คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8522/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 496 วรรคสอง บัญญัติว่า “การขยายกำหนดเวลาไถ่ตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้รับไถ่…” บทบัญญัติดังกล่าวมีวัตถุประสงค์โดยชัดแจ้ง เพื่อป้องกันข้อพิพาทโต้เถียงของคู่สัญญาว่า มีการตกลงขยายกำหนดเวลาไถ่แก่กันหรือไม่ จึงได้บัญญัติว่า หากมีการขยายกำหนดเวลาไถ่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้รับไถ่ โจทก์มีแต่พยานบุคคลมาสืบประกอบสำเนาบันทึกแจ้งเหตุขัดข้องต่อผู้ใหญ่บ้านและสำเนารายงานประจำวันว่า จำเลยขยายกำหนดเวลาไถ่ให้ แต่โจทก์ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยมาแสดง ไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยได้ตกลงขยายกำหนดเวลาไถ่ให้ เมื่อพ้นกำหนดเวลาไถ่แล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิไถ่ที่ดินที่ขายฝากและจำเลยย่อมมีสิทธิขับไล่โจทก์พร้อมบริวารออกจากที่ดินตามฟ้องแย้งได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยรับชำระหนี้และจดทะเบียนไถ่ทรัพย์พิพาทคืนให้แก่โจทก์ หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอให้ศาลพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย ให้โจทก์และบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทและห้ามเกี่ยวข้องอีกต่อไป
โจทก์ไม่ยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ (ที่ถูก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ) ให้โจทก์และบริวารออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 7313 ตำบลหนองทันน้ำ อำเภอกุดข้าวปุ้น จังหวัดอุบลราชธานี ห้ามเกี่ยวข้องอีกต่อไป ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียม (ที่ถูก ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนของฟ้องแย้ง) แทนจำเลย โดยกำหนด ค่าทนายความ 3,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้จำเลยรับไถ่ถอนการขายฝากที่ดินพิพาทจากโจทก์และให้จำเลยจดทะเบียนไถ่ถอนการขายฝากที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาและให้ยกฟ้องแย้ง ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองชั้นศาลแทนโจทก์ โดยกำหนด ค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 โดยโจทก์และจำเลยมิได้โต้แย้งในชั้นฎีกาว่า โจทก์ทำหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 7313 ตำบลหนองทันน้ำ อำเภอกุดข้าวปุ้น จังหวัดอุบลราชธานี ไว้ต่อจำเลย มีกำหนดระยะเวลา 8 เดือน ซึ่งครบกำหนดวันที่ 27 มีนาคม 2549 เมื่อครบกำหนดเวลาไถ่แล้วไม่มีการไถ่ โจทก์ได้แจ้งเหตุขัดข้องต่อผู้ใหญ่บ้านว่าจำเลยขอเลื่อนวันนัดเป็นวันที่ 30 มีนาคม 2549 เมื่อถึงวันนัดโจทก์อ้างว่าจำเลยขอเลื่อนอีกเป็นวันที่ 3 เมษายน 2549 แต่เมื่อถึงวันนัด โจทก์อ้างว่าจำเลยไม่ยอมให้ไถ่โดยจำเลยอ้างว่าพ้นกำหนดเวลาไถ่แล้ว โจทก์แจ้งความไว้เป็นพยานหลักฐานที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอกุดข้าวปุ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยตกลงขยายกำหนดเวลาไถ่การขายฝากให้โจทก์หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 496 วรรคสอง บัญญัติว่า “การขยายกำหนดเวลาไถ่ตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้รับไถ่…..” จะเห็นได้ว่าบทบัญญัติดังกล่าวมีวัตถุประสงค์โดยชัดแจ้งเพื่อป้องกันข้อพิพาทโต้เถียงของคู่สัญญาว่า มีการตกลงขยายกำหนดเวลาไถ่แก่กันหรือไม่ จึงได้บัญญัติว่าหากมีการขยายกำหนดเวลาไถ่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้รับไถ่ โจทก์คงมีแต่พยานบุคคลมาสืบประกอบสำเนาบันทึกแจ้งเหตุขัดข้องต่อผู้ใหญ่บ้านและสำเนารายงานประจำวันว่าจำเลยขยายกำหนดเวลาไถ่ให้ แต่โจทก์ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยมาแสดง จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยได้ตกลงขยายกำหนดเวลาไถ่ให้ เมื่อพ้นกำหนดเวลาไถ่แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิไถ่ที่ดินที่ขายฝากอีกต่อไปและจำเลยย่อมมีสิทธิขับไล่โจทก์พร้อมบริวารออกจากที่ดินตามฟ้องแย้งได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนของฟ้องโจทก์และฟ้องแย้งในชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ

Share