คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8793/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ในฐานะผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่พิจารณาและตรวจสอบเอกสารประกอบฎีกาการอนุมัติเบิกจ่ายเงินและในชั้นตรวจจ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้ของโจทก์ก่อนที่จะเก็บฎีกาไว้เป็นหลักฐานเพื่อการตรวจสอบ ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงินและการตรวจเงินสุขาภิบาล พ.ศ.2531 เมื่อจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ลงนามโดยมิได้มีการตรวจสอบตามระเบียบดังกล่าว อันทำให้จำเลยที่ 1 ยักยอกเงินไปใช้ส่วนตัวโดยทุจริต จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อโจทก์คาบเกี่ยวก่อนและหลังวันที่ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มีผลใช้บังคับ คือวันที่ 15 พฤศจิกายน 2539 ดังนั้น จึงต้องนำมาตรา 8 วรรคสี่ ที่บัญญัติเป็นคุณแก่เจ้าหน้าที่มาใช้บังคับต่อการทำละเมิดหลังวันที่ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่มีผลใช้บังคับ ส่วนการทำละเมิดก่อนวันที่ พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ฯ มีผลใช้บังคับ จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 432

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 474,121.32 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 และที่ 4 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและไม่สืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน 474,121.32 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 17 พฤศจิกายน 2541) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดจำนวนเงินดังกล่าวในวงเงิน 458,684.07 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 404,272.18 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 30,000 บาท ค่าขึ้นศาลสำหรับจำเลยที่ 4 ให้ใช้ในทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนของจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ในวงเงิน 458,684.07 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 404,272.18 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติสุขาภิบาล พ.ศ.2495 สังกัดกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่การเงินและบัญชีของโจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นสุมห์บัญชีของโจทก์ จำเลยที่ 3 เป็นหัวหน้าหน่วยงานคลังของโจทก์ และจำเลยที่ 4 เป็นปลัดสุขาภิบาลของโจทก์ การเบิกจ่ายเงินของโจทก์จำเลยทั้งสี่อยู่ในบังคับต้องปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงินและการตรวจเงินสุขาภิบาล พ.ศ.2531 และตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2535 แต่จากการตรวจสอบของโจทก์พบว่าในช่วงเวลาระหว่างเดือนพฤษภาคม 2539 ถึงเดือนมีนาคม 2540 มีฎีกาเบิกจ่ายเงินที่ไม่ถูกต้องตามระเบียบดังกล่าวรวม 17 รายการ โดยฎีกาเบิกจ่ายเงินตามงบประมาณเพื่อเบิกจ่ายค่าจัดซื้อวัสดุสำนักงานของโจทก์ เป็นเงิน 6,765 บาท ซึ่งจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ได้ลงชื่อเป็นผู้ตรวจสอบเอกสารประกอบฎีกาจนกระทั่งประธานกรรมการของโจทก์อนุมัติเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2539 ภายหลังการอนุมัติการจ่ายเงิน จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จะต้องตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งว่ามีใบเสร็จรับเงินประกอบฎีกาหรือไม่ และมีเจ้าหนี้ลงชื่อเป็นผู้รับเงินหรือไม่ ปรากฏว่าไม่มีใบเสร็จรับเงินประกอบฎีกา กลับมีเอกสารที่มีข้อความว่าได้จ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่เจ้าหนี้ของโจทก์ไปแล้วโดยจำเลยที่ 1 ลงชื่อเป็นผู้จ่ายเงิน จำเลยที่ 2 และที่ 4 เป็นผู้ตรวจ ฎีกาเงินรายจ่ายตามงบประมาณเพื่อเบิกจ่ายเงินค่าจัดซื้อวัสดุทำป้ายชื่อกรรมการและเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยในการเลือกตั้งกรรมการ จำเลยที่ 1 จัดทำฎีกาเช่นเดียวกับฎีกาเบิกจ่ายเงินตามงบประมาณเพื่อเบิกจ่ายค่าจัดซื้อวัสดุสำนักงานของโจทก์ข้างต้น และการเบิกจ่ายเงินไม่มีใบเสร็จรับเงิน ไม่มีลายมือชื่อผู้รับเงิน ฎีกาเงินนอกงบประมาณเพื่อเบิกจ่ายค่าภาษีหัก ณ ที่จ่าย จำนวน 20.18 บาท จัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2539 จากการตรวจสอบไม่มีใบเสร็จรับเงินของกรมสรรพากร ไม่มีลายมือชื่อผู้รับเงินเช่นเดียวกัน ฎีกาเบิกเงินตามข้อบังคับงบประมาณรายจ่ายเพื่อเบิกจ่ายค่าจัดซื้อวัสดุแบบพิมพ์สำหรับใช้ในงานของโจทก์ จำนวนเงิน 25,250 บาท มีการดำเนินการเช่นเดียวกัน จากการตรวจสอบแล้วไม่มีใบเสร็จรับเงินและลายมือชื่อผู้รับเงิน เป็นฎีกาเบิกเงินตามข้อบังคับงบประมาณรายจ่ายเพื่อเบิกจ่ายค่าจัดซื้อวัสดุสำนักงานสำหรับใช้ในงานบริหารทั่วไปของโจทก์ จำนวนเงิน 9,958 บาท ตรวจสอบแล้วไม่มีใบเสร็จรับเงินและลายมือชื่อผู้รับเงิน ฎีกาเบิกเงินตามข้อบังคับงบประมาณรายจ่ายเพื่อเบิกจ่ายค่าจัดซื้อวัสดุสำนักงานสำหรับบริหารทั่วไป จำนวนเงิน 1,621 บาท ตรวจสอบแล้วไม่มีใบเสร็จรับเงินและลายมือชื่อผู้รับเงิน ฎีกาเบิกจ่ายค่าจัดซื้อวัสดุสำนักงานของโจทก์สำหรับใช้ในงานพัฒนาและจัดเก็บรายได้จำนวนเงิน 13,864.95 บาท ตรวจสอบแล้วไม่มีใบเสร็จรับเงิน สอบถามเจ้าหนี้แล้วแจ้งว่ายังไม่ได้รับเงินตามฎีกา ฎีกาเบิกจ่ายเงินเพื่อนำไปจัดซื้อวัสดุสำนักงานจำนวนเงิน 9,839 บาท ตรวจสอบแล้วไม่มีใบเสร็จรับเงินและลายมือชื่อผู้รับ ฎีกาเบิกจ่ายเงินค่าสมทบงบประมาณในการจัดหาเครื่องมือเครื่องใช้ในการดับเพลิงรถยนต์บรรทุกน้ำจำนวน 313,165 บาท ตรวจสอบแล้วไม่มีใบเสร็จรับเงินและลายมือชื่อผู้รับเงิน ฎีกาเบิกจ่ายเงินค่าจัดซื้อวัสดุสำนักงานสำหรับใช้ในงานบริหารทั่วไปของโจทก์ จำนวน 4,840 บาท ตรวจสอบแล้วไม่มีใบเสร็จรับเงิน ฎีกาเบิกจ่ายค่าจัดซื้อตู้เก็บเอกสารจำนวน 2,300 บาท ไม่มีหลักฐานใบเสร็จรับเงินประกอบฎีกา ฎีกาเบิกจ่ายค่าวัสดุสำนักงานจำนวน 8,779 บาท ไม่มีใบเสร็จรับเงิน ฎีกาเบิกจ่ายเงินค่าจัดซื้อวัสดุสำนักงานจำนวน 4,150 บาท ไม่มีใบเสร็จรับเงิน ฎีกาเบิกจ่ายเงินค่าภาษีหัก ณ ที่จ่าย จำนวน 6,327.10 บาท ไม่มีหลักฐานการรับเงินของกรมสรรพากร ฎีกาเบิกจ่ายเงินค่าภาษีหัก ณ ที่จ่าย จำนวน 5,065.42 บาท ตรวจสอบแล้วไม่มีใบเสร็จรับเงิน ฎีกาเบิกจ่ายเงินค่าภาษีหัก ณ ที่จ่าย จำนวน 2,317.76 บาท ตรวจสอบแล้วไม่มีใบเสร็จรับเงิน ส่วนใบเสร็จรับเงินค่าประกันสัญญาก่อสร้างต่อเติมศาลาประจำหมู่บ้านจากห้างหุ้นส่วนจำกัดสันทรายสหไม้ไทย จำนวน 3,175 บาท จำเลยที่ 1 ไม่นำไปลงบัญชีเงินสดแล้วนำฝากธนาคาร และมีฎีกาเบิกจ่ายที่ไม่มีใบเสร็จรับเงินนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย จำนวน 24.53 บาท ต่อกรมสรรพากร รวมยอดเงินตามฎีกาเบิกจ่ายเงินทั้ง 17 รายการ เป็นเงิน 417,982.46 บาท และคำนวณดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี คิดตั้งแต่วันที่เบิกจ่ายเงินตามฎีกาแต่ละฉบับดังกล่าวถึงวันฟ้องเป็นเงิน 56,138.86 บาท และข้อเท็จจริงยังได้ความตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งจำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์ฎีกาโต้เถียงเป็นอย่างอื่นด้วยว่า จำเลยที่ 1 ได้จัดทำฎีกาเบิกจ่ายเงินตามฎีกาเบิกจ่ายเงินทั้ง 17 รายการข้างต้นตามลำดับขั้นตอนและระเบียบวิธีปฏิบัติดังกล่าวจนกระทั่งมีการอนุมัติให้เบิกจ่ายแล้ว แต่จำเลยที่ 1 ไม่นำเงินไปจ่ายให้แก่เจ้าหนี้ กลับนำไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัว อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ และศาลชั้นต้นวินิจฉัยให้จำเลยที่ 3 ในฐานะหัวหน้าหน่วยงานคลังกับจำเลยที่ 4 ในฐานะผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ด้วย ส่วนจำเลยที่ 2 พิพากษายกฟ้อง แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดด้วย
คดีมีปัญหาที่ขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเพียงว่า จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ด้วยหรือไม่ ได้ความตามพยานหลักฐานโจทก์ซึ่งจำเลยที่ 2 มิได้นำสืบโต้เถียงว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีคำสั่งจังหวัดเชียงใหม่ ที่ 390/2538 แต่งตั้งจำเลยที่ 2 ให้ปฏิบัติหน้าที่สมุห์บัญชีของโจทก์ตั้งแต่วันที่ 4 ธันวาคม 2538 และตามหนังสือที่ ชม.61901/2 ลงวันที่ 30 มกราคม 2541 โจทก์ได้ส่งรายละเอียดและหลักฐานเพิ่มเติมชี้แจงต่ออธิบดีกรมบัญชีกลางว่า ขณะเกิดเหตุที่จำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์นั้น จำเลยที่ 2 ในฐานะสมุห์บัญชีสุขาภิบาล มีหน้าที่รับผิดชอบช่วยเหลือหน่วยงานคลังปฏิบัติงานฝ่ายการคลังในหน้าที่ของหน่วยงานตามมติ ก.สภ. ลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2532 และตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินสุขาภิบาล พ.ศ.2531 ด้วย อีกทั้งนายยงยุทธปลัดสุขาภิบาลโจทก์ก็ได้เบิกความถึงขั้นตอนการปฏิบัติหน้าที่เบิกจ่ายเงินของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่การเงินและบัญชีของโจทก์ว่า ขั้นตอนในการจัดทำฎีกาเบิกจ่ายเงินนั้น เริ่มต้นโดยต้องมีการทำบันทึกขออนุมัติจัดซื้อวัสดุผ่านไปทางฝ่ายบริหารของโจทก์ เมื่อได้รับการอนุมัติให้จัดซื้อแล้วก็จะต้องดำเนินการจัดทำฎีกาเพื่อเบิกจ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้ตามที่อนุมัติ แต่ในการจัดทำฎีกาเบิกจ่ายเงินต้องมีเอกสารประกอบเสนอผ่านไปตามลำดับ โดยผ่านทางหัวหน้าหน่วยการคลังตรวจสอบ แล้วผ่านไปยังสมุห์บัญชีตรวจสอบ และส่งต่อไปยังปลัดสุขาภิบาลเพื่อตรวจสอบเป็นคนสุดทัาย อีกทั้งเมื่อเจ้าหนี้ของโจทก์มารับเงินตามฎีกาเบิกจ่ายแล้ว เจ้าหน้าที่การเงินและบัญชีต้องลงนามรับรองในใบสำคัญคู่จ่ายซึ่งเป็นใบเสร็จรับเงิน และขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่จะมีการเก็บฎีกาจะต้องมีการเก็บใบเสร็จรับเงินประกอบฎีกาไว้ กับจะต้องมีการตรวจหน้าฎีการวมทั้งตรวจใบเสร็จรับเงินว่าเจ้าหนี้ของโจทก์รับเงินไปแล้วหรือไม่ด้วย ซึ่งขั้นตอนวิธีการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินของโจทก์ตามคำเบิกความของนายยงยุทธดังกล่าวก็สอดคล้องตรงกับรายละเอียดการลงนามปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่ปรากฏหลักฐานชัดแจ้งในฎีกาการเบิกจ่ายเงินทั้ง 17 รายการข้างต้น ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ลงนามในฎีกาเบิกจ่ายเงินทุกฉบับดังกล่าวในฐานะสมุห์บัญชี แต่พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบต่อศาลและจำเลยที่ 2 มิได้นำสืบโต้เถียง กลับฟังได้เป็นยุติว่า ฎีกาเบิกจ่ายเงินทั้ง 17 รายการนั้น จำเลยที่ 2 ได้ร่วมลงชื่อรับรองการตรวจสอบเอกสารประกอบฎีกาและเสนอเรื่องไปตามลำดับชั้นจนกระทั่งประธานกรรมการของโจทก์อนุมัติให้เบิกจ่ายแล้ว แต่ภายหลังการอนุมัติ จำเลยที่ 2 ซึ่งยังมีหน้าที่ต้องตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งว่ามีใบเสร็จรับเงินประกอบฎีกาหรือไม่นั้น ปรากฏว่าไม่มีใบเสร็จรับเงินประกอบฎีกา แต่กลับปรากฏมีข้อความว่าได้จ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้ของโจทก์ไปแล้ว โดยจำเลยที่ 1 ลงชื่อเป็นผู้จ่ายเงินและจำเลยที่ 2 ลงชื่อรับรองว่า “ตรวจแล้ว” ดังนี้ เห็นว่า ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินสุขาภิบาล พ.ศ.2531 รวมทั้งขั้นตอนและวิธีปฏิบัติราชการเกี่ยวกับการจัดทำฎีกาเบิกจ่ายเงินที่กำหนดให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ในฐานะผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ต้องพิจารณาและตรวจสอบเอกสารประกอบฎีกาทั้งในชั้นตั้งฎีกาขออนุมัติเบิกจ่ายเงิน และในชั้นตรวจจ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้ของโจทก์ก่อนที่จะเก็บฎีกาไว้เป็นหลักฐานเพื่อการตรวจสอบนั้น เป็นระเบียบปฏิบัติที่กำหนดให้มีเจ้าหน้าที่ของโจทก์หลายฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของโจทก์ต้องร่วมกันปฏิบัติตามลำดับขั้นตอนของสายงานการควบคุมบังคับบัญชา ทั้งนี้เพื่อวางระบบการพิจารณาและตรวจสอบการเบิกจ่ายเงินของโจทก์ให้เป็นไปโดยถูกต้องตามระเบียบราชการ และป้องกันมิให้เจ้าหน้าที่คนใดโดยลำพังสามารถฉ้อฉลเบิกจ่ายเงินงบประมาณของโจทก์ไปใช้โดยไม่ชอบได้ จึงเป็นระเบียบราชการที่เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นสมุห์บัญชีของโจทก์อยู่ในบังคับที่จะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด การที่จำเลยที่ 2 ได้ร่วมลงนามในฎีกาเบิกจ่ายเงินทั้ง 17 รายการ รับรองว่าได้ตรวจสอบหลักฐานการจ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้ของโจทก์แล้ว ทั้ง ๆ ที่ไม่มีใบเสร็จรับเงินของเจ้าหนี้เป็นหลักฐานประกอบฎีกา อันเป็นเอกสารหลักฐานสำคัญเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 สามารถนำเงินที่อนุมัติให้เบิกจ่ายไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวได้ จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 2 ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงในการปฏิบัติหน้าที่เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ด้วยเช่นเดียวกับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
ปรากฏว่าการกระทำโดยทุจริตของจำเลยที่ 1 ได้เกิดขึ้นในช่วงเวลาระหว่างเดือนพฤษภาคม 2539 ถึงเดือนสิงหาคม 2540 อันเป็นเวลาคาบเกี่ยวก่อนและหลังวันที่ 15 พฤศจิกายน 2540 อันเป็นวันที่พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มีผลใช้บังคับ ซึ่งหลักเกณฑ์ความรับผิดของเจ้าหน้าที่ในกรณีที่การละเมิดเกิดจากเจ้าหน้าที่หลายคนนั้น กฎหมายบัญญัติไว้แตกต่างกัน กล่าวคือ ก่อนวันที่พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 จะมีผลใช้บังคับต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยละเมิดซึ่งมีมาตรา 432 บัญญัติไว้ดังนี้
“มาตรา 432 ถ้าบุคคลหลายคนก่อให้เกิดเสียหายแก่บุคคลอื่นโดยร่วมกันทำละเมิด ท่านว่าบุคคลเหล่านั้นจะต้องร่วมกันรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายนั้น ความข้อนี้ท่านให้ใช้ตลอดถึงกรณีที่ไม่สามารถสืบรู้ตัวได้แน่ว่าในจำพวกที่ทำละเมิดร่วมกันนั้น คนไหนเป็นผู้ก่อให้เกิดเสียหายนั้นด้วย
อนึ่ง บุคคลผู้ยุยงส่งเสริมหรือช่วยเหลือในการทำละเมิด ท่านก็ให้ถือว่าเป็นผู้กระทำละเมิดร่วมกันด้วย
ในระหว่างบุคคลทั้งหลายซึ่งต้องรับผิดร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น ท่านว่าต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน เว้นแต่โดยพฤติการณ์ ศาลจะวินิจฉัยเป็นประการอื่น”
แต่เมื่อพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2539 แล้ว ความในมาตรา 8 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติเป็นคุณแก่เจ้าหน้าที่ว่า “ในกรณีที่การละเมิดเกิดจากเจ้าหน้าที่หลายคน มิให้นำหลักเรื่องลูกหนี้ร่วมมาใช้บังคับและเจ้าหน้าที่แต่ละคนต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะส่วนของตนเท่านั้น” ยิ่งไปกว่านั้น ความในวรรคสองยังบัญญัติว่า “สิทธิเรียกร้องให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามวรรคหนึ่งจะมีได้เพียงใด ให้คำนึงถึงระดับความร้ายแรงแห่งการกระทำและความเป็นธรรมในแต่ละกรณีเป็นเกณฑ์โดยมิต้องให้ใช้เต็มจำนวนของความเสียหายก็ได้” เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำการทุจริตต่อโจทก์ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2539 ถึงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2539 อันเป็นเวลาก่อนที่พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 จะมีผลใช้บังคับซึ่งต้องบังคับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 432 เป็นเหตุให้โจทก์เสียหายเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยค้างชำระถึงวันฟ้องเป็นเงิน 51,133.44 บาท จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์โดยทำละเมิดด้วย จึงต้องรับผิดร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้กับจำเลยที่ 1 ด้วย
สำหรับการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2539 ภายหลังจากวันที่พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มีผลใช้บังคับแล้ว จำเลยที่ 1 กระทำการทุจริตเป็นเหตุให้โจทก์เสียหายเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยค้างชำระถึงวันฟ้องเป็นเงิน 404,072.02 บาท ซึ่งการกระทำทุจริตของจำเลยที่ 1 ในช่วงนี้ จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ เพราะจำเลยที่ 2 ได้ลงนามในใบตั้งฎีกาเบิกจ่ายเงิน และร่วมกับจำเลยที่ 4 ลงนามรับรองว่าได้ตรวจสอบหลักฐานการจ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้ของโจทก์แล้ว ทั้ง ๆ ที่ไม่มีหลักฐานใบเสร็จรับเงินของเจ้าหนี้เป็นหลักฐานประกอบฎีกา ส่วนจำเลยที่ 3 เป็นหัวหน้าหน่วยงานคลังมีหน้าที่ดูแลการตั้งฎีกาเบิกจ่ายเงินโดยตรง จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ต่างมีส่วนประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง อันเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 กระทำการโดยทุจริตต่อโจทก์ได้ เมื่อจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ตรวจสอบใบตั้งฎีกาเบิกจ่ายเงิน และมีหน้าที่ต้องตรวจสอบหลักฐานการจ่ายเงินด้วย จึงให้รับผิดเป็นจำนวนกึ่งหนึ่งของยอดเงินส่วนนี้เป็นเงิน 202,036.01 บาท จำเลยที่ 3 มีหน้าที่ตรวจสอบใบตั้งฎีกาเบิกจ่ายเงิน ส่วนจำเลยที่ 4 มีหน้าที่ตรวจสอบการจ่ายเงินจึงให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 รับผิดคนละหนึ่งในสี่ของยอดเงินดังกล่าวเป็นเงินคนละ 101,018 บาท
ส่วนการละเมิดของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2540 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2540 อันเป็นเวลาภายหลังวันที่พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มีผลใช้บังคับแล้วเช่นกัน ซึ่งทำให้โจทก์เสียหายเป็นเงิน 18,915.86 บาท นั้น ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 และที่ 4 มิได้ร่วมลงนามว่าได้ตรวจสอบหลักฐานการจ่ายเงินให้แก่เจ้าหนี้ด้วย จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 4 ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 และที่ 4 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดในส่วนนี้ ส่วนจำเลยที่ 3 ได้ลงนามในใบตั้งเบิกฎีกาทั้งมีหน้าที่ควบคุมการเบิกจ่ายเงินของโจทก์ที่จำเลยที่ 1 จัดทำขึ้นกลับปล่อยปละละเลยไม่ทำหน้าที่ดังกล่าว จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย โดยเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดหนึ่งในสี่เป็นเงิน 4,728.96 บาท เมื่อหลักเกณฑ์ความรับผิดของจำเลยทั้งสี่เป็นดังที่ได้วินิจฉัยมา การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ทั้งหมด จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5)
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 51,133.44 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว คิดตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 422,987.88 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว คิดตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยยอดเงินส่วนหลังนี้ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในต้นเงิน 202,036.01 บาท จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในต้นเงิน 105,746.96 บาท และให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในต้นเงิน 101,018 บาท โดยให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ชดใช้พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวคิดตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นไปจนว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ในชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5

Share