แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อเท็จจริงฟังได้เพียงว่า ธ. นำผู้เสียหายมาฝากไว้กับ ส. ภริยาของจำเลยช่วยดูแลเพื่ออำนวยความสะดวกในการศึกษาของผู้เสียหาย ดังนั้น อำนาจปกครองยังคงอยู่กับ ธ. ผู้เป็นบิดาของผู้เสียหายการกระทำของจำเลยจึงไม่เข้าเหตุฉกรรจ์ตาม ป.อ. มาตรา 285
โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่าจำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายอายุยังไม่เกินสิบสามปีซึ่งมิใช่ภริยาของจำเลยหลายครั้งในระยะเวลาหลายวัน โดยมิได้บรรยายว่ากระทำผิดกี่กรรมและเมื่อใดบ้าง ไม่ชัดเจนว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยหลายกรรม ดังนี้ จำเลยย่อมมีความผิดเพียงกรรมเดียว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 276, 277 วรรคสอง, 279, 285
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 285 รวม 4 กระทง จำคุกกระทงละ 9 ปี 4 เดือน รวมจำคุก 36 ปี 16 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคแรก มาตรา 277 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 80 เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานพยายามกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปี อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 เรียงกระทงลงโทษตามมาตรา 91 จำคุกกระทงละ 6 ปี รวม 4 กระทง จำคุก 24 ปี ข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า เด็กหญิงสุวรรณ ผู้เสียหายอายุ 11 ปีเศษ เป็นบุตรของนายธีรยุทธ ส่วนจำเลยเป็นสามีของนางสังวาลย์ น้าของนายธีรยุทธ ก่อนเกิดเหตุนายธีรยุทธมีภริยาใหม่ซึ่งไม่ถูกกับผู้เสียหาย นายธีรยุทธจึงพาผู้เสียหายมาฝากอยู่ที่บ้านของนางสังวาลย์ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และจำเลยว่า จำเลยกระทำผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราและกระทำอนาจารผู้เสียหายหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายเป็นประจักษ์พยานเบิกความโดยพยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า ในช่วงวันเวลาเกิดเหตุจำเลยเข้าไปในมุ้งของผู้เสียหายแล้วลงมือกระทำอนาจารและข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายโดยใช้กำลังประทุษร้าย พยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ส่วนปัญหาว่าการกระทำของจำเลยฐานข่มขืนกระทำชำเราเป็นความผิดสำเร็จหรือไม่นั้น ได้ความจากคำเบิกความของนางแววตาพยานโจทก์ซึ่งตอบทนายจำเลยถามค้าน ประกอบกับได้ความจากผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ และบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของแพทย์หญิงดลจรัส ผู้ตรวจร่างกายผู้เสียหาย จากการตรวจภายในไม่พบร่องรอยฉีกขาดของเยื่อพรหมจารีของผู้เสียหายและไม่พบบาดแผลใด เมื่อพิจารณาประกอบพฤติการณ์แห่งคดีที่ผู้เสียหายมีรูปร่างเล็กกว่าเด็กในวัยเดียวกันและไม่รู้เดียงสาในเรื่องเพศสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงกับคำบอกเล่าของผู้เสียหายที่แจ้งแก่นางแววตาว่าผู้เสียหายไม่เจ็บและไม่มีเลือดออกขณะจำเลยลงมือข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย ทำให้มีข้อสงสัยตามสมควรว่าอวัยวะเพศของจำเลยล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะเพศของผู้เสียหายหรือไม่ ซึ่งต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง โดยฟังข้อเท็จจริงว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี โดยใช้กำลังประทุษร้ายและพยายามข่มขืนกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปี โดยเด็กหญิงอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ฎีกาของโจทก์และจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โจทก์กล่าวในฟ้องว่าผู้เสียหายเป็นผู้อยู่ในความปกครองของจำเลยนั้น ข้อเท็จจริงคงฟังได้เพียงว่านายธีรยุทธนำผู้เสียหายมาฝากไว้กับนางสังวาลย์ภริยาของจำเลยช่วยดูแลเพื่อความสะดวกในการศึกษาของผู้เสียหาย ดังนั้น อำนาจปกครองยังคงอยู่กับนายธีรยุทธผู้เป็นบิดาของผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยจึงไม่เข้าเหตุฉกรรจ์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 285 ที่จะทำให้จำเลยได้รับโทษหนักขึ้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคสอง และมาตรา 277 วรรคสอง (เดิม) ประกอบมาตรา 80 ส่วนที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคแรก มานั้นเป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง และเนื่องจากโจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่าจำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายอายุยังไม่เกินสิบสามปี ซึ่งมิใช่ภริยาของจำเลยหลายครั้งในระยะเวลาหลายวัน โดยมิได้บรรยายว่ากระทำผิดกี่กรรมและเมื่อใดบ้าง ไม่ชัดเจนว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยหลายกรรม ดังนี้ จำเลยย่อมมีความผิดเพียงกรรมเดียว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ลงโทษจำเลยฐานพยายามกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปีรวม 4 กระทงมานั้นจึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
อนึ่ง ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกามีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2550 มาตรา 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 277 เดิม และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับ พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 279 วรรคสอง มาตรา 277 วรรคสอง (เดิม) ประกอบด้วยมาตรา 80 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานพยายามกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปีอันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1