แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
กำหนดเวลาการอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลภายใน 30 วัน ที่กำหนดไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 30 (2) ถือเป็นระยะเวลาให้ฟ้องคดีที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความแพ่ง ไม่ถือเป็นอายุความ จึงไม่อาจนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/17 วรรคสอง มาบังคับใช้กับกรณีนี้ได้
กำหนดเวลาการอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 30 เป็นระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความแพ่งที่ศาลภาษีอากรกลางมีอำนาจขยายได้โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 แต่การที่โจทก์เข้าใจผิดในข้อกฎหมายเป็นเหตุให้โจทก์ยื่นฟ้องผิดศาลไม่ใช่เหตุสุดวิสัยที่ศาลจะใช้ดุลพินิจขยายระยะเวลาให้ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่ สภ.8 ชม 2/2550 ที่ให้โจทก์ชำระเบี้ยปรับตามมาตรา 89 (1), และ (6) จำนวน 1,614,180.36 บาท และเงินเพิ่มตามมาตรา 89/1 จำนวน 96,850.82 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 1,711,031.18 บาท
ศาลภาษีอากรกลางตรวจคำฟ้องแล้วมีคำสั่งว่า ศาลเคยมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลายื่นฟ้องถึงวันที่ 8 กันยายน 2550 แต่ปรากฏว่าโจทก์กลับนำคำฟ้องไปยื่นต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่เป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 33 ซึ่งต่อมาศาลภาษีอากรได้มีคำสั่งไม่รับฟ้อง การที่โจทก์นำคำฟ้องฉบับนี้มายื่นเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2550 จึงล่วงพ้นระยะเวลาที่ศาลอนุญาตให้ขยายไปแล้วทั้งกรณีไม่ปรากฏเหตุสุดวิสัยที่ศาลจะสั่งขยายระยะเวลายื่นฟ้องให้โจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 และกรณีไม่ใช่เรื่องของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/17 วรรคสอง ที่โจทก์จะนำคดีมาฟ้องภายใน 60 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งไม่รับฟ้องได้ เนื่องจากระยะเวลายื่นฟ้องไม่ใช่อายุความ จึงมีคำสั่งไม่รับฟ้อง จำหน่ายคดีจากสารบบความ คืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดให้โจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า จำเลยได้มีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มให้โจทก์เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เงินเพิ่ม และเบี้ยปรับ โจทก์อุทธรณ์คัดค้านการประเมินของจำเลย คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาแล้วมีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2550 โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาการอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลภาษีอากรกลางออกไปอีก 30 วัน นับแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2550 ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งอนุญาต จากนั้นวันที่ 7 กันยายน 2550 โจทก์ได้ฟ้องจำเลยต่อศาลภาษีอากรกลางโดยยื่นคำฟ้องที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งให้ส่งคำฟ้องไปยังศาลภาษีอากรกลาง และในวันที่ 17 กันยายน 2550 ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งเกี่ยวกับคำฟ้องดังกล่าวว่า โจทก์ฟ้องจำเลยซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำนาจศาลภาษีอากรกลาง โจทก์ยื่นคำฟ้องที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่จึงไม่รับคำฟ้องของโจทก์ จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ คืนค่าขึ้นศาลทั้งหมด วันที่ 3 ธันวาคม 2550 โจทก์มาฟ้องจำเลยใหม่โดยยื่นคำฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลางเป็นคดีนี้ มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า กำหนดเวลาการอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ถือเป็นอายุความ เมื่อยื่นฟ้องผิดศาลจึงสามารถนำคดีมาฟ้องใหม่ได้ภายใน 60 วันนับแต่วันที่โจทก์ทราบคำสั่ง และด้วยเหตุที่โจทก์ยื่นฟ้องผิดศาลและโจทก์เข้าใจว่าสามารถนำคดีมาฟ้องใหม่ได้ภายใน 60 วันนับแต่วันที่โจทก์ทราบคำสั่ง จึงเป็นกรณีที่มีเหตุอันสมควรถือเป็นเหตุสุดวิสัยที่โจทก์จะยื่นคำฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลางภายในระยะเวลาที่โจทก์ขอขยายระยะเวลาไว้ครั้งแรก ที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เห็นว่า เดิมโจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำฟ้องคดีต่อศาลภาษีอากรกลาง ซึ่งศาลภาษีอากรกลางได้รับไว้เป็นคดีหมายเลขดำที่ ข.19/2550 และมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นคำฟ้องให้โจทก์ถึงวันที่ 8 กันยายน 2550 แต่ต่อมาโจทก์กลับนำคดีมายื่นฟ้องจำเลยต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งมิใช่ภูมิลำเนาของจำเลย ศาลภาษีอากรกลางจึงมีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง ต่อมาโจทก์จึงมายื่นฟ้องเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2550 จึงเกินกำหนดระยะเวลายื่นคำฟ้องที่ศาลภาษีอากรกลางขยายให้ ซึ่งถือเป็นความบกพร่องของทนายความโจทก์เอง และแม้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/17 วรรคสองกำหนดให้ในกรณีที่ศาลไม่รับฟ้องเพราะเหตุคดีไม่อยู่ในอำนาจศาลและปรากฏว่าอายุความครบกำหนดไปแล้วในระหว่างการพิจารณาให้มีสิทธิฟ้องคดีใหม่ได้ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นถึงที่สุดก็ตาม แต่กำหนดเวลาการอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลภายใน 30 วัน ที่กำหนดไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 30 (2) ถือเป็นระยะเวลาให้ฟ้องคดีที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความแพ่ง ไม่ถือเป็นอายุความ จึงไม่อาจนำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/17 วรรคสอง มาบังคับให้กับกรณีนี้ได้ นอกจากนี้แม้กำหนดเวลาการอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวถือเป็นระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความแพ่งที่ศาลภาษีอากรกลางมีอำนาจขยายได้โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 แต่การที่โจทก์เข้าใจผิดในข้อกฎหมายเป็นเหตุให้โจทก์ยื่นฟ้องผิดศาลไม่ใช่เหตุสุดวิสัยที่ศาลจะใช้ดุลพินิจขยายระยะเวลาให้ได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์ยื่นคำฟ้องต่อศาลภาษีอากรกลางเมื่อพ้นระยะเวลาตามที่ขอขยายระยะเวลาการอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องมานั้นศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ