แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พนักงานตรวจแรงงานมีคำเตือนให้นายจ้างจัดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้ลูกจ้างโดยอาศัยอำนาจตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ที่ออกตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ข้อ 77 ซึ่งคำเตือน ดังกล่าวไม่ขัดแย้งกับ พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 จึงมีผลเป็นคำเตือนตามประกาศดังกล่าว ข้อ 77 และใช้บังคับได้ต่อไปตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 166 ทั้งคำเตือนดังกล่าวมิใช่คำสั่งหรือคำวินิจฉัยชี้ขาดของพนักงานตรวจแรงงานตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ที่บัญญัติให้นายจ้างต้องปฏิบัติตาม แต่มีผลเพียงเป็นการชี้แนะเพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเท่านั้น ถ้านายจ้างเห็นว่าไม่ถูกต้องจะไม่ปฏิบัติตามก็ได้โดยไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 146 และประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ข้อ 8 การที่พนักงานตรวจแรงงานมีคำเตือนและลูกจ้างขอหยุดพักผ่อนประจำปีตามคำเตือนของพนักงานตรวจแรงงาน ยังไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของนายจ้างตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและ วิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 ทั้งนายจ้างมิได้ฟ้องพนักงานตรวจแรงงานหรืออธิบดีกรมสวัสดิการและ คุ้มครองแรงงานเป็นจำเลย นายจ้างจึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำเตือนของพนักงานตรวจแรงงานและขอให้ สั่งว่าจำเลยไม่มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้สั่งว่าคำสั่งของเจ้าพนักงานตรวจแรงงานที่มีหนังสือเตือนให้โจทก์จัดให้มีวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้จำเลยและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานที่ให้โจทก์ปฏิบัติตามคำเตือนของพนักงานตรวจแรรงานไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยไม่มีสิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปี ๒๕๓๙ จำนวน ๑๕ วัน และปี ๒๕๔๐ จำนวน ๒๑ วัน รวม ๓๖ วัน
ศาลแรงงานกลางตรวจคำฟ้องแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าคำสั่งของเจ้าพนักงานตรวจแรงงานและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมิได้ฟ้องพนักงาน ตรวจแรงงานและอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานด้วย คำขอดังกล่าวไม่อาจบังคับได้ ส่วนคำขอให้พิพากษาว่า จำเลยไม่มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี ๒๕๓๙ และปี ๒๕๔๐ นั้น แม้ตามคำฟ้องจะอ้างว่าจำเลยติดต่อขอให้ใช้สิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปีตามคำเตือนของพนักงานตรวจแรงงาน ก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างได้กระทำการใด ๆ อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ และกรณียังไม่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๘ (๒) โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าเมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๔๒ จำเลยยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานว่าโจทก์ไม่จัดวันหยุดพักผ่อนประจำปี ๒๕๓๙ และปี ๒๕๔๐ ให้จำเลยและพนักงานตรวจแรงงานมีคำเตือนเมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๔๒ ให้โจทก์จัดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้จำเลยรวม ๓๖ วัน ปรากฏว่า พนักงานตรวจแรงงานมีคำเตือนดังกล่าวโดยอาศัยอำนาจตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานที่ออกตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๐๓ ลงวันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๑๕ ข้อ ๑๐ และ ๗๗ ซึ่งคำเตือนดังกล่าวไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ จึงมีผลเป็นคำเตือนตามประกาศดังกล่าว ข้อ ๗๗ และใช้บังคับได้ต่อไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๖๖ ทั้งคำเตือนดังกล่าวมิใช่คำสั่งหรือคำวินิจฉัยชี้ขาดของพนักงานตรวจแรงงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ ที่บัญญัติให้โจทก์ต้องปฏิบัติตาม แต่มีผลเพียงเป็นการชี้แนะเพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยเท่านั้น ถ้าโจทก์เห็นว่าไม่ถูกต้องจะไม่ปฏิบัติตามก็ได้ โดยไม่เป็นความผิดตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๑๔๖ และประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๐๓ ข้อ ๘ ดังโจทก์อุทธรณ์ การที่พนักงานตรวจแรงงานมีคำเตือนและจำเลยขอหยุดพักผ่อนประจำปี ๒๕๓๙ และปี ๒๕๔๐ ตามคำเตือนของพนักงานตรวจแรงงาน ยังไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๕ ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ ทั้งโจทก์ มิได้ฟ้องพนักงานตรวจแรงงานหรืออธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเป็นจำเลยด้วย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำเตือนของพนักงานตรวจแรงงาน และขอให้สั่งว่าจำเลยไม่มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี ๒๕๓๙ และปี ๒๕๔๐ ที่ศาลแรงงานกลางตรวจคำฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้องชอบแล้ว อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน .