แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้ข้อความในสัญญาที่จำเลยให้เครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์แก่โจทก์จะระบุว่าจำเลยตกลงโอนกรรมสิทธิ์ในเครื่องวิทยุคมนาคมให้แก่โจทก์ผู้รับนับแต่วันทำสัญญา และโจทก์ได้รับมอบเครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์ดังกล่าวแล้ว แต่ตามข้อเท็จจริงปรากฏว่าในวันทำสัญญานั้นจำเลยไม่ได้ส่งมอบเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์ให้แก่โจทก์ ดังนั้น สัญญาให้ดังกล่าวจึงขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 523 ซึ่งบัญญัติว่า การให้ย่อมสมบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ให้ สัญญาให้จึงไม่สมบูรณ์ เช่นเดียวกับสัญญาเช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์ระหว่างจำเลยกับโจทก์ที่ทำในวันเดียวกันนั้น เมื่อโจทก์ไม่ได้ส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าให้จำเลยนำไปใช้ แม้ในสัญญาจะมีข้อความว่าจำเลยตกลงนำเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์ไปติดตั้ง ณ หน่วยงานของจำเลย สัญญาเช่าก็ไม่สมบูรณ์เนื่องจากขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 546 ซึ่งกำหนดว่า ผู้ให้เช่าต้องส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้เช่านั้นในสภาพอันซ่อมแซมดีแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเช่า ค่าเสียหายและบังคับให้จำเลยคืนวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ทำสัญญาให้เครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมด้วยอุปกรณ์แก่โจทก์ ในวันเดียวกันจำเลยได้ทำสัญญาเช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์ดังกล่าวจากโจทก์มีกำหนด 1 ปี นับแต่วันทำสัญญาเป็นต้นไป ในอัตราค่าเช่าเดือนละ 300 บาทโดยข้อตกลงในสัญญาเช่าใช้ว่าเมื่อครบกำหนดแล้ว หากผู้เช่ายังคงใช้เครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์อยู่อีกให้ถือว่าผู้เช่าตกลงเช่าต่อไปจนกว่าผู้เช่าจะบอกเลิกสัญญาจำเลยชำระค่าเช่าเพียงเดือนเดียวแล้วผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 20,516.63 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 17,400 บาท และให้จำเลยคืนเครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์ที่เช่าในสภาพที่ใช้การได้ดีแก่โจทก์ หากไม่สามารถคืนได้ให้ใช้ราคา 12,000 บาท กับค่าเสียหายเดือนละ 300 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะส่งคืนหรือใช้ราคาเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ในการทำสัญญาตามฟ้องไม่มีการส่งมอบหรือรับมอบเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์แต่อย่างใดทั้งสิ้น สัญญาดังกล่าวจึงเป็นโมฆะ โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายใด ๆ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายให้โรงเรียนเทคนิคเอกชนมีเครื่องวิทยุคมนาคมไว้ใช้ในกิจการของโรงเรียนโดยกระทรวงศึกษาธิการจัดหาเครื่องวิทยุคมนาคมให้ จำเลยเป็นเจ้าของโรงเรียนพนมเทคนิคช่างกลและพณิชยการ เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2533 ปลัดกระทรวงศึกษาธิการมีหนังสือถึงโจทก์เรื่องขอหนังสือรับรองการนำเข้าเครื่องรับ – ส่งวิทยุ ระบุว่าสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชนมีความประสงค์จะขอให้โจทก์ออกหนังสือรับรองการนำเข้าเครื่องรับ – ส่งวิทยุ ให้แก่บริษัทยูนิเมซ่า จำกัด ต่อมาวันที่ 1 พฤษภาคม 2534 ปลัดกระทรวงศึกษาธิการมีหนังสือถึงโจทก์เรื่องขอแก้ไขหนังสือรับรองการนำเข้าเครื่องรับ – ส่งวิทยุ ระบุว่า ให้รับรองการนำเข้าให้แก่บริษัทยี. ซีมอน เรดิโอ จำกัด และเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2534โจทก์ได้ออกใบอนุญาตให้บริษัทยี. ซีมอน เรดิโอ จำกัด มีซึ่งเครื่องรับ – ส่งวิทยุ รวม200 ชุด ต่อมาวันที่ 10 พฤษภาคม 2534 บริษัทยี. ซีมอน เรดิโอ จำกัด มีหนังสือถึงโจทก์ขอแจ้งจำหน่ายเครื่องรับ – ส่งวิทยุให้แก่กระทรวงศึกษา (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน) จำนวน 104 เครื่อง จึงขอเชิญเจ้าหน้าที่ของโจทก์มาตรวจสอบรายละเอียดทางด้านเทคนิค ณ บริษัทยี. ซีมอน เรดิโอ จำกัด วันที่ 8 กรกฎาคม 2534 เจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้ไปตรวจสอบเครื่องรับ – ส่งวิทยุ ณ ที่บริษัทยี. ซีมอน เรดิโอ จำกัด ต่อมาในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2536 จำเลยได้ทำสัญญาให้เครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์แก่โจทก์เป็นเครื่องวิทยุคมนาคมแบบมือถือผลิตโดยบริษัทไอคอม ประเทศญี่ปุ่น หมายเลขเครื่อง 392837 ในวันเดียวกันคือวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2536 จำเลยได้ทำสัญญาเช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์ดังกล่าวจากโจทก์ และในวันที่ 4 กุมภาพันธ์2536 ได้มีการมอบเครื่องวิทยุคมนาคมดังกล่าว ซึ่งผู้รับไปคือนางสาวพรพรรณเจ้าหน้าที่ของบริษัทยี. ซีมอน เรดิโอ จำกัด ต่อมาวันที่ 22 มีนาคม 2536 โจทก์ได้ออกใบอนุญาตให้จำเลยใช้เครื่องวิทยุคมนาคมโดยส่งให้จำเลยทางไปรษณีย์ตอบรับมีผู้รับไว้เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2538 ปรากฏว่าจำเลยยังไม่เคยได้รับเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์ดังกล่าวมาใช้ในกิจการของจำเลย คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อกฎหมายของโจทก์ว่าสัญญาให้เครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์แก่โจทก์ และสัญญาเช่าเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์ดังกล่าวจากโจทก์สมบูรณ์หรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 523 บัญญัติว่า “การให้นั้น ท่านว่าย่อมสมบูรณ์ต่อเมื่อส่งมอบทรัพย์สินที่ให้” สัญญาที่จำเลยให้เครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์แก่โจทก์มีข้อความระบุว่า จำเลยตกลงโอนกรรมสิทธิ์ในเครื่องวิทยุคมนาคมตามบัญชีต่อท้ายสัญญานี้ให้แก่โจทก์ผู้รับนับแต่วันทำสัญญา และโจทก์ได้รับมอบเครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์ดังกล่าวแล้ว แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2536 อันเป็นวันที่จำเลยทำสัญญาให้เครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์แก่โจทก์นั้น จำเลยไม่ได้ส่งมอบเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์ให้แก่โจทก์ ดังนั้น สัญญาให้เครื่องวิทยุคมนาคมที่จำเลยทำไว้แก่โจทก์จึงขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว สัญญาให้ดังกล่าวย่อมไม่สมบูรณ์ ไม่มีผลบังคับจำเลยตามสัญญา ส่วนสัญญาที่จำเลยเช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์จากโจทก์ ซึ่งมีข้อความระบุว่า ข้อ 2. ผู้เช่าตกลงนำเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์วิทยุคมนาคมไปติดตั้ง ณ หน่วยงานของจำเลย…นั้น ก็ปรากฏข้อเท็จจริงว่าในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2536 อันเป็นวันที่จำเลยทำสัญญาเช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์ โจทก์ไม่ได้ส่งมอบทรัพย์ที่เช่าคือวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์ให้แก่จำเลยได้นำไปใช้ตามข้อตกลงในสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 546 บัญญัติว่า “ผู้ให้เช่าจำต้องส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้เช่านั้นในสภาพอันซ่อมแซมดีแล้ว” เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ไม่ได้ส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้เช่าคือวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์ให้แก่จำเลยผู้เช่าจึงขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว สัญญาที่จำเลยเช่าใช้เครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์ย่อมไม่สมบูรณ์ ไม่มีผลบังคับจำเลยตามสัญญาเช่นกัน โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเช่าค่าเสียหาย และบังคับให้จำเลยคืนเครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์แก่โจทก์ที่ศาลล่างทั้งสองต่างพิพากษายกฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน