แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ไม่มีบทกฎหมายในที่ใดว่า คนไทยจะถือกรรมสิทธิ์ที่ดินจะต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนก่อน หรือว่าจะมีกฎหมายให้อำนาจพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนให้หน่วงเหนี่ยวขัดขวางการรับจดทะเบียนไว้ได้ตามอำเภอใจพระราชบัญญัติว่าด้วยพนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2486 ซึ่งแก้ไข พ.ศ.2492 ก็ได้แต่เพียงบัญญัติให้บุคคลตามตำแหน่งหน้าที่ระบุไว้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ขึ้นตามประมวลกฎหมายเท่านั้น หาได้มีข้อความใดที่จะให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจอนุญาตการซื้อขาย หรือหน่วงเหนี่ยวขัดขวางการขอจดทะเบียนนิติกรรมของราษฎรไว้ได้ไม่ ตรงกันข้ามกลับมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 26 ระบุไว้อีกว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในทรัพย์สินฯลฯ ทั้งนี้ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย” ฉะนั้นการที่ราษฎรคนไทยขอให้นายอำเภอในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ดำเนินการเพื่อทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินให้ตน แต่นายอำเภออ้างว่าผู้ร้องมีบิดาเป็นคนต่างด้าว จึงต้องทำการสอบสวน และส่งเรื่องไปให้กรมที่ดินก่อนตามที่กระทรวงมหาดไทยวางระเบียบไว้ โดยที่ปรากฏอยู่ตามคำพิพากษาของศาลแล้วว่า ผู้นั้นเป็นคนสัญชาติไทย นั้น ย่อมเป็นข้ออ้างที่ปราศจากมูลที่จะหน่วงเหนี่ยวขัดขวางการรับจดทะเบียนนิติกรรมเสียเลยการกระทำของนายอำเภอจึงเป็นการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมายย่อมเป็นการกระทำละเมิด และจะอ้างว่า มีบุคคลอื่นใช้ให้ทำก็หาทำให้พ้นจากความรับผิดไม่ และระเบียบของกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวหากจะมีจริงก็มิใช่กฎหมาย และไม่มีกฎหมายอันใด ให้อำนาจให้ออกระเบียบเช่นนั้นได้ ฉะนั้นจะใช้บังคับแก่ประชาชน จนก่อให้เกิดความเสียหายแก่เขานั้น ไม่ได้