คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 861/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 48 วรรคแรก บัญญัติว่า “เมื่อมีความผิดนอกจากที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัตินี้เกิดขึ้นด้วยการโฆษณาสิ่งพิมพ์ นอกจากหนังสือพิมพ์ ผู้ประพันธ์ ซึ่งตั้งใจให้โฆษณาบทประพันธ์นั้นต้องรับผิดเป็นตัวการ ถ้าผู้ประพันธ์ไม่ต้องรับผิดหรือไม่ได้ตัวผู้ประพันธ์ ก็ให้ลงโทษแก่ผู้พิมพ์เป็นตัวการ” วรรค 2 บัญญัติว่า “ในกรณีแห่งหนังสือพิมพ์ ผู้ประพันธ์ และบรรณาธิการ ต้องรับผิดเป็นตัวการ และถ้าไม่ได้ตัวผู้ประพันธ์ ก็ให้เอาโทษแก่ผู้พิมพ์เป็นตัวการด้วย” เมื่อจำเลยซึ่งเป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์และผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ ซึ่งลงบทความตามที่โจทก์ฟ้อง จำเลยจึงต้องรับผิดเป็นตัวการตามวรรค 2
พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 เป็นกฎหมายพิเศษ ในมาตรา 4 ได้บัญญัติให้บรรณาธิการเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดทำ ตรวจแก้ คัดเลือก หรือควบคุมบทประพันธ์ หรือสิ่งอื่นในหนังสือพิมพ์ ทั้งนี้เพื่อมิให้มีการพิมพ์บทประพันธ์หรือสิ่งอื่นในหนังสือพิมพ์อันเป็นการละเมิดต่อกฎหมาย หากบทประพันธ์หรือสิ่งอื่นที่พิมพ์ในหนังสือพิมพ์เป็นความผิดตามมาตรา 48 จึงบัญญัติให้บรรณาธิการต้องรับผิดเป็นตัวการ ดังนั้น จำเลยจะได้สมคบร่วมรู้กับ ส.หรือไม่ จึงไม่ใช่ข้อแก้ตัว เพราะถ้าจำเลยสมคบร่วมรู้กับ ส. ในการลงบทความ จำเลยก็เป็นตัวการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ถ้าจะให้จำเลยสมคบร่วมรู้กับ ส.แล้ว จึงจะเป็นความผิด ก็ไม่มีประโยชน์อันใดที่พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 จะบัญญัติมาตรา 48 ขึ้นมา และที่ไม่ได้บัญญัติโทษไว้ก็เพราะความผิดที่เกิดขึ้นมีบทกำหนดโทษอยู่แล้ว ดังเช่นคดีนี้ บทความของ ส.ซึ่งจำเลยลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ตามที่โจทก์ฟ้อง เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำเลยต้องรับผิดเป็นตัวการตาม พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. 2484 มาตรา 48 วรรค 2 และต้องได้รับโทษตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
การวินิจฉัยว่าบทความของ ส.ตามฟ้องจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท และดูหมิ่นพระมหากษัตริย์และพระราชินีหรือไม่นั้น เป็นการวินิจฉัยลักษณะของการกระทำว่าผิดกฎหมายหรือไม่ มิใช่วินิจฉัยผลแห่งการกระทำ จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ศาลพิจารณาบทความแล้ววินิจฉัยได้เอง หรือจะเอาพยานโจทก์จำเลยมาประกอบวินิจฉัยด้วยก็ได้ จึงไม่ผิดกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ขณะจำเลยกระทำความผิดนี้ ประเทศไทยมีพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระเจ้าอยู่หัวในรัชการปัจจุบัน เป็นพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๑๗ และมีสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ เป็นพระราชินีปฏิบัติพระราชกรณียกิจอันเป็นที่รักและเคารพของประชาชน จำเลยเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานการพิมพ์ให้เป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณาของหนังสือพิมพ์ดาวดารายุคลสยาม มีหน้าที่รับผิดชอบตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๔๘๔ โดยมีนายเสนีย์ สูงนารถ จำเลยในคดีหมายเลขแดงที่ ๑๔๐๐/๒๕๑๙ ของศาลอาญา เป็นนักเขียนผู้ประพันธ์ประจำหนังสือพิมพ์ดังกล่าวในคอลัมน์ “หัวคน – หัวโขน” ซึ่งหนังสือพิมพ์ดังกล่าวนี้ พิมพ์โฆษณาจำหน่ายเผยแพร่แก่ประชาชนทั่วราชอาณาจักร
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชการปัจจุบันทรงรับเชิญเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานกระบี่และปริญญาบัตรแก่นักเรียนนายร้อยตำรวจที่สำเร็จการศึกษาชั้นศึกประจำปีการศึกษา พ.ศ.๒๕๑๗ ณ.โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน จังหวัดนครปฐม ในวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๑๘ เวลา๑๕.๔๐ นาฬิกา ตามคำกราบบังคมทูลของรัฐมนตรีว่ากระทรวงมหาดไทย โดยได้ทรงเตรียมพระบรมราโชวาทที่จะพระราชทานแก่นักเรียนนายร้อยที่สำเร็จการศึกษานั้นใว้ แต่เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่เพิ่งหายจากประชวร และคณะแพทย์ถวายความเห็นขอให้ทรงพักผ่อน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมราชินีนาถเสด็จแทนพระองค์ สมเด็จพระบรมราชินีนาถจึงได้เสด็จแทนพระองค์ และได้พระราชทานพระบรมราโชวาทของพระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแทนพระองค์ในวันเวลาดังกล่าวมีใจความสำคัญว่า ผู้สำเร็จการศึกษาชั้นสูงสุดของโรงเรียนนายร้อยตำรวจจะเป็นบุคคลสำคัญคือผู้พิทักษ์นสันติราษฎร์ ซึ่งจำต้องแบกภาระรับผิดชอบอย่างสูงและหนักยิ่ง ขอให้อดทน อดกลั้น ทำตนให้เป็นมนุษย์ให้สมบูรณ์ คำว่า “มนุษย์” นั้นต่างกับ “คน” คือ “คน” หมายความแค่สัตว์โลกประเภทหนึ่ง แต่ “มนุษย์” หมายความถึงคนที่มีจิตในสูง มีความรักที่กว้างขวาง มีความจริงต่อทุกสิ่งทุกอย่างที่ควรจริงด้วย การเป็นมนุษย์เป็นภาวะที่ยากที่คนจะเพียรพยายามก้าวให้ถึงได้ ตำรวจต้องเป็นมนุษย์ให้สมบูรณ์ครบถ้วน จึงจะเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ได้สำเร็จ แต่กระทำได้ยากยิ่งเพราะมีอุปสรรคภัยอันตราย ความบีบคั้นต่าง ๆ ทั้งทางกายและจิตใจ ทั้งต้องผจญกับพวก “อมนุษย์” คือคนใจต่ำผู้ไม่มีหลักการอันชอบธรรม และมักก่อเหตุรังควานให้เกิดความปั่นป่วนอยู่เสมอ อุดมคดีนั้น แม้จะกินเข้าไปไม่ได้แต่คนเราไม่ได้เกิดมาเพื่อกินประการเดียว หากแต่เกิดมาเพื่อปฏิบัติประโยชน์สูงสุดในความเป็นมนุษย์ การทำหน้าที่ทั้งปวงด้วยเจตนาบริสุทธิ์เที่ยงตรงที่จะรักษาธรรม หรือความถูกต้องไว้เพื่อยังประเทศตลอดจนเพื่อมนุษย์ให้มีสันติสุขและความร่มเย็นเป็นจุดหมายอันสูงสุด รายละเอียดปรากฏตามสำเนาพระบรมราโชวาทท้ายฟ้อง
เมื่อระหว่างวันที่ ๙ ถึงวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๑๘ ทั้งเวลากลางวันและกลางคืน จำเลยและนายเสนีย์ สูงนารถ ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์และพระราชินี เนื่องในการพระราชทานพระบรมราโชวาทดังกล่าว โดยพิมพ์โฆษณาลงในหนังสือพิมพ์ดาวดารายุคสยามปีที่ ๑ ฉบับที่ ๒๓๑ ประจำวันพฤหัสบดีที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๑๘ ที่จำเลยเป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา และ นายเสนีย์ สูงนารถ เป็นผู้เขียนผู้ประพันธ์ในคอลัมน์ “หัวคน – หัวโขน” เรื่อง “อมนุษย์” ออกจำหน่ายเผยแพร่ในหมู่ประชาชนทั่วราชอาณาจักร มีข้อความว่า
“ถูกต้องในสมัยหนึ่ง กลับผิดในสมัยต่อมา นักศึกษาประชาชนกลุ่มก่อความวุ่นวายจนถูกผู้มีบุญประนามว่า “อมนุษย์” อันหมายความถึงคณะบุคคลที่มีจิตใจต่ำทราม ไม่มีหลักการอันชอบธรรม และมักก่อเหตุรำคาญปั่นป่วนอยู่เสมอนั้น ควรได้รำลึกถึงแก่นความจริงสันดานของมนุษย์ปุถุชนสวมหัวโขน ตำรวจต้องเป็นมนุษย์ให้สมบูรณ์ครบถ้วน จึงจะเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ได้สำเร็จ การปฏิบัติตัวให้เป็นมนุษย์สามารถทำหน้าที่ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์เพื่อมาปราบปรามพวก “อมนุษย์” ครับ…… ความพยายามแบ่งแยก “มนุษย์” ออกจาก “คน” หรือแบ่งแยก “คน” ออกจาก “มนุษย์” นั้น…..มีมานานแล้ว โดยเฉพาะสังคมศักดินาสวามิภักดิ์ นับเป็นการจัดระดับชนชั้น ผมอดเศร้าสะเทือนใจไม่ได้ ขณะที่ทุกฝ่ายพยายามหาทางลด “ช่องว่าง” ระหว่าง “ฐานันดร” ท่ามกลางพายุการเมืองกระพือโหม แต่เหตุไฉนผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินจึงจะต้องพยายามขยายช่องว่างให้เปิดกว้างขึ้นเล่า ที่ไหนมีการกดขี่ที่นั่นย่อมต่อต้าน มนุษย์ผู้เจริญแล้วที่เคารพวิสัชนาปุจฉาตัวท่านเองก่อนเถิด อันความปั่นป่วนวุ่นวายมันเกิดจากอะไร ความยุติธรรมในสังคมใช่หรือไม่ ปืนอยู่ในมือผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ใช้ปราบโจรผู้ร้ายไม่ใช่ห้ำหั่นผู้มีความคิดตรงกันข้าม ดาบในมือตำรวจไม่มีสิทธิฟาดฟันเสรีภาพประชาชน อาวุธฆ่าคนได้ แต่ฆ่าปัญญาของคนไม่ได้ อาวุธผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ฆ่าความเที่ยงธรรมได้ แต่ฆ่าความยุติธรรม……..ไม่ได้” พ่อแม่ที่เคารพ “มนุษย์” ยกย่องตัวเองว่า “สัตว์ชั้นสูง” กับคนซึ่งถูกประนามว่า “สัตว์ชั้นต่ำ” ผมเลือกเป็น “คน” มากกว่า
ซึ่งโจทก์จะได้ส่งต้นฉบับในชั้นพิจารณา ข้อความดังกล่าวเป็นการละเมิดต่อพระมหากษัตริย์และเป็นการกล่าวร้ายใส่ความเสียดสี หมิ่นประมาท ดูหมิ่นเหยียดหยามต่อพระมหากษัตริย์และพระราชินีดังกล่าวพระนามแล้ว ต่อบุคคลที่สามว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีนาถประนามกลุ่มนักศึกษาและประชาชน พยายามแบ่งแยกชนชั้นขยายช่องว่าระหว่างชนชั้นให้กว้างขึ้น และสนับสนุนตำรวจให้ปราบปรามผู้ที่มีความคิดเห็นตรงข้าม เพื่อตัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งความจริงพระองค์ท่านทั้งสองได้พระราชทานพระบรมราโชวาทเพื่อให้ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ด้วยความมีจิตใจสูง มีอุดมคติ มีเจตนาบริสุทธิ์เที่ยงธรรมและความถูกต้อง เพื่อความสันติสุขและความร่มเย็นของประชาชนและประเทศชาติ ทั้งนี้โดยประการที่ทำให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชการปัจจุบันและสมเด็นพระบรมราชินีนาถเสื่อมเสียพระเกียรติ์ยศชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและเกลียดชังจากประชาชน ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒, ๘๓, ๕๘ พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๔๘๔ มาตรา ๔, ๔๘
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ จำคุก ๑ ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกาทั้งในปัญหาข้อเท็จจริง และข้อกฎหมายสำหรับปัญหาข้อเท็จจริง ผู้พิพากษาผู้ลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า การกระทำของ ส.เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทและดูหมิ่นพระมหากษัตริย์และพระราชินี และวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า จำเลยซึ่งเป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ดาวดารายุคสยาม จะต้องร่วมรับผิดกับนายเสนีย์ สูงนารถหรือไม่ ตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๔๘ วรรคแรกบัญญัติว่า “เมื่อมีความผิดนอกจากที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัตินี้เกิดขึ้นด้วยการโฆษณาสิ่งพิมพ์นอกจากหนังสือพิมพ์ ผู้ประพันธ์ซึ่งตั้งใจให้โฆษณาบทประพันธ์นั้นต้องรับผิดเป็นตัวการ ถ้าผู้ประพันธ์ไม่ต้องรับผิดหรือไม่ได้ตัวผู้ประพันธ์ ก็ให้เอาโทษแก่ผู้พิมพ์เป็นตัวการ” วรรค ๒ บัญญัติว่า “ในกรณีแห่งหนังสือพิมพ์ ผู้ประพันธ์และบรรณาธิการต้องรับผิดเป็นตัวการ และถ้าไม่ได้ตัวผู้ประพันธ์ ก็ให้เอาโทษแก่ผู้พิมพ์เป็นตัวการด้วย” เมื่อจำเลยซึ่งเป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ และผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ดาวดารายุคลสยาม ซึ่งลงบทความตามที่โจทก์ฟ้อง จำเลยจึงต้องรับผิดเป็นตัวการตามวรรค ๒ ที่จำเลยฎีกาอ้างว่า ตามข้อเท็จจริงที่ศาลล่างทั้งสองฟังมาว่า ในขณะที่นายเสนีย์ สูงนารถ ประพันธ์และส่งบทความตามฟ้องให้ลงพิมพ์จำเลยไม่ได้สมคบร่วมรู้กับนายเสนีย์ สูงนารถ จำเลยจึงไม่มีเจตนาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๙ และตาม พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๔๘ วรรค ๒ ไม่มีบทลงโทษและไม่ได้บัญญัติอัตราโทษไว้แต่อย่างใด จะลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ไม่ได้นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นกฎหมายพิเศษ ในมาตรา ๔ ได้บัญญัติให้บรรณาธิการเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดทำ ตรวจแก้ คัดเลือก หรือควบคุมบทประพันธ์หรือสิ่งอื่นในหนังสือพิมพ์ ทั้งนี้ เพื่อมิได้มีการพิมพ์บทประพันธ์หรือสิ่งอื่นในหนังสือพิมพ์อันเป็นการละเมิดต่อกฎหมาย หากบทประพันธ์หรือสิ่งอื่นที่พิมพ์ในหนังสือพิมพ์เป็นความผิด มาตรา ๔๘ จึงบัญญัติให้บรรณาธิการต้องรับผิดเป็นตัวการ ดังนั้น จำเลยจะได้สมคบร่วมรู้กับนายเสนีย์ สูงนารถ หรือไม่ จึงไม่ใช่ข้อแก้ตัว เพราะถ้าจำเลยสมคบร่วมรู้กับนายเสนีย์ สูงนารถ ในการลงบทความ จำเลยก็เป็นตัวการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา+ ถ้าจะให้จำเลยสมคบร่วมรู้กับนายเสนีย์ สูงนารถแล้ว จึงจะเป็นความผิด ก็ไม่มีประโยชน์อันใดที่พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ จะบัญญัติมาตรา ๔๘ ขึ้นมา และที่ไม่ได้บัญญัติโทษไว้ก็เพราะความผิดที่เกิดขึ้นตามมาตรา ๔๘ นี้ เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอื่น ซึ่งมีบทกำหนดโทษอยู่แล้ว ดังเช่นคดีนี้ บทความของนายเสนีย์ สูงนารถ ซึ่งจำเลยนำลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ดาวดารายุคลสยาม เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ จำเลยต้องรับผิดเป็นตัวการตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๔๘ วรรค ๒ และต้องได้รับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒ ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยนอกความอันปรากฏในห้องสำนวนโดยมิได้ฟังคำพยานของโจทก์ และจำเลย มาเป็นเหตุผลในการพิจารณาคดี แต่เอาความรู้สึกของวิญญูชนซึ่งศาลย่อมรู้ได้เองมาวินิจฉัยว่า บทความของนายเสนีย์ สูงนารถ ตามฟ้องเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นองค์ประมุขของชาติและสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความนั้น เห็นว่าการวินิจฉัยว่าบทความของนายเสนีย์ สูงนารถ ตามฟ้องจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทและดูหมิ่นพระมหากษัตริย์และพระราชินีหรือไม่นั้น เป็นการวินิจฉัยลักษณะของการกระทำว่าผิดกฎหมายหรือไม่ ไม่ใช่วินิจฉัยผลแห่งการกระทำ จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ศาลอุทธรณ์พิจารณาบทความแล้ววินิจฉัยได้เอง หรือจะเอาพยานโจทก์จำเลยมาประกอบการวินิจฉัยด้วยก็ได้ จึงไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน
พิพากษายืน

Share