คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8533/2542

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในมูลละเมิดซึ่งมีอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ส่วนจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาประกันวินาศภัย ซึ่งมีอายุความ 2 ปี นับแต่วันวินาศภัยตามมาตรา 882 วรรคหนึ่ง แสดงว่าอายุความฟ้องจำเลยทั้งสองสามารถแยกออกจากกันได้อีกทั้งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 295บัญญัติให้เรื่องอายุความเป็นคุณหรือเป็นโทษเฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้นฉะนั้น การฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในมูลละเมิดจึงขาดอายุความ 1 ปีย่อมเป็นคุณเฉพาะแก่จำเลยที่ 1 ไม่เกี่ยวข้องกับการฟ้องให้จำเลยที่ 2รับผิดตามสัญญาประกันวินาศภัยซึ่งมีอายุความ 2 ปี นับแต่วันวินาศภัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าซ่อมรถยนต์หมายเลขทะเบียน 80-3304 ชลบุรี ของโจทก์รวมทั้งค่าจ้างยกลากรถและค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถพร้อมดอกเบี้ยเป็นเงิน 356,718 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 310,190 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์เนื่องจากลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 72-1970 กรุงเทพมหานคร พ่วงรถหมายเลขทะเบียน 72-2750กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ 1 ด้วยความประมาทเฉี่ยวชนรถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหายและให้จำเลยที่ 2 รับผิดในฐานะเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 1

จำเลยที่ 1 ให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์ฟ้องเกิน1 ปี นับแต่วันเกิดเหตุละเมิด ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์มิได้เป็นคดีโจทก์ขาดอายุความสำหรับจำเลยที่ 1 มีผลให้จำเลยที่ 2 หลุดพ้นความรับผิดด้วย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 127,190 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 กันยายน 2535 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาทต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาปัญหาข้อกฎหมายว่า คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ขาดอายุความหรือไม่นั้นศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2535 เวลาประมาณ 23 นาฬิกา ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 72-1970 กรุงเทพมหานครพ่วงรถหมายเลขทะเบียน 72-2750 กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ 1ซึ่งจำเลยที่ 2 รับประกันภัยค้ำจุนไว้ด้วยความประมาทเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-3304 ชลบุรี ของโจทก์ได้รับความเสียหาย ต่อมาวันที่ 8 กันยายน 2537 โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองให้ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าซ่อมรถยนต์ค่าจ้างลากรถและค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดในฐานะเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 72-1970 กรุงเทพมหานครพ่วงรถหมายเลขทะเบียน 72-2750 กรุงเทพมหานคร นายจ้างตัวการวาน ใช้ ผู้ขับขี่และควบคุมรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวและให้จำเลยที่ 2ร่วมรับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนความรับผิดชดใช้ค่าเสียหายของจำเลยทั้งสองย่อมแตกต่างกัน จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในมูลละเมิดซึ่งมีอายุความ 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง ส่วนจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาประกันวินาศภัย ซึ่งมีอายุความ 2 ปี นับแต่วันวินาศภัยตามมาตรา 882 วรรคหนึ่ง แสดงว่าอายุความฟ้องจำเลยทั้งสองสามารถแยกออกจากกันได้อีกทั้งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 295 บัญญัติให้เรื่องอายุความเป็นคุณหรือเป็นโทษเฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น ฉะนั้น การฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในมูลละเมิดจึงขาดอายุความ 1 ปี ย่อมเป็นคุณเฉพาะแก่จำเลยที่ 1 ไม่เกี่ยวข้องกับการฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาประกันวินาศภัยซึ่งมีอายุความ 2 ปีนับแต่วันวินาศภัย คดีนี้ความรับผิดตามสัญญาประกันวินาศภัยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2535 โจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2537เป็นการฟ้องภายในเวลา 2 ปี นับแต่วันวินาศภัย คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2จึงไม่ขาดอายุความ”

พิพากษายืน

Share