คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 864/2502

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยยิงปืนตรงไปทางผู้เสียหาย แต่กระสุนปืนไม่ถูกผู้เสียหายเพราะผู้เสียหายหลบเสียก่อนนั้น เป็นการกระทำไปตลอดแล้ว หากแต่ไม่บรรลุผลตามที่จำเลยเจตนาเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าคน
โจทก์ได้บรรยายในฟ้องว่า ได้มีการสมคบกันกระทำผิดแม้โจทก์จะไม่ได้อ้างบทมาตราที่บัญญัติถึงการร่วมกระทำความผิด ศาลก็รับฟังลงโทษจำเลยในฐานสมคบกันกระทำความผิดนั้นได้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสองสมคบกันฉุดคร่าอนาจารและจำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเรานางสาวแหวนและทั้งจำเลยที่ 1 ยังพยายามฆ่านายเพื้อนที่เข้าช่วยเหลือนางสาวแหวนอีกด้วยพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 ผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276, 284, 288 และ 80 แต่ให้ลงโทษตาม มาตรา 288, 80 ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก 10 ปีจำเลยที่ 2 ผิดตาม มาตรา 284 จำคุก 2 ปี แต่จำเลยที่ 1 อายุเพียง 20 ปี จำเลยที่ 2 อายุเพียง 17 ปี ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่งตามมาตรา 76 คงจำคุกจำเลยที่ 1 ไว้ 5 ปี จำเลยที่ 2 เหลือ 2 ปีมีดของกลางให้ริบ

จำเลยทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว คดีนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 คงเหลือเฉพาะปัญหาข้อกฎหมายในฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า การกระทำของจำเลยตามข้อเท็จจริงยังปรับไม่ได้ว่าเป็นความผิดฐานพยายามประการหนึ่ง กับอีกประการหนึ่งในข้อสมคบคำขอท้ายฟ้องของโจทก์มิได้ขอมา แสดงให้เห็นว่า โจทก์ไม่ประสงค์จะขอให้ลงโทษฐานสมคบ

ในข้อที่ว่า การกระทำของจำเลยจะเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าคนหรือไม่นั้น ศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชี้ขาดไว้แล้วว่า จำเลยที่ 1 จ้องปืนไปทางนายเพื้อน ๆ หลบ ปืนก็ลั่น

ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยยิงปืนตรงไปทางนายเพื้อนแต่กระสุนปืนไม่ถูกนายเฟื้อน เป็นเพราะนายเฟื้อนหลบเสียก่อนนั้นความผิดของจำเลยเป็นการกระทำไปตลอดแล้ว หากแต่ไม่บรรลุผลตามที่จำเลยเจตนาเท่านั้น การกระทำของจำเลยดังกล่าวนี้จึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าคน

ส่วนฎีกาของจำเลยที่กล่าวในข้อสมคบว่า โจทก์มิได้ขอมาท้ายฟ้องนั้น ข้อนี้ ถ้าจำเลยหมายความว่า โจทก์มิได้อ้างบทมาตราว่าด้วยการร่วมกระทำผิดไว้ท้ายฟ้อง จะลงโทษจำเลยไม่ได้นั้นข้อนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า หามีความจำเป็นดังที่เข้าใจไม่ เพราะโจทก์ได้บรรยายในฟ้องแล้วว่า ได้มีการสมคบกันกระทำผิดแม้โจทก์จะไม่ได้อ้างบทมาตราที่บัญญัติถึงการร่วมกระทำความผิดว่า มีอย่างไรก็ตาม ศาลก็รับฟังลงโทษจำเลยได้

ศาลฎีกาพิพากษายืน

Share