คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 872/2534

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องอ้างว่า จำเลยละเมิดปลูกสร้างร้านค้าและที่อยู่อาศัยของจำเลยในที่ดินพิพาทของโจทก์ ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยรื้อถอนร้านค้าและที่อยู่อาศัยออกไปจากที่ดินพิพาท ซึ่งถ้าหากให้ผู้อื่นเช่าจะได้ค่าเช่าไม่น้อยกว่าเดือนละ 500 บาท จำเลยให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลภายนอก จึงเป็นคดีฟ้องขับไล่บุคคลในกรณีอื่นออกจากอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งในขณะยื่นคำฟ้องอาจให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละ 5,000 บาท และจำเลยมิได้กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษา ศาลชั้นต้นจึงห้ามคู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันละเมิดปลูกสร้างร้านค้าและที่อยู่อาศัยของจำเลยที่ 1 ในที่ดินพิพาทของโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 รื้อถอนร้านค้าและที่อยู่อาศัยออกไปจากที่ดินพิพาทห้ามจำเลยที่ 1 และบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายรวม 1,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ15 ต่อปี นับแต่วันละเมิด ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายเท่ากับอัตราค่าเช่าที่ดินเดือนละ 500 บาท นับแต่วันละเมิด จำเลยทั้งสามให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลภายนอก ขอให้ยกฟ้องศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยที่ 1 และบริวารออกจากที่ดินพิพาทพร้อมกับให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายเดือนละ 200 บาท นับจากวันละเมิดเป็นต้นไป ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยทั้งสามร่วมกับละเมิดปลูกสร้างร้านค้าและที่อยู่อาศัยของจำเลยที่ 1 ในที่ดินพิพาทของโจทก์ ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยที่ 1 รื้อถอนร้านค้าและที่อยู่อาศัยออกไปจากที่ดินพิพาท ซึ่งถ้าหากให้ผู้อื่นเช่าจะได้ค่าเช่าไม่น้อยกว่าเดือนละ 500 บาท จำเลยทั้งสามให้การอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลภายนอก จึงเป็นคดีฟ้องขับไล่บุคคลในกรณีอื่นออกจากอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งในขณะยื่นคำฟ้องอาจให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละ 5,000 บาท และจำเลยทั้งสามมิได้กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ขับไล่จำเลยที่ 1 และบริวารออกจากที่ดินพิพาทพร้อมกับให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายเดือนละ 200 บาท จึงห้ามคู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคสอง ข้อที่จำเลยทั้งสามฎีกานั้นเป็นฎีกาดุลพินิจในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของศาลจึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาจำเลยทั้งสามไว้เป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาจำเลยทั้งสาม ให้คืนค่าธรรมเนียม ศาลชั้นฎีกาทั้งหมดแก่จำเลยทั้งสาม

Share