แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายอายุ 14 ปี พักอาศัยอยู่กับยายเมื่อยังไม่บรรลุนิติภาวะย่อมต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดา การที่จำเลยให้ผู้เสียหายไปทำความสะอาดห้องนอนของจำเลยแล้วตามไปกระทำชำเราผู้เสียหายในครั้งแรก และเมื่อผู้เสียหายไปหาจำเลยที่บ้านเพื่อสอบถามว่าเหตุใดจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายแล้วจึงไม่รับผิดชอบจำเลยกลับกระทำชำเราผู้เสียหายเป็นครั้งที่สองล้วนเป็นการกระทำอันล้วงล้ำต่ออำนาจการปกครองของบิดามารดาของผู้เสียหายทั้งสิ้น ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยปราศจากเหตุอันสมควร อย่างไรก็ดี จำเลยยังไม่มีภริยา จึงอยู่ในสถานะที่จะเลี้ยงดูผู้เสียหายฉันสามีภริยาได้ และต่างก็รักใคร่ชอบพอกันทั้งได้จดทะเบียนสมรส โดยได้รับอนุญาตจากศาล จึงมิใช่เป็นการพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจาร แต่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคแรก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำผิดหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ เมื่อวันที่ 14 เมษายน2542 เวลากลางคืนก่อนเที่ยงจำเลยได้พรากเด็กหญิงเกศวดี เจริญชัย ผู้เสียหาย ซึ่งอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากนางบังอร เจริญชัย ผู้เป็นมารดา (ที่ถูกนางบังอรและนายทวีศักดิ์ เจริญชัย ผู้เป็นบิดามารดา) เพื่อการอนาจาร จากนั้นจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายซึ่งมิใช่ภรรยาของตน และเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2542 เวลากลางคืนหลังเที่ยงจำเลยพรากผู้เสียหายไปเสียจากนางบังอรผู้เป็นมารดาเพื่อการอนาจาร จากนั้นจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายอีกครั้งหนึ่งโดยการกระทำชำเราทั้งสองครั้ง จำเลยได้ผลักผู้เสียหายให้นอนลงแล้วขึ้นคร่อมทับตัวผู้เสียหายไว้จนผู้เสียหายอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ จากนั้นจำเลยถอดเสื้อผ้าของตนเองและของผู้เสียหายออกแล้วกระทำการกระทำชำเราผู้เสียหายจนสำเร็จความใคร่ เหตุเกิดที่ตำบลปลาโหล อำเภอวาริชภูมิจังหวัดสกลนคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277, 317 วรรคสาม,91
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277 วรรคแรก, 317 วรรคสาม การกระทำของจำเลยความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกิน 15 ปี รวม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 4 ปี ฐานพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากมารดาเพื่อการอนาจารรวม 2 กระทง จำคุกกระทงละ 5 ปี รวมทุกกระทงจำคุก 18 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก9 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องข้อหากระทำชำเราเด็กหญิงอายุกว่าสิบสามปี แต่ยังไม่เกินสิบห้า และข้อหาพรากผู้เยาว์
โจทก์ฎีกาเฉพาะข้อหาพรากผู้เยาว์
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่าขณะเกิดเหตุเด็กหญิงเกศวดีเจริญชัย ผู้เสียหายอายุ 14 ปีเศษ พักอาศัยอยู่กับยายที่บ้านเลขที่ 170 หมู่ที่ 6 ตำบลปลาโหล อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2542 เวลาประมาณ19 นาฬิกา ผู้เสียหายไปดูภาพยนตร์ที่งานวัดราษฎร์นิยมจนเวลา 1 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้นพบกับจำเลยแล้วพากันไปเดินเล่นใต้ถุนบ้านพี่ชายของจำเลย จำเลยขอให้ผู้เสียหายช่วยทำความสะอาดห้อง เมื่อผู้เสียหายเข้าไปภายในห้องนอน จำเลยตามเข้าไปกระทำชำเราผู้เสียหายโดยผู้เสียหายยินยอมจนสำเร็จความใคร่ 1 ครั้ง ต่อมาวันที่ 5 กรกฎาคม2542 ประมาณ 21 นาฬิกา ผู้เสียหายเดินทางไปพบจำเลยที่บ้านเพื่อสอบถามว่าเหตุใดจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายแล้วไม่รับผิดชอบ จำเลยดึงแขนผู้เสียหายเข้าไปในห้องนอนแล้วกระทำชำเราผู้เสียหาย โดยผู้เสียหายยินยอมจนสำเร็จความใคร่อีก 1 ครั้ง หลังเกิดเหตุบิดามารดาของผู้เสียหายทราบเรื่องจึงพาผู้เสียหายไปแจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลย ระหว่างพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นศาลอนุญาตให้จำเลยและผู้เสียหายสมรสกันสำหรับข้อหากระทำชำเราเด็กหญิงอายุกว่าสิบสามปี แต่ยังไม่เกินสิบห้าปีได้ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 โดยโจทก์ไม่ได้ฎีกา คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจารหรือไม่ เห็นว่า ขณะเกิดเหตุแม้ผู้เสียหายพักอาศัยอยู่กับยาย แต่เมื่อยังไม่บรรลุนิติภาวะย่อมต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดาซึ่งสมรสกันโดยถูกต้องตามกฎหมายพฤติการณ์ของจำเลยที่ให้ผู้เสียหายไปทำความสะอาดห้องนอนของจำเลยแล้วตามไปกระทำชำเราผู้เสียหายในห้องนอนของตนในครั้งแรกก็ดี และเมื่อผู้เสียหายได้ไปหาจำเลยที่บ้าน เพื่อสอบถามว่าเหตุใดจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายแล้วจึงไม่รับผิดชอบ จำเลยกลับกระทำชำเราผู้เสียหายเป็นครั้งที่สองก็ดี ล้วนเป็นการกระทำอันล้วงล้ำต่ออำนาจการปกครองของบิดามารดาของผู้เสียหายทั้งสิ้น ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยปราศจากเหตุอันสมควร พรากผู้เสียหายซึ่งอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา อย่างไรก็ดีการที่จำเลยยังมิได้มีภริยาจึงอยู่ในสถานะที่จะเลี้ยงดูผู้เสียหายฉันสามีภริยาได้ และได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายที่ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยด้วยว่าหลังจากเกิดเหตุคดีนี้แล้ว ผู้เสียหายประสงค์ที่จะขออนุญาตทำการสมรสกับจำเลยแสดงว่าผู้เสียหายและจำเลยต่างก็รักใคร่ชอบพอกัน ทั้งต่อมาผู้เสียหายกับจำเลยก็ได้จดทะเบียนสมรส โดยได้รับอนุญาตจากศาล ย่อมเป็นเครื่องชี้เจตนาของจำเลยได้ว่าประสงค์ที่จะเลี้ยงดูผู้เสียหายเป็นภริยา พฤติการณ์ของจำเลยจึงมิใช่เป็นการพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจาร แต่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317วรรคแรก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกฟ้องจำเลยในข้อหาดังกล่าวนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317วรรคแรก การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพรากเด็กอายุไม่เกินสิบห้าปี ไปเสียจากบิดามารดา รวมสองกระทง จำคุกกระทงละ 3 ปี รวมจำคุก 6 ปีจำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกกระทงละ 1 ปี 6 เดือน รวม 2 ปี 12 เดือน โทษที่จำเลยได้รับแต่ละกระทงจำคุกไม่เกิน 2 ปี จำเลยเป็นนักศึกษาและเป็นญาติของผู้เสียหาย ไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เมื่อคำนึงถึงพฤติการณ์ของจำเลยที่จดทะเบียนสมรสกับผู้เสียหาย ทั้งได้เยียวยาความเสียหายให้แก่ผู้เสียหายแล้ว จึงถือเป็นเหตุอื่นควรปรานี ให้รอการลงโทษจำเลยไว้กำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4