แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หนี้ค่าภาษีอากรซึ่งมีบุริมสิทธิสามัญนั้นต้องเป็นหนี้ที่ลูกหนี้ยังค้างชำระอยู่ในปีปัจจุบัน และก่อนนั้นขึ้นไปปีหนึ่ง.
หนี้ค่าภาษีอากรปี 2503 ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินตรวจพบและประเมินเพิ่มให้จำเลยชำระเมื่อปี 2505. แม้จำเลยจะอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และอุทธรณ์ต่อไปยังศาลก็ไม่เป็นการทุเลาการเสียภาษีอากร. เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากอธิบดี(กรมสรรพากร).
เมื่อผู้ร้องมิได้อ้างว่า มีการอนุมัติของอธิบดีให้รอคำวินิจฉัยอุทธรณ์. ย่อมไม่มีเหตุที่จะอ้างว่า.หนี้ค่าภาษีอากรถึงกำหนดชำระเมื่อมีคำพิพากษาถึงที่สุด.
การที่จำเลยยื่นคำร้องขอผัดและผ่อนชำระภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89ทวิ. แต่อธิบดีไม่อนุญาต. ไม่มีผลทำให้หนี้ถึงกำหนดภายหลัง.
ย่อยาว
คดีนี้โจทก์บังคับคดีนำยึดทรัพย์ ก่อนขายทรัพย์ เมื่อวันที่ 16มีนาคม 2509 ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า จำเลยมีหนี้ค่าภาษีอากรคือภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีการค้ารวมทั้งสิ้นหนึ่งล้านบาทเศษซึ่งผู้ร้องขอรับชำระเป็นหนี้บุริมสิทธิสามัญ โจทก์คัดค้านว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดไม่ใช่นิติบุคคลไม่มีสิทธิยื่นคำร้องและไม่ใช่หนี้บุริมสิทธิ ศาลชั้นต้นงดไต่สวน และมีคำสั่งว่า หนี้ภาษีอากรเป็นบุริมสิทธิเฉพาะในปีปัจจุบัน และก่อนนั้นปีหนึ่ง หนี้รายนี้เป็นค่าภาษีอากรพ.ศ. 2503 และ 2505 ไม่เป็นบุริมสิทธิ ขอเฉลี่ยดังนี้ไม่ได้ให้ยกคำร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้ร้องฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2509บุริมสิทธิในหนี้ค่าภาษีอากรที่ค้างชำระในปีปัจจุบันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 256 จึงเป็นหนี้ที่ลูกหนี้ค้างชำระอยู่ใน พ.ศ. 2509 และย้อนขึ้นไปใน พ.ศ. 2508 อีกปีหนึ่งคดีได้ความว่า หนี้ค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นค่าภาษีในปีพ.ศ. 2503 ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินตรวจพบและประเมินเพิ่มให้จำเลยชำระตามหนังสือลงวันที่ 5 กันยายน 2505 ภายใน30 วัน ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 27 ถึงแม้จำเลยจะอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และอุทธรณ์ต่อไปยังศาลตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 แต่มาตรา 31 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยฉบับที่ 18 พ.ศ. 2504 มาตรา 9 บัญญัติว่า “การอุทธรณ์ไม่เป็นการทุเลาการเสียภาษีอากรถ้าไม่เสียภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ให้ถือเป็นภาษีอากรค้างตามมาตรา 12 เว้นแต่กรณีที่ผู้อุทธรณ์ได้รับอนุมัติจากอธิบดีให้รอคำวินิจฉัยอุทธรณ์หรือคำพิพากษาได้ก็ให้มีหน้าที่ชำระภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์หรือได้รับทราบคำพิพากษาได้ ก็ให้มีหน้าที่ชำระภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์หรือได้รับทราบคำพิพากษาถึงที่สุด แล้วแต่กรณี”เหตุนี้หนี้ค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลที่จำเลยจะต้องชำระตามหนังสือแจ้งประเมินจึงถึงกำหนด เจ้าพนักงานอาจบังคับเอาได้ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 12 ผู้ร้องมิได้อ้างว่ามีการอนุมัติให้รอคำวินิจฉัยอุทธรณ์แต่ประการใด จึงไม่มีเหตุที่จะอ้างว่า หนี้รายนี้ถึงกำหนดเมื่อมีคำพิพากษาถึงที่สุด ส่วนค่าภาษีการค้า ก็ได้ความว่า เจ้าพนักงานประเมินแจ้งให้จำเลยทราบและชำระก่อน พ.ศ. 2508 จึงไม่เป็นหนี้บุริมสิทธิการที่จำเลยยื่นคำร้องขอผัดและผ่อนชำระตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89ทวิแต่อธิบดีไม่อนุญาต ไม่มีผลทำให้หนี้ถึงกำหนดในภายหลัง พิพากษายืน.