คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8810/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยตกลงทำสัญญาเช่ารถยนต์คันพิพาทกับโจทก์ตามเอกสารซึ่งระบุว่า เป็นสัญญาให้เช่าทรัพย์สินแบบลิสซิ่ง มีกำหนด 48 เดือน ค่าเช่าเดือนละ 19,100 บาท หรือคิดเป็นเงินค่าเช่าทั้งหมด 916,800 บาท และเงินประกันการเช่าอีก 57,300 บาท เมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าจำเลยจะซื้อทรัพย์สินที่ให้เช่าหรือรถยนต์คันพิพาทได้ในราคา 200,000 บาท จึงรวมเป็นเงินที่ผู้เช่าหรือจำเลยจะต้องชำระทั้งหมดไม่น้อยกว่า 1,174,100 บาท โดยโจทก์คิดเป็นราคารถยนต์ คันพิพาทจำนวน 803,738.32 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่ม 56,261.68 บาท สัญญาดังกล่าวถือได้ว่าเป็นสัญญาเช่าทรัพย์อย่างหนึ่ง ตามนัยแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง โดยอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง
โจทก์และจำเลยต่างมีความประสงค์ในทางสุจริตตามนัยแห่งมาตรา 6 และมาตรา 368 ว่า ต้องการจะใช้บังคับแก่กันในลักษณะเช่าทรัพย์หรือเช่าทรัพย์สินแบบลิสซิ่ง จึงต้องอนุวัตน์ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของคู่สัญญาดังกล่าวเป็นสำคัญ อีกทั้งเงื่อนไขต่าง ๆ ในสัญญาว่าด้วยทรัพย์สินที่เช่า ระยะเวลาการเช่า ค่าเช่าและเงินประกันการเช่า การประกันภัยและหน้าที่ของผู้เช่า การสูญหายและเสียหายของทรัพย์สินที่เช่า การผิดสัญญา และการบอกเลิกสัญญาของผู้เช่า ล้วนแล้วแต่เป็นลักษณะของการเช่าทรัพย์สินตามนัยแห่งมาตรา 537 ถึงมาตรา 564 ทั้งสิ้น แม้จะมีข้อตกลงเป็นพิเศษที่กำหนดให้ผู้เช่าสามารถเลือกซื้อทรัพย์สินที่เช่าได้โดยต้องส่งคำบอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรให้แก่ผู้ให้เช่าทราบไม่น้อยกว่า 60 วัน ก่อนสัญญาเช่าจะสิ้นสุดลงก็เป็นแต่เพียงข้อยกเว้นในทางให้สิทธิแก่ผู้เช่าบางประการในการเลือกซื้อทรัพย์สินที่เช่าหรือไม่ก็ได้เท่านั้น กรณีมิใช่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต่างได้มีเจตนาที่จะโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่กันมาตั้งแต่เริ่มแรกดังสัญญาเช่าซื้อ สัญญาเช่ารถยนต์แบบลิสซิ่งรายพิพาทจึงไม่ต้องปิดอากรแสตมป์ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 17/2543)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน ๓๑๘,๗๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๓๗ จำเลยที่ ๑ ได้ตกลงทำสัญญาเช่ารถยนต์คันพิพาทกับโจทก์ โดยมีจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ ๑ ซึ่งตามสัญญาเช่าทรัพย์ฉบับดังกล่าวหรือตามเอกสารหมาย จ.๖ ระบุว่า สัญญาให้เช่าทรัพย์สินแบบลิสซิ่ง มีกำหนด ๔๘ เดือน ค่าเช่าเดือนละ ๑๙,๑๐๐ บาท หรือคิดเป็นเงินค่าเช่าทั้งหมด ๙๑๖,๘๐๐ บาท และเงินประกันการเช่าอีก ๕๗,๓๐๐ บาท เมื่อครบกำหนดสัญญาเช่าจำเลยที่ ๑ จะซื้อทรัพย์สินที่ให้เช่าหรือรถยนต์คันพิพาทได้ในราคา ๒๐๐,๐๐๐ บาท จึงรวมเป็นเงินที่ผู้เช่าหรือจำเลยที่ ๑ จะต้องชำระทั้งหมดไม่น้อยกว่า ๑,๑๗๔,๑๐๐ บาท โดยโจทก์คิดราคารถยนต์คันพิพาทจำนวน ๘๐๓,๗๓๘.๓๒ บาท และภาษีมูลค่าเพิ่ม ๕๖,๒๖๑.๖๘ บาท คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า สัญญาเช่าทรัพย์ รายพิพาทเป็นสัญญาเช่าซื้อหรือไม่ โดยข้อนี้โจทก์ฎีกาว่า สัญญาเช่าทรัพย์ดังกล่าวหรือสัญญาเช่าทรัพย์สินแบบลิสซิ่งถือเป็นสัญญาเช่าทรัพย์อย่างหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๓๗ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า สัญญาให้เช่าทรัพย์แบบลิสซิ่งตามเอกสารหมาย จ.๖ ดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นสัญญาเช่าทรัพย์อย่างหนึ่งตาม นัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔ วรรคสอง โดยอาศัยเทียบบทกฎมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง เพราะ บทกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังไม่มีการบัญญัติใช้โดยเฉพาะ อีกประการหนึ่ง คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายหรือโจทก์และจำเลยที่ ๑ ต่างก็มีความประสงค์ในทางสุจริตตามนัยแห่งมาตรา ๖ และมาตรา ๓๖๘ ว่า ต้องการจะใช้บังคับแก่กันในลักษณะ เช่าทรัพย์หรือเช่าทรัพย์สินแบบลิสซิ่ง จึงควรที่จะต้องอนุวัฒน์ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของคู่สัญญาดังกล่าวเป็นสำคัญ หาควรที่จะตีความไปในทางจำกัดสิทธิจนเป็นการลิดรอนเจตนาของคู่กรณีอันอาจก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นได้ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวโดยชัดเจน อีกทั้งเมื่อพิจารณาถึงเงื่อนไขต่าง ๆ ในสัญญาเช่าทรัพย์สินแบบลิสซิ่งตามเอกสารหมาย จ.๖ ข้อ. ๑ ว่าด้วยทรัพย์สินที่เช่า ข้อ . ๒ ระยะเวลาการเช่า ข้อ. ๓ ค่าเช่าและเงินประกัน การเช่า ข้อ. ๕ การประกันภัยและข้อ. ๖ ถึง ข้อ. ๙ เรื่องหน้าที่ของผู้เช่า การสูญหายและเสียหายของทรัพย์สินที่เช่า การผิดสัญญา และการบอกเลิกสัญญาของผู้เช่าล้วนแล้วแต่เป็นลักษณะของการเช่าทรัพย์สินตามนัยแห่งมาตรา ๕๓๗ ถึง มาตรา ๕๖๔ ทั้งสิ้น แม้มีข้อตกลงเป็นพิเศษในข้อ ๓.๒ ที่กำหนดให้ผู้เช่าสามารถเลือกซื้อทรัพย์สินที่เช่าได้โดยต้องส่งคำบอกกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรให้แก่ผู้ให้เช่าทราบไม่น้อยกว่า ๖๐ วัน ก่อนสัญญาเช่าจะสิ้นสุดลงก็เป็นแต่เพียงข้อยกเว้นในทางให้สิทธิแก่ผู้เช่าบางประการในการเลือกซื้อทรัพย์สินที่เช่าหรือไม่ก็ได้เท่านั้น ส่วนค่าเสียหายของคู่กรณีอาจ เรียกร้องต่อกันได้หรือไม่ เพียงใด ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่มิใช่เรื่องที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายต่างได้มีเจตนาที่จะโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่กันมาตั้งแต่เริ่มแรกดังสัญญาเช่าซื้อ ตามมาตรา ๕๗๒ ถึง ๕๗๔ ฉะนั้น สัญญาเช่าทรัพย์สินรายพิพาทจึงไม่ต้องปิดอากรแสตมป์ ตามประมวลรัษฏากร มาตรา ๑๑๘ คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองไม่ต้องด้วยความเห็นของ ศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษายกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาและมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลในชั้นนี้ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งในเวลาพิพากษาใหม่ .

Share