คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 882/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้าง กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานในสถานประกอบการของนายจ้าง ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิม เรื่องเงินเดือน ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุดเงินโบนัสและสวัสดิการของโจทก์และลูกจ้างอื่นที่เป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 การทำข้อตกลงดังกล่าวของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการดำเนินกิจการอันกระทบกระเทือนถึงส่วนได้เสียของสมาชิกเป็นส่วนรวม จะกระทำได้ก็แต่โดยมติของที่ประชุมใหญ่ของสมาชิกสหภาพแรงงาน ตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 103(2)จำเลยที่ 1 แจ้งข้อเรียกร้องต่อจำเลยที่ 2 วันรุ่งขึ้นจำเลยที่ 2ได้แจ้งข้อเรียกร้องสวนทางต่อจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ได้ตั้งผู้แทนลูกจ้างรวม 7 คน ในการเจรจาตามข้อเรียกร้องของจำเลยที่ 1และเมื่อจำเลยที่ 2 แจ้งข้อเรียกร้องสวนทาง จำเลยที่ 2 ก็แต่งตั้งผู้แทนลูกจ้างชุดเดิม เป็นผู้แทนในการเจรจาเช่นเดียวกันโดยได้รับอนุมัติจากมติของที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี ผู้แทนลูกจ้างในการเจรจาของจำเลยที่ 2 จึงมีอำนาจบริบูรณ์ในการเจรจาและทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกับจำเลยที่ 1 โดยไม่ต้องขออนุมัติจากมติของที่ประชุมใหญ่อีก และมติที่ประชุมใหญ่ของจำเลยที่ 2 ที่อนุมัติให้จำเลยที่ 2 แจ้งข้อเรียกร้อง ย่อมมีผลเป็นการอนุมัติให้จำเลยที่ 2 รับข้อเรียกร้องและทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้องนั้นด้วย และพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้นำข้อเรียกร้องของทั้งสองฝ่ายมารวมเจรจาเข้าด้วยกัน แล้วเจรจาตกลงโดยทำเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างข้อตกลงดังกล่าวจึงได้กระทำขึ้นตามข้อเรียกร้องของจำเลยที่ 2 ที่ได้รับอนุมัติจากมติที่ประชุมใหญ่ด้วย ถือว่าผู้แทนของจำเลยที่ 2 กระทำภายในขอบอำนาจที่ได้รับอนุมัติจากมติที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีแล้วข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างจึงมีผลใช้บังคับได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2532 จำเลยที่ 1 ได้แจ้งข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างต่อจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ได้ตั้งผู้แทนเข้าร่วมเจรจา จำนวน 7 คน ต่อมาผู้แทนของจำเลยที่ 2 ได้ลงชื่อในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2532 ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลกระทบกระเทือนถึงส่วนได้เสียของสมาชิกเป็นส่วนร่วม โดยไม่ผ่านมติของที่ประชุมใหญ่จำเลยที่ 1 ก็ทราบดี แต่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ร่วมลงนามในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ทั้งได้นำไปจดทะเบียนที่สำนักงานแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อจะประกาศใช้บังคับแก่สมาชิกของจำเลยที่ 2และลูกจ้าง การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่16 พฤศจิกายน 2532 จึงเป็นโมฆะ นำมาใช้บังคับแก่โจทก์ทั้งสองและสมาชิกของจำเลยที่ 2 ไม่ได้ ขอให้พิพากษาว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2532 ระหว่างจำเลยที่ 1กับจำเลยที่ 2 เป็นโมฆะ และให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ไปจดทะเบียนยกเลิกหรือเพิกถอนข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ฉบับลงวันที่ 16 พฤศจิกายน2532 ถ้าจำเลยทั้งสองไม่ไปจดทะเบียนยกเลิกหรือเพิกถอน ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแสดงเจตนาแทนจำเลยทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ขณะนี้โจทก์ทั้งสองไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และไม่ได้เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานเนชั่นแนลไทยจำเลยที่ 2 จึงไม่มีส่วนได้เสียในข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2532 นั้น เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2532จำเลยที่ 1 ได้แจ้งข้อเรียกร้องขอเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างต่อจำเลยที่ 2 ต่อมาวันที่ 29 กันยายน 2532 จำเลยที่ 2ได้แจ้งข้อเรียกร้องต่อจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้เจรจากันภายใน 3 วัน และผ่านขั้นตอนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานจากพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มีการนัดหยุดงานและปิดงาน ต่อมาจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้เจรจาจนตกลงกันได้ โดยทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2532 ซึ่งจำเลยที่ 1 ที่ 2 และพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน ได้ลงชื่อไว้ด้วย จำเลยที่ 1 ได้นำไปจดทะเบียนประกาศใช้ตามกฎหมายแล้วข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่16 พฤศจิกายน 2532 จึงชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ทำขึ้นเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2532 ระหว่างจำเลยที่ 1 ที่ 2 ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ทำขึ้นตามเอกสารหมาย จ.5 เมื่อเปรียบเทียบกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิมตามเอกสารหมาย จ.6 จ.7 แล้วมีผลกระทบกระเทือนถึงส่วนได้เสียของสมาชิกจำเลยที่ 2 เป็นส่วนรวมจำเลยที่ 2 ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเอกสารหมาย จ.5 โดยไม่ได้ผ่านมติที่ประชุมใหญ่ของจำเลยที่ 2 ขัดต่อบทบัญญัติกฎหมาย และขัดกับข้อบังคับของจำเลยที่ 2 จึงไม่มีผลใช้บังคับ ขณะที่ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามเอกสารหมาย จ.5 โจทก์ทั้งสองเป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 จึงมีสิทธิฟ้องเพิกถอนได้ พิพากษาว่าหนังสือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างฉบับลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2532 เป็นโมฆะให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ไปจดทะเบียนยกเลิกหรือเพิกถอนเสียหากจำเลยทั้งสองไม่ไป ให้ถือเอาคำพิพากษาศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าสถานประกอบกิจการของจำเลยที่ 1 มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิมใช้บังคับอยู่ตามเอกสารหมาย จ.6 จ.7 จำเลยที่ 2 เป็นสหภาพแรงงานมีข้อบังคับใช้บังคับอยู่ตามเอกสารหมาย จ.4 เมื่อวันที่ 28 กันยายน2532 จำเลยที่ 1 ได้แจ้งข้อเรียกร้องต่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นสภาพแรงงานตัวแทนของลูกจ้างที่เป็นสมาชิก ขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามข้อเรียกร้องเอกสารหมาย จ.2 เมื่อวันที่ 29 เดือนเดียวกันจำเลยที่ 2 ก็ได้แจ้งข้อเรียกร้องต่อจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.3 ในการแจ้งข้อเรียกร้องของจำเลยที่ 2 นั้นจำเลยที่ 2 ได้รับอนุมัติจากมติของที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปีครั้งที่ 13 ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2532 วาระการประชุมที่ 4 ข้อ 2แล้วตามเอกสารหมาย จ.1 จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้แต่งตั้งผู้แทนในการเจรจาเข้าเจรจากันแล้วแต่ไม่สามารถตกลงกันได้ พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้เข้าไกล่เกลี่ยตามขั้นตอนแล้วก็ไม่สามารถตกลงกันได้จนมีการปิดงานและนัดหยุดงานกันขึ้น ในที่สุดผู้แทนในการเจรจาของทั้งสองฝ่ายสามารถตกลงกันได้และได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างขึ้น ตามเอกสารหมาย จ.5 พิเคราะห์ตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเอกสารหมาย จ.5 แล้วเห็นว่า เป็นข้อตกลงที่เปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเดิม เรื่องเงินเดือน ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด เงินโบนัสและสวัสดิการของโจทก์ทั้งสองและลูกจ้างอื่นที่เป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 การทำข้อตกลงดังกล่าวของจำเลยที่ 2จึงเป็นการดำเนินกิจการอันอาจกระทบกระเทือนถึงส่วนได้เสียของสมาชิกเป็นส่วนรวม ตามปกติจำเลยที่ 2 จะกระทำได้ก็แต่มติของที่ประชุมใหญ่ของสมาชิกสหภาพแรงงานเท่านั้น ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 103(2) และตามข้อบังคับของจำเลยที่ 2 เอกสารหมายจ.4 ข้อ 19.9 แต่ขณะที่จำเลยที่ 2 ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามเอกสารหมาย จ.5 นั้น จำเลยที่ 2 ไม่ได้รับความเห็นชอบจากมติของที่ประชุมใหญ่ คดีคงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามเอกสารหมาย จ.5เป็นโมฆะเพราะขัดต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา103(2) และข้อบังคับของจำเลยที่ 2 ตามเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 19.9หรือไม่ เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ได้แจ้งข้อเรียกร้องต่อจำเลยที่ 2เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2532 ตามเอกสารหมาย จ.2 วันรุ่งขึ้นจำเลยที่ 2 ก็ได้แจ้งข้อเรียกร้องสวนทางต่อจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมายจ.3 ตามข้อเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นฝ่ายผู้รับข้อเรียกร้องจำเลยที่ 2 ได้แต่งตั้งผู้แทนลูกจ้างในการเจรจา 7 คน คือนายวิวัฒน์ ไฝต๊ะ นายสวัสดิ์ มีศิริ นายทวีศักดิ์ สีหบุตรนายอำพร สุพกรรม นายชาลี ลอยสูง นายสมัย ขุ่มด้วง และนายประมวยวรรณสัมผัส ตามเอกสารหมาย ล.8 เมื่อจำเลยที่ 2 แจ้งข้อเรียกร้องสวนทางต่อจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ก็ได้แต่งตั้งบุคคลดังกล่าวเป็นผู้แทนลูกจ้างในการเจรจาเหมือนกันตามเอกสารหมาย จ.3 ผู้แทนลูกจ้างในการเจรจาข้อเรียกร้องทั้งสองรายของจำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้แทนชุดเดียวกัน ส่วนข้อเรียกร้องของจำเลยที่ 2 พร้อมรายชื่อผู้แทนลูกจ้างในการเจรจาตามเอกสารหมาย จ.3 นั้น จำเลยที่ 2 ได้กระทำขึ้นโดยได้รับอนุมัติจากมติของที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี ครั้งที่ 13ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2532 วาระการประชุมที่ 4 ข้อ 2 ตามเอกสารหมาย จ.1 ผู้แทนลูกจ้างในการเจรจาของจำเลยที่ 2 จึงมีอำนาจบริบูรณ์ในการเจรจาและทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกับจำเลยที่ 1 ได้โดยไม่ต้องขออนุมัติจากมติของที่ประชุมใหญ่อีก นอกจากนี้มติของที่ประชุมใหญ่ของจำเลยที่ 2 ที่อนุมัติให้จำเลยที่ 2 แจ้งข้อเรียกร้องนั้นย่อมมีผลเป็นการอนุมัติให้จำเลยที่ 2 รับข้อเรียกร้องและทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้องนั้นได้ด้วย ในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ตามข้อเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ที่ 2 นั้น พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานก็ได้นำเอาข้อเรียกร้องของทั้งสองฝ่ายมารวมเจรจาเข้าด้วยกัน ดังปรากฏตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเอกสารหมาย จ.5ในข้อความตอนต้นว่า “ตามหนังสือเรียกร้องของบริษัท เนชั่นแนลไทยจำกัด ลงวันที่ 28 กันยายน 2532 และหนังสือเรียกร้องของสหภาพแรงงานเนชั่นแนลไทย ลงวันที่ 29 กันยายน 2532 นั้น บริษัท เนชั่นแนลไทยจำกัด และสหภาพแรงงานเนชั่นแนลไทย ได้ทำการเจรจาตกลงกันเป็นที่เรียบร้อยแล้วดังนี้” ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพจ้างตามเอกสารหมาย จ.5จึงได้กระทำขึ้นตามข้อเรียกร้องของจำเลยที่ 2 ที่ได้รับอนุมัติจากมติของที่ประชุมใหญ่ด้วยการทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามเอกสารหมาย จ.5 ถือได้ว่าผู้แทนของสหภาพแรงงานจำเลยที่ 2 ได้กระทำภายในขอบเขตอำนาจที่ได้รับอนุมัติจากมติของที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี ครั้งที่ 13 ตามเอกสารหมาย จ.1 แล้ว หาจำเป็นที่จะต้องได้รับอนุมัติเป็นการเฉพาะอีกไม่เพราะเป็นกิจการส่วนหนึ่งของการแจ้งข้อเรียกร้องที่จำเลยที่ 2 ได้รับอนุมัติจากมติของที่ประชุมใหญ่ล่วงหน้าแล้ว ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามเอกสารหมาย จ.5 จึงมีผลใช้บังคับได้ ไม่เป็นโมฆะเพราะขัดต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 103(2) และข้อบังคับของจำเลยที่ 2 ตามเอกสารหมายจ.5 ข้อ 19.9 แต่อย่างใด…”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์.

Share