพ็ดจำกัด ประเทศอิตาลี ประกอบธุรกิจเป็นตัวแทนนายหน้าขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเช่นเดียวกับจำเลย ในการเป็นตัวแทนขนส่งสินค้าระหว่างประเทศมีชื่อเฉพาะว่า เฟรจ ฟอร์เวิดดิ้ง หรือ ฟอร์เวิดดิ้ง เอเย่นต์ บริษัทตัวแทนจะมีหน้าที่ในการติดต่อผู้ซื้อและผู้ขายเพื่อนำสินค้าส่งต่อให้แก่ผู้ขนส่งในการรับสินค้าทางบริษัทตัวแทนจะออกใบเฮ้าส์บิล ออฟเลดดิ้งเพื่อแสดงว่าได้รับสินค้าตามจำนวนและส่งให้แก่ผู้ขนส่งและจะออกหลักฐานเป็นบิลออกเลดดิ้ง หรือใบตราส่ง ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยเป็นตัวแทนผู้ส่งไม่ใช่ผู้ขนส่งหรือผู้ร่วมขนส่ง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สินค้าพิพาทที่ขนส่งรายนี้

มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ต่อไปว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์สำหรับจำเลยร่วมที่ 1 และที่ 2 ขาดอายุความแล้วหรือไม่ ข้อเท็จจริงในประเด็นนี้ฟังยุติว่า เรือพัฒนา 188 ของจำเลยร่วมที่ 2 เดินทางมาถึงท่าเรือบริษัทเดินทะเล จำกัด ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2535 โจทก์ได้รับมอบสินค้าเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2535 ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.31ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534ใช้บังคับจึงต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 624มาใช้บังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 4 วรรคสอง ปรากฏว่าจำเลยยื่นคำร้องขอให้เรียกจำเลยร่วมทั้งสองเข้ามาเป็นคู่ความในคดีเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2536 ซึ่งเป็นระยะเวลาเกินกว่า 1 ปี นับแต่วันส่งมอบสินค้าคดีของโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 624

ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า สินค้าของโจทก์ได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากความประมาทปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งผู้ขนส่งจะต้องรับผิดในมูลละเมิด เมื่อจำเลยร่วมทั้งสองถูกเรียกเข้ามาเป็นคู่ความเมื่อวันที่ 25มีนาคม 2536 ต้องถือว่าโจทก์ทราบถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันที่ 25 มีนาคม 2536 คดีโจทก์ยังไม่ขาดอายุความนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องคดีโดยยกข้ออ้างอันเป็นหลักแห่งข้อหาเพียงข้อเดียวว่า จำเลยต้องรับผิดในมูลหนี้ผิดสัญญารับขนของ หาได้ใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดในมูลละเมิดแต่อย่างใดไม่ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ต้องห้ามมิให้โจทก์ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีการับวินิจฉัยให้ไม่ได้”

พิพากษายืน

Share