คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8672/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อห้างหุ้นส่วนเลิกกัน ป.พ.พ. มาตรา 1061 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ห้างหุ้นส่วนต้องมีการชำระบัญชี เว้นแต่จะได้ตกลงกันให้จัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกัน แม้ในสัญญาร่วมหุ้นกันทำงานจะระบุวิธีการดำเนินการของห้าง การแบ่งรายได้หรือผลตอบแทนในการร่วมหุ้นตลอดจนการแบ่งปันผลกำไรหรือการส่งมอบเงินทุนแก่ผู้เป็นหุ้นส่วนก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวก็เป็นเพียงสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนที่ระบุถึงวิธีร่วมลงทุนและการประกอบกิจการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้เป็นหุ้นส่วนเท่านั้น และแม้ในสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจะระบุถึงการแบ่งปันเฉพาะผลกำไรให้ผู้ร้องที่ 2 และผู้คัดค้านทั้งสอง แต่ข้อตกลงดังกล่าวก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนเท่านั้น ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อตกลงให้จัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกัน กรณีจึงมีเหตุต้องมีการตั้งผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วน
ห้างหุ้นส่วนมีหุ้นส่วนเพียง 4 คน คือผู้ร้องทั้งสองและผู้คัดค้านทั้งสอง ปรากฏว่าทั้งสองฝ่ายต่างไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ทั้งไม่ประสงค์เป็นผู้ชำระบัญชีร่วมกัน ดังนี้ หากตั้งผู้ร้องที่ 1 ให้เป็นผู้ชำระบัญชีก็ย่อมเล็งเห็นได้ว่าจะเกิดปัญหาในการชำระบัญชีและไม่เกิดประโยชน์แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งสองฝ่าย จึงเห็นสมควรแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีให้เป็นผู้ชำระบัญชีห้างหุ้นส่วน

ย่อยาว

ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องที่ 1 ซึ่งไม่ได้เป็นบุคคลล้มละลาย ถูกพิทักษ์ทรัพย์หรือมีหนี้สินล้นพ้นตัวเป็นผู้ชำระบัญชีของห้าง
ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง หากจำเป็นต้องตั้งผู้ชำระบัญชี ขอให้ตั้งผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้ชำระบัญชีแทนผู้ร้องที่ 1
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2549 ผู้ร้องทั้งสองและผู้คัดค้านทั้งสอง ตกลงเข้าหุ้นกันเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน เพื่อประกอบกิจการจัดหา ส่งมอบ หรือขายไม้หมอนประแจ จำนวน 41,375 เมตร ให้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทย โดยให้ผู้ร้องที่ 1 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ผู้ร้องที่ 1 ลงหุ้นด้วยแรงงานโดยเป็นผู้รับเงินลงทุนไปดำเนินการ ผู้ร้องที่ 2 และผู้คัดค้านทั้งสองลงหุ้นด้วยเงิน เป็นเงินคนละ 2,000,000 บาท 1,500,000 บาท และ 1,500,000 บาท ตามลำดับ ผู้ร้องที่ 1 ตกลงแบ่งกำไรให้ผู้ร้องที่ 2 และผู้คัดค้านทั้งสองเป็นเงิน 40 บาท ต่อไม้ 1 เมตร เป็นเงินรวม 1,669,400 บาท ผู้ร้องที่ 1 จะคืนเงินลงทุนแก่ผู้ร้องที่ 2 และผู้คัดค้านทั้งสองภายในระยะเวลา 10 เดือน นับจากรับสัญญาจากการรถไฟแห่งประเทศไทยหรือวันที่ปฏิบัติตามสัญญากับการรถไฟแห่งประเทศไทยเสร็จสิ้น ผู้ร้องที่ 1 ส่งมอบไม้หมอนประแจงวดสุดท้ายให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2552 ผู้ร้องที่ 1 ไม่เคยแบ่งกำไรหรือคืนเงินลงทุนแก่ผู้คัดค้านทั้งสอง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องที่ 1 ประการแรกว่า กรณีมีเหตุที่ต้องมีการตั้งผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนหรือไม่ เห็นว่า เมื่อห้างหุ้นส่วนเลิกกัน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1061 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ห้างหุ้นส่วนต้องมีการชำระบัญชี เว้นแต่จะได้ตกลงกันให้จัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกัน แม้ในหนังสือสัญญาร่วมหุ้นกันทำงานจะระบุวิธีการดำเนินการของห้างในการส่งสินค้าให้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทย การแบ่งรายได้หรือผลตอบแทนในการร่วมหุ้นตลอดจนการแบ่งปันผลกำไร หรือการส่งมอบเงินทุนแก่ผู้เป็นหุ้นส่วนภายหลังจากที่มีการทำสัญญากับการรถไฟแห่งประเทศไทยเสร็จสิ้นก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวก็เป็นเพียงสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนที่ระบุถึงวิธีร่วมลงทุนและการประกอบกิจการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผู้เป็นหุ้นส่วนเท่านั้น เมื่อห้างหุ้นส่วนได้ทำสัญญาขายไม้หมอนประแจให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย อันเป็นการดำเนินการไปตามสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจนเสร็จการแล้ว สัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนของผู้ร้องทั้งสองและผู้คัดค้านทั้งสองย่อมเป็นอันเลิกกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1055 (3) และหลังจากห้างหุ้นส่วนเลิกกันแล้ว ปรากฏว่ามีการเรียกประชุมผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดเพื่อรับทราบการเลิกห้างหุ้นส่วน และแต่งตั้งผู้ชำระบัญชีในวันที่ 21 สิงหาคม 2552 โดยผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดรับทราบเฉพาะการเลิกห้างหุ้นส่วน แต่ไม่สามารถตั้งผู้ชำระบัญชีได้จึงได้เลื่อนประชุมออกไปในวันที่ 30 กันยายน 2552 แต่ก็ยังไม่สามารถลงมติตั้งผู้ชำระบัญชีได้ โดยฝ่ายผู้ร้องทั้งสองเห็นว่าห้างหุ้นส่วนเลิกกันแล้ว ต้องมีการตั้งผู้ชำระบัญชี ส่วนฝ่ายผู้คัดค้านทั้งสองเห็นว่าผู้ร้องที่ 1 ต้องจัดการแบ่งส่วนกำไรและคืนทุนตามสัญญาร่วมทุนทันทีที่ห้างหุ้นส่วนเลิกกันโดยไม่ต้องตั้งผู้ชำระบัญชี หลังจากนั้นผู้ร้องทั้งสองก็มาร้องขอให้ตั้งผู้ชำระบัญชีเป็นคดีนี้ เช่นนี้ แสดงว่าระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดด้วยกัน ยังไม่เคยตกลงให้มีการจัดการทรัพย์สินหรือเงินลงทุนของห้างหุ้นส่วนกันไว้หลังจากห้างหุ้นส่วนเลิกกัน กรณีจึงมีความจำเป็นที่จะต้องชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วน ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ทราบว่ากิจการมีกำไรหรือขาดทุน และหุ้นส่วนแต่ละคนมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเท่าใด แม้ในสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจะระบุถึงการแบ่งปันเฉพาะผลกำไรให้ผู้ร้องที่ 2 และผู้คัดค้านทั้งสองตามคำแก้ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสองก็ตาม แต่ข้อตกลงดังกล่าวก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนเท่านั้น ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อตกลงให้จัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกัน กรณีจึงมีเหตุต้องมีการตั้งผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วน ฎีกาของผู้ร้องที่ 1 ในข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยประการต่อไปมีว่า ผู้ร้องที่ 1 สมควรเป็นผู้ชำระบัญชีหรือไม่ เห็นว่า ห้างหุ้นส่วนมีหุ้นส่วนเพียง 4 คน คือผู้ร้องทั้งสองและผู้คัดค้านทั้งสอง โดยมีผู้ร้องที่ 1 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ปรากฏว่าทั้งสองฝ่ายต่างไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ทั้งไม่ประสงค์เป็นผู้ชำระบัญชีร่วมกัน ดังนี้ หากตั้งผู้ร้องที่ 1 ให้เป็นผู้ชำระบัญชีก็ย่อมเล็งเห็นได้ว่าจะเกิดปัญหาในการชำระบัญชีและไม่เกิดประโยชน์แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งสองฝ่าย จึงเห็นสมควรแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี ให้เป็นผู้ชำระบัญชีห้างหุ้นส่วน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษากลับ ให้แต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีเป็นผู้ชำระบัญชีห้างหุ้นส่วน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share