คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 877/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสามสิบเอ็ดคนรับราชการเป็นครูในสังกัดขององค์การบริหารส่วนจังหวัดตรังจำเลยที่3ต่อมาเทศบาลเมืองตรังได้ขยายเขตพื้นที่การปกครองออกไปรวมเอาโรงเรียนซึ่งโจทก์ทั้งสามสิบเอ็ดคนสอนอยู่เป็นของเทศบาลเมืองตรังด้วยโจทก์ทั้งสามสิบเอ็ดคนสมัครใจสอบในโรงเรียนเดิมจำเลยที่3จึงมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสามสิบเอ็ดคนออกจากราชการเพื่อรับบำนาญด้วยเหตุทดแทนในวันเดียวกันเทศบาลเมืองตรังได้มีคำสั่งบรรจุและแต่งตั้งโจทก์ทั้งสามสิบเอ็ดคนเข้าราชการเป็นพนักงานเทศบาลเมืองตรังโดยได้รับเงินเดือนเท่าเดิมเมื่อโจทก์ทั้งสามสิบเอ็ดคนซึ่งได้ออกจากราชการและมีสิทธิรับบำนาญตามมาตรา9แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่นพ.ศ.2500แล้วได้ขอกลับเข้ารับราชการใหม่ในสังกัดเทศบาลโดยได้รับเงินเดือนเท่ากับเงินเดือนเดิมโจทก์ทั้งสามสิบเอ็ดคนจึงต้องบอกเลิกรับบำนาญตามมาตรา30และโจทก์ทั้งสามสิบเอ็ดคนจะต้องถูกงดบำนาญในระหว่างที่เข้ารับราชการใหม่ด้วยตามมาตรา34วรรคแรก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 3 จึงได้มีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสามสิบเอ็ดคนกับพวกออกจากราชการตามความประสงค์ของทางราชการด้วยเหตุทดแทน บรรจุและแต่งตั้งในตำแหน่งใหม่ในสังกัดของเทศบาลเมืองตรังในวันเดียวกันโดยให้ได้รับเงินเดือนตามอัตราและตำแหน่งเท่าเดิมต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ทำบันทึกเสนอจำเลยที่ 2 ให้งดจ่ายเงินบำนาญแก่โจทก์ทั้งสามสิบเอ็ดคน ซึ่งเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2500 มาตรา 34 ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันจ่ายเงินบำนาญ เงินเพิ่ม และเงินช่วยค่าครองชีพแก่โจทก์ทั้งสามสิบเอ็ดคนพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า การรับบำนาญของโจทก์ทั้งสามสิบเอ็ดคนขัดต่อพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2500มาตรา 34 คือโจทก์ทั้งสามสิบเอ็ดคนมิได้บอกเลิกการรับบำนาญเพื่อต่อเวลาราชการ จึงไม่มีสิทธิได้รับบำนาญ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 จ่ายเงินบำนาญ เงินเพิ่ม และเงินช่วยค่าครองชีพแก่โจทก์ที่ 1 ที่ 2ที่ 3 ที่ 6 ที่ 8 ที่ 9 ที่ 11 ที่ 12 ที่ 14 ที่ 17 ที่ 21ถึงที่ 28 ที่ 30 และที่ 31 ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 10ที่ 13 ที่ 15 ที่ 16 ที่ 18 ที่ 19 ที่ 20 และที่ 29
โจทก์ที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 ที่ 10 ที่ 13 ที่ 15 ที่ 16ที่ 18 ที่ 19 ที่ 20 และที่ 29 และจำเลยที่ 3 ที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 จ่ายเงินบำนาญ เงินเพิ่มและเงินช่วยค่าครองชีพแก่โจทก์ที่ 4ที่ 5 ที่ 7 ที่ 10 ที่ 13 ที่ 15 ที่ 16 ที่ 18 ที่ 19 ที่ 20และที่ 29 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลย ที่ 3 และ ที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกา เดิมโจทก์ทั้งสามสิบเอ็ดคนรับราชการเป็นครูในสังกัดของจำเลยที่ 3 ต่อมาปี 2512 เทศบาลเมืองตรังได้ขยายเขตพื้นที่การปกครองออกไปรวมเอาโรงเรียนซึ่งโจทก์ทั้งสามสิบเอ็ดคนสอนอยู่เป็นของเทศบาลเมืองตรังด้วย โจทก์ทั้งสามสิบเอ็ดคนสมัครใจสอบในโรงเรียนเดิมจำเลยที่ 3 จึงมีคำสั่งให้โจทก์ทั้งสามสิบเอ็ดคนออกจากราชการเพื่อรับบำนาญด้วยเหตุทดแทน ตั้งแต่วันที่2 ตุลาคม 2512 ตามในวันเดียวกันนี้ เทศบาลเมืองตรังได้มีคำสั่งบรรจุและแต่งตั้งโจทก์ทั้งสามสิบเอ็ดคนเข้ารับราชการเป็นพนักงานเทศบาลเมืองตรัง โดยได้รับเงินเดือนเท่าเดิมโจทก์ทั้งสามสิบเอ็ดคนได้รับบำนาญตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2512 มาโดยตลอด ต่อมาวันที่ 23 พฤษภาคม 2532 จำเลยที่ 1 ได้ทำบันทึกเสนอจำเลยที่ 2 ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังในขณะนั้น ในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหารของจำเลยที่ 3 ให้งดจ่ายบำนาญแก่โจทก์ทั้งสามสิบเอ็ดคนจำเลยที่ 2 จึงได้มีหนังสือแจ้งงดจ่ายบำนาญแก่โจทก์ทั้งสามสิบเอ็ดคนและจำเลยที่ 2 ได้หารือการงดจ่ายเงินบำนาญดังกล่าวไปยังจำเลยที่ 4 ซึ่งต่อมาจำเลยที่ 4 ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 3งดจ่ายเงินบำนาญแก่โจทก์ทั้งสามสิบเอ็ดคน ต่อมาโจทก์ 16 คนในจำนวน 31 คน ซึ่งเกษียณอายุราชการแล้วได้มีหนังสือขอให้จำเลยที่ 3 จ่ายเงินบำนาญตามปกติให้โจทก์ทั้งสิบหกคนจำเลยที่ 3 จึงมีหนังสือหารือไปยังจำเลยที่ 4 ต่อมาจำเลยที่ 4แจ้งยืนยันให้จำเลยที่ 3 งดจ่ายเงินบำนาญแก่โจทก์ทั้งสิบหกคนดังกล่าวเช่นเดิม จึงมีการงดจ่ายเงินบำนาญให้แก่โจทก์ทั้งสามสิบเอ็ดคน นับแต่เดือนพฤษภาคม 2532 เห็นว่า การที่จำเลยที่ 3 สั่งให้โจทก์ทั้งสามสิบเอ็ดคนออกจากราชการเพื่อให้รับบำนาญเพราะเหตุทดแทนตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2512 ก็เพราะว่าองค์การบริหารส่วนจังหวัดกับเทศบาลเป็นหน่วยราชการคนละหน่วยงานกันจำเลยที่ 3 ไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะสั่งให้โจทก์ทั้งสามสิบเอ็ดคนซึ่งรับราชการในองค์การบริหารส่วนจังหวัดให้ไปรับราชการในสังกัดเทศบาลเมืองตรัง จึงจำเป็นต้องใช้วิธีการสั่งให้ออกจากราชการเพื่อรับบำนาญก่อนแล้วจึงค่อยบรรจุเป็นข้าราชการครูของเทศบาลใหม่ในอัตราเงินเดือนเท่าเดิมทั้งนี้โดยความสมัครใจของโจทก์ทุกคนดังนั้น เมื่อโจทก์ทั้งสามสิบเอ็ดคนซึ่งได้ออกจากราชการและมีสิทธิรับบำนาญตามมาตรา 9 แล้วได้ขอกลับเข้ารับราชการใหม่ในสังกัดเทศบาลโดยได้รับเงินเดือนเท่ากับเงินเดือนเดิม โจทก์ทั้งสามสิบเอ็ดคนจึงต้องบอกเลิกรับบำนาญตามมาตรา 30 และโจทก์ทั้งสามสิบเอ็ดคนจะต้องถูกงดบำนาญในระหว่างที่เข้ารับราชการใหม่ด้วย ตามมาตรา 34 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2500 ที่บัญญัติว่า “ข้าราชการส่วนท้องถิ่นผู้ซึ่งได้รับหรือมีสิทธิในบำนาญปกติแล้วภายหลังกลับเข้ารับราชการใหม่ ฯลฯ ถ้าเงินเดือนใหม่เท่าหรือสูงกว่าเงินเดือนเดิมก็ให้งดบำนาญในระหว่างนั้น เมื่อออกจากราชการตอนหลังให้คำนวณบำนาญโดยคิดเฉพาะจำนวนเงินเดือนที่ได้รับจริงในตอนใหม่และเฉพาะเวลาราชการในตอนใหม่บวกเข้ากับบำนาญเดิม”ดังนั้น เมื่อโจทก์ทั้งสามสิบเอ็ดคนได้รับเงินเดือนใหม่เท่ากับเงินเดือนเดิมก็ต้องงดบำนาญโดยได้รับเงินเดือนใหม่อย่างเดียวจะรับทั้งบำนาญและเงินเดือนไม่ได้เพราะโจทก์ทั้งสามสิบเอ็ดคนก็มิได้เสียสิทธิในเรื่องอายุราชการแต่อย่างใด การที่โจทก์ที่ 3 และที่ 4 งดจ่ายบำนาญแก่โจทก์ทั้งสามสิบเอ็ดคนจึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสามสิบเอ็ดคน

Share