คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8700/2542

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 248 วรรคหนึ่ง มีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์ที่ศาลชั้นต้นรับมาแต่เพียงว่า ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ซึ่งในการวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามมาตรา 238ประกอบมาตรา 247 แต่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อเท็จจริงผิดไปจากพยานหลักฐานในสำนวนผิดต่อกฎหมาย ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงใหม่ได้ตามมาตรา 238,243(3) ประกอบมาตรา 247
จำเลยได้เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันและต่อมาขอสมัครเป็นสมาชิกบัตรเครดิตของโจทก์ โดยโจทก์และจำเลยตกลงเงื่อนไขการชำระหนี้จากการใช้บัตรเครดิตว่า เมื่อโจทก์จ่ายเงินให้แก่ผู้เรียกเก็บเงินจากการใช้บัตรเครดิตของจำเลยแล้ว จำเลยจะต้องใช้เงินที่ โจทก์จ่ายแทนไปโดยให้โจทก์หักทอนชำระจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันและต่อมาจำเลยได้ใช้บัตรเครดิตชำระค่าสินค้าและค่าบริการต่าง ๆตลอดจนเบิกเงินสดตามข้อตกลง แล้วจำเลยส่งเงินชำระหนี้ให้โจทก์ไม่ครบจำนวนแต่ปรากฏว่าจำเลยคงเป็นหนี้โจทก์เฉพาะที่ใช้บัตรเครดิตการที่จำเลยเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันไว้และยอมให้โจทก์หักเงินที่โจทก์จ่ายแทนจำเลยไปจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันดังกล่าวตามพฤติการณ์ระหว่างโจทก์จำเลยดังกล่าวจึงไม่ใช่บัญชีเดินสะพัดเป็นแต่เพียงข้อตกลงในการชำระหนี้ที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตเท่านั้นและเมื่อตามสัญญาและเงื่อนไขการใช้บัตรเครดิตของโจทก์ จำเลยต้องเสียค่าธรรมเนียมในการออกบัตรเครดิต และจำเลยสามารถนำบัตรเครดิตไปซื้อสินค้าจากร้านค้าที่ตกลงรับบัตรเครดิตของโจทก์โดยไม่ต้องชำระเงินสด เมื่อร้านค้าเรียกเก็บเงิน โจทก์จะเป็นผู้ชำระเงินแทนจำเลย แล้วจึงเรียกเก็บเงินจากจำเลยภายหลัง จึงเป็นการที่โจทก์ผู้ประกอบธุรกิจในการรับทำการงานต่าง ๆ เรียกเอาเงินที่โจทก์ ได้ออกทดรองไป สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(7) มิใช่ สิทธิเรียกร้องตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดอันมีอายุความ 10 ปี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 144,336.56 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี จากต้นเงิน103,747.98 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นสมาชิกบัตรเครดิตขวัญนครและบัตรเครดิตวีซ่าของโจทก์ และได้เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันไว้กับโจทก์จริง แต่จำเลยมิได้นำบัตรไปใช้ในการชำระหนี้ค่าสินค้าและบริการ และโจทก์มิได้ชำระเงินให้แก่ร้านค้าแทนจำเลย โจทก์ไม่มีสิทธินำหนี้อันเกิดจากบัตรเครดิตมาไว้ในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเพื่อคิดดอกเบี้ยทบต้น ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 124,704.25 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปี ของต้นเงิน 103,747.98 บาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องชำระเงินจำนวน124,704.25 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง มีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์ที่ศาลชั้นต้นรับมาแต่เพียงว่า ฟ้องของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ซึ่งในการวินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247โดยศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงมาว่า เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2527 จำเลยได้เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเพื่อใช้ในการเดินสะพัดทางบัญชีและกู้เบิกเงินเกินบัญชีวันที่ 3 ตุลาคม 2533 จำเลยสมัครเป็นสมาชิกบัตรเครดิตขวัญนคร วันที่ 9 มกราคม 2534 จำเลยสมัครเป็นสมาชิกบัตรเครดิตวีซ่าของโจทก์เพื่อนำไปใช้ชำระค่าสินค้า ค่าบริการ ตลอดจนเบิกเงินสด โดยมีข้อตกลงว่าหากมีการเรียกเก็บเงินจากการใช้บัตรดังกล่าวจำเลยตกลงให้โจทก์ชำระแทนไปก่อน และจำเลยจะชำระเงินคืนตามจำนวนและระยะเวลาตามที่โจทก์กำหนด โดยวิธีการหักทอนจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน หากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันปรากฏยอดว่าจำเลยเป็นลูกหนี้ จำเลยยินยอมให้ถือว่าเป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชีและโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ในอัตราสูงสุดตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศธนาคารโจทก์ จำเลยนำบัตรเครดิตไปใช้หลายครั้ง โจทก์ได้ทดรองจ่ายเงินแทนจำเลย โดยได้ส่งใบแจ้งรายการบัตรเครดิตไปยังจำเลยและโจทก์ได้นำเข้าหักทอนในบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน แต่จำเลยนำเงินเข้าหักทอนบัญชีเป็นจำนวนน้อย มีผลให้บัญชีเงินฝากกระแสรายวันปรากฏยอดเป็นลูกหนี้กระแสรายวันเอกสารหมาย จ.15 แต่ในส่วนที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า หนี้ตามบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน เป็นหนี้อันเกิดจากการใช้บัตรเครดิตขวัญนครและบัตรเครดิตวีซ่าของจำเลย โดยโจทก์มิได้นำสืบให้ปรากฏว่าเป็นหนี้ที่เกิดจากการใช้เช็คของจำเลยรวมอยู่ด้วยนั้น ปรากฏว่าโจทก์ได้นำสืบโดยมีนางสาวธนาภรณ์ ลิ้มสุวัฒน์ เบิกความว่าจำเลยได้สั่งจ่ายเช็คจากบัญชีครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2535 ประกอบกับโจทก์มีบัญชีเงินฝากกระแสรายวันมาแสดงให้เห็นชัดเจนว่าหนี้ตามที่ปรากฏในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันมีหนี้ที่เกิดจากการใช้เช็คในวันดังกล่าวรวมอยู่ด้วยจำนวน 9,920.43 บาท ข้อเท็จจริงในส่วนนี้ที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาจึงเป็นการวินิจฉัยผิดไปจากพยานหลักฐานในสำนวน ผิดต่อกฎหมาย ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงใหม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 238, 243(3) ประกอบมาตรา 247 เป็นว่า หนี้ตามที่ปรากฏในบัญชีเงินฝากกระแสรายวันมีหนี้ที่เกิดจากการใช้เช็ครวมอยู่ด้วยเป็นต้นเงิน9,920.43 บาท เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2535 แต่อย่างไรก็ตามปรากฏว่าเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2535 และวันที่ 24 มิถุนายน 2535 จำเลยได้นำเงินเข้าบัญชีชำระหนี้จำนวน 5,500 บาท และ 10,000 บาท ซึ่งแม้ในขณะนั้นนอกจากหนี้ที่เกิดจากการใช้เช็คดังกล่าวแล้ว ในวันที่ 5 มิถุนายน 2535 จำเลยยังเป็นหนี้ที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตวีซ่าและบัตรเครดิตขวัญนครอยู่ด้วยจำนวน 10,926 บาท และ 14,436.75 บาท ตามลำดับและจำนวนเงินที่จำเลยชำระไม่เพียงพอชำระหนี้โจทก์ทุกจำนวน แต่การที่จำเลยชำระหนี้โดยการนำเงินเข้าบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน ซึ่งโดยปกติย่อมผูกพันเป็นเจ้าหนี้ลูกหนี้กันโดยการใช้เช็คเบิกเงินจากบัญชี มิได้ชำระหนี้ที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตโดยตรงอย่างเช่นที่ปรากฏในใบแจ้งรายการบัตรเครดิตเอกสารหมาย จ.14 รายการวันที่ 7 กันยายน 2535 จึงต้องถือว่าจำเลยได้ระบุว่าเงินที่ชำระนั้นเป็นการชำระหนี้ที่เกิดจากการใช้เช็คหนี้ที่เกิดจากการใช้เช็คจึงเป็นอันได้เปลื้องไปทั้งหมดก่อนแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 328 วรรคหนึ่ง กรณีมูลหนี้ที่เหลือทั้งหมดตามที่โจทก์ฎีกาจึงเกิดจากหนี้การใช้บัตรเครดิตขวัญนครและบัตรเครดิตวีซ่าซื้อสินค้าและบริการของจำเลยจากข้อเท็จจริงที่ฟังมาศาลฎีกาเห็นว่าแม้จำเลยได้เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันและต่อมาขอสมัครเป็นสมาชิกบัตรเครดิตของโจทก์โดยโจทก์และจำเลยตกลงเงื่อนไขการชำระหนี้จากการใช้บัตรเครดิตว่า เมื่อโจทก์จ่ายเงินให้แก่ผู้เรียกเก็บเงินจากการใช้บัตรเครดิตของจำเลยแล้ว จำเลยจะต้องใช้เงินที่โจทก์จ่ายแทนไปดังกล่าวโดยวิธีการให้โจทก์หักทอนชำระจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน และต่อมาจำเลยได้ใช้บัตรเครดิตชำระค่าสินค้าและค่าบริการต่าง ๆ ตลอดจนเบิกเงินสดตามข้อตกลงในสัญญาการใช้บัตรเครดิตของโจทก์ แล้วจำเลยส่งเงินชำระหนี้ให้โจทก์ไม่ครบจำนวน แต่เมื่อปรากฏว่าจำเลยคงเป็นหนี้โจทก์เฉพาะที่ใช้บัตรเครดิต การที่จำเลยเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันไว้และยอมให้โจทก์หักเงินที่โจทก์จ่ายแทนจำเลยไปจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันดังกล่าวตามพฤติการณ์ระหว่างโจทก์จำเลยดังกล่าวจึงไม่ใช่บัญชีเดินสะพัดเป็นแต่เพียงข้อตกลงในการชำระหนี้ที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตเท่านั้นและเมื่อตามสัญญาและเงื่อนไขการใช้บัตรเครดิตของโจทก์ จำเลยต้องเสียค่าธรรมเนียมในการออกบัตรเครดิต และจำเลยสามารถนำบัตรเครดิตไปซื้อสินค้าจากร้านค้าที่ตกลงรับบัตรเครดิตของโจทก์โดยไม่ต้องชำระเงินสด เมื่อร้านค้าเรียกเก็บเงิน โจทก์จะเป็นผู้ชำระเงินแทนจำเลยแล้วจึงเรียกเก็บเงินจากจำเลยภายหลัง จึงเป็นการที่โจทก์ผู้ประกอบธุรกิจในการรับทำการงานต่าง ๆ เรียกเอาเงินที่โจทก์ได้ออกทดรองไป สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/34(7) มิใช่สิทธิเรียกร้องตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดอันมีอายุความ10 ปี แต่อย่างใด เมื่อปรากฏว่าวิธีการชำระหนี้จากการใช้บัตรเครดิต โจทก์จะใช้วิธีหักทอนจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันมาชำระหนี้ และโจทก์ได้แจ้งการหักทอนบัญชีแก่จำเลยตามใบแจ้งรายการบัตรเครดิตเอกสารหมาย จ.14 ครั้งสุดท้ายว่าโจทก์จะหักทอนบัญชีในวันที่ 4 พฤศจิกายน2535 เท่ากับกำหนดให้จำเลยชำระหนี้ในวันดังกล่าว เมื่อจำเลยไม่ชำระจึงเป็นการผิดนัดชำระหนี้ดังนี้โจทก์ย่อมบังคับตามสิทธิเรียกร้องของตนได้ตั้งแต่นั้น โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2539 พ้นกำหนด 2 ปีคดีโจทก์จึงขาดอายุความ”

พิพากษายืน

Share