คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8763/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 ผู้ที่จะถูกส่งตัวไปเข้ารับการฟื้นฟู คือ บุคคลที่ต้องหาว่ากระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 19 ไม่ว่าผู้นั้นจะยินยอมเข้ารับการฟื้นฟูหรือไม่ก็ตาม โดยศาลจะมีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดก่อนและคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมีอำนาจวินิจฉัยว่า ผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ผู้ใดเป็นผู้เสพหรือติดยาเสพติดจากนั้นจะต้องจัดให้มีแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามมาตรา 22 ซึ่งคดีที่จำเลยต้องหาว่าเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 และได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดก่อนหน้าคดีนี้ตามที่ปรากฏในคำสั่งของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดกรุงเทพมหานคร จำเลยต้องเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดกรุงเทพมหานครกำหนดแต่จำเลยไม่เข้ารับการฟื้นฟูตามคำสั่งของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด และไม่สามารถติดตามตัวได้ กรณีจึงถือว่าจำเลยยังไม่ได้รับการฟื้นฟูให้ครบถ้วนตามแผนฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดอันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 30 และมาตรา 31 พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีอำนาจและหน้าที่จับจำเลยเข้าไว้ในศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเพื่อบำบัดฟื้นฟูตามแผนและให้มีอำนาจลงโทษตามมาตรา 32 ได้อีกด้วย แต่เมื่อได้ตัวจำเลยมาดำเนินคดีนี้แล้วไม่ปรากฏว่าคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ได้ดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ดังกล่าวแต่ประการใด ทั้งคดีดังกล่าวจำเลยต้องหาและถูกดำเนินคดีว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เช่นเดียวกัน ดังนี้ กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงปรากฏภายหลังจากที่ศาลมีคำสั่งตามมาตรา 19 ว่าจำเลยต้องหาหรือถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 การที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด มีคำสั่งว่า ถือว่าจำเลยอยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีอื่นต้องดำเนินการตามมาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 และแจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามกฎหมาย โดยไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ดังกล่าวข้างต้น แม้ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้ดำเนินการตามคำร้องขอของพนักงานสอบสวนที่ให้ยกเลิกการตรวจพิสูจน์ ก็ไม่ทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 57, 91 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58 และบวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 12247/2555 ของศาลแขวงธนบุรี เข้ากับโทษจำคุกของจำเลยในคดีนี้
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 จำคุก 6 เดือน ให้บวกโทษจำคุก 3 เดือน ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 12247/2555 ของศาลแขวงธนบุรี เข้ากับโทษของจำเลยในคดีนี้ รวมเป็นจำคุก 9 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 เดือน 15 วัน
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2557 เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยโดยกล่าวหาว่า กระทำความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีน ต่อมาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ส่งตัวจำเลยไปเพื่อตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด แต่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดกรุงเทพมหานคร คณะที่ 7 มีคำสั่งที่ 812/2557 เอกสารท้ายคำฟ้องว่า จำเลยเคยถูกจับกุมดำเนินคดีในความผิดฐานเสพยาเสพติดให้โทษ ศาลแขวงธนบุรีมีคำสั่งให้ตรวจพิสูจน์ ต่อมาคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด มีคำวินิจฉัยให้จำเลยเข้าฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจึงมีคำสั่งให้ผลการฟื้นฟูไม่เป็นที่น่าพอใจ และให้ส่งตัวคืนพนักงานสอบสวนตามคำสั่งที่ 754/2555 ลงวันที่ 24 เมษายน 2555 ซึ่งถือว่าอยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีอื่นต้องดำเนินการตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 และแจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามกฎหมาย โดยคดีก่อนจำเลยเคยเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด เนื่องจากกระทำความผิดฐานเสพยาเสพติดให้โทษ ซึ่งคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดกรุงเทพมหานคร คณะที่ 10 มีคำสั่งที่ 754/2555 ให้จำเลยเข้ารับการบำบัดรักษาแบบโปรแกรมสำนักงานคุมประพฤติ เป็นเวลา 6 เดือน และให้ทำงานบริการสังคม ปรากฏว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามแผนการฟื้นฟู โดยไม่เข้ารับการฟื้นฟู ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการติดตามจำเลยแล้ว แต่ไม่สามารถติดตามได้ คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดกรุงเทพมหานคร คณะที่ 10 จึงมีคำวินิจฉัยว่า ผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดไม่เป็นที่พอใจ และให้แจ้งพนักงานสอบสวนดำเนินคดี
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้สืบเนื่องจากพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 24 ครบถ้วนถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายแล้ว และศาลชั้นต้นก็มีคำสั่งให้ดำเนินการตามคำร้องขอของพนักงานสอบสวน เมื่อพนักงานสอบสวนได้ดำเนินการสอบสวนโดยชอบแล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีนี้นั้น เห็นว่า การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 นั้น ผู้ที่จะถูกส่งตัวไปเข้ารับการฟื้นฟู คือ บุคคลที่ต้องหาว่ากระทำความผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 19 ไม่ว่าผู้นั้นจะยินยอมเข้ารับการฟื้นฟูหรือไม่ก็ตาม โดยศาลจะมีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดก่อนและคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมีอำนาจวินิจฉัยว่า ผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ผู้ใดเป็นผู้เสพหรือติดยาเสพติดจากนั้นจะต้องจัดให้มีแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามมาตรา 22 ซึ่งคดีที่จำเลยต้องหาว่าเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 และได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดก่อนหน้าคดีนี้ตามที่ปรากฏในคำสั่งของคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดกรุงเทพมหานคร คณะที่ 10 ที่ 754/2555 จำเลยต้องเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดกรุงเทพมหานคร คณะที่ 10 กำหนด แต่จำเลยไม่เข้ารับการฟื้นฟูตามคำสั่งของคณะอนุกรรมการและไม่สามารถติดตามตัวได้ กรณีจึงถือว่าจำเลยยังไม่ได้รับการฟื้นฟูให้ครบถ้วนตามแผนฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 30 และมาตรา 31 พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีอำนาจและหน้าที่จับจำเลยเข้าไว้ในศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเพื่อบำบัดฟื้นฟูตามแผนและให้มีอำนาจลงโทษตามมาตรา 32 ได้อีกด้วย แต่เมื่อได้ตัวจำเลยมาดำเนินคดีนี้แล้วไม่ปรากฏว่าคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดกรุงเทพมหานคร คณะที่ 10 ได้ดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ดังกล่าวแต่ประการใด ทั้งคดีดังกล่าวจำเลยก็ต้องหาและถูกดำเนินคดีว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เช่นเดียวกัน ดังนี้ กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงปรากฏภายหลังจากที่ศาลมีคำสั่งตามมาตรา 19 ว่า จำเลยต้องหาหรือถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 การที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดกรุงเทพมหานคร คณะที่ 7 มีคำสั่งว่า ถือว่าจำเลยอยู่ระหว่างถูกดำเนินคดีอื่นต้องดำเนินการตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 และแจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามกฎหมาย โดยไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ดังกล่าวข้างต้น แม้ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้ดำเนินการตามคำร้องขอของพนักงานสอบสวนที่ให้ยกเลิกการตรวจพิสูจน์ ก็ไม่ทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share