แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 เป็นเพียงให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้มีชื่อในทะเบียนที่ดินเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าอื่นครอบครอง ข้อสันนิษฐานเช่นว่านี้ ก็เป็นอันพับไป
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคแรก เป็นบทบัญญัติว่า การได้มาโดยวิธีใดจึงจะสมบูรณ์ตามกฎหมาย หาใช่เป็นบทบัญญัติว่าแม้จะได้มาโดยไม่สุจริต ก็ให้มีสิทธิด้วยไม่
ย่อยาว
ได้ความว่าโจทก์จำเลยต่างฝ่ายต่างครอบครองที่ดินที่ตนเป็นเจ้าของแต่เลขโฉนดไขว้กัน โจทก์จึงเอาเหตุที่โฉนดไขว้กัน โจทก์จึงเอาเหตุที่เลขโฉนดไขว้กันนี้ มาฟ้องให้จำเลยรื้อถอนเสารื้อลวดหนาม ให้พ้นที่ดินซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นที่ดินของแต่มีความจริงที่ตรงนั้นเป็นที่ของจำเลยครอบครองอยู่
ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลทั้งสอง ให้ยกฟ้องโจทก์
ในส่วนที่เกี่ยวกับข้อกฎหมายที่โจทก์อ้างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๗๓ ศาลฎีกาเห็นว่ามาตรานี้เป็นเพียงให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้มีชื่อในทะเบียนที่ดินเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยครอบครองที่พิพาท จะฟังว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองไม่ได้
โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ที่ ๒ ได้จดทะเบียนการโอนซื้อขายต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยเสียค่าตอบแทนไป โจทก์ที่ ๒ ย่อมได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๒๙๙ วรรคแรก ๑๓๐๐ ข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่า มาตรา ๑๒๙๙ วรรคแรก เป็นบทบัญญัติว่า การได้มาด้วยวิธีใดจึงจะสมบูรณ์ตามกฎหมาย หาใช่เป็นบทบัญญัติว่า แม้จะได้มาโดยไม่สุจริต ก็ให้โจทก์มีสิทธิไม่จึงไม่เป็นประโยชย์แก่คดีโจทก์ประการใด ส่วนมาตรา ๑๓๐๐ ก็เป็นบทบัญญัติให้สิทธิผู้รับโอนโดยสุจริต ก็เมื่อศาลฟังไว้แล้วว่า การโอนของโจทก์ไม่สุจริตมาตรา ๑๓๐๐ ก็ไม่มีประโยชน์แก่คดีของโจทก์เช่นเดียวกัน