คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8503/2561

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฎีกาโจทก์ที่ว่า จำเลยที่ 2 การกระทำการโดยไม่สุจริต โดยพนักงานของจำเลยที่ 2 ร่วมรู้เห็นกับจำเลยที่ 1 หลอกลวงโจทก์ในการรับจำนองที่ดินพิพาท โดยโจทก์มิได้กล่าวบรรยายฟ้องไว้คงบรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยที่ 2 รับจำนองที่ดินพิพาทโดยทราบดีว่า เป็นการรับจำนองที่ดินที่สูงกว่าราคาประเมิน และสูงกว่าราคาซื้อขายที่ดินตามสัญญา ฎีกาโจทก์จึงเป็นเรื่องนอกฟ้อง เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 70914 ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 แล้วให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวคืนแก่โจทก์โดยปลอดการจำนอง หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 และให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนถอนการจำนองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง และให้จำเลยทั้งสองส่งมอบโฉนดที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ หากไม่ส่งมอบขอให้สั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ออกใบแทนโฉนดที่ดินต่อไป
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความให้คนละ 6,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 70914 ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 คำขออื่นให้ยก ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งในชั้นนี้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 70914 เนื้อที่ 18 ไร่ 1 งาน 92 ตารางวา จำเลยที่ 1 มีศักดิ์เป็นหลานสะใภ้ของโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ.2509 ประกอบธุรกิจธนาคาร เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2557 โจทก์จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมขายที่ดินโฉนดดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 ในราคา 800,000 บาท ครั้นวันที่ 21 พฤษภาคม 2557 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดดังกล่าวเป็นประกันหนี้เงินกู้ของจำเลยที่ 1 จำนวน 600,000 บาท และหนี้ที่จะเกิดในภายหน้าไว้ต่อจำเลยที่ 2 เป็นเงินต้นขั้นสูงสุด 1,258,000 บาท โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และเพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เป็นคดีนี้ คดีสำหรับจำเลยที่ 1 นั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 หากจำเลยที่ 1 ประสงค์จะโต้แย้งคัดค้านให้ศาลฎีกามีคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงผลคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 จำเลยที่ 1 ชอบที่จะยื่นเป็นคำฟ้องฎีกา แต่จำเลยที่ 1 กลับยื่นเป็นคำแก้ฎีกา โดยมิได้ยื่นฎีกาคำคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 คดีสำหรับจำเลยที่ 1 จึงต้องฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ไม่เป็นประเด็นในชั้นฎีกาอีกต่อไป
คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เฉพาะคดีสำหรับจำเลยที่ 2 ว่า โจทก์มีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 2 ประกอบธุรกิจธนาคารตามพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ.2509 การรับจำนองที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 ก็เป็นการดำเนินธุรกิจตามปกติธุระของจำเลยที่ 2 ไม่ปรากฏจากพยานหลักฐานโจทก์ว่าจำเลยที่ 2 การกระทำการโดยไม่สุจริตอย่างไร ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 กระทำการโดยไม่สุจริต โดยพนักงานของจำเลยที่ 2 ร่วมรู้เห็นกับจำเลยที่ 1 หลอกลวงโจทก์ในการรับจำนองที่ดินพิพาทนั้น โจทก์ก็มิได้กล่าวบรรยายฟ้องไว้เช่นนั้น โจทก์บรรยายฟ้องเหตุที่จำเลยที่ 2 กระทำการโดยไม่สุจริตเพียงว่า จำเลยที่ 2 รับจำนองที่ดินพิพาทโดยทราบดีว่าเป็นการรับจำนองที่สูงกว่าราคาประเมินและสูงกว่าราคาซื้อขายที่ดินตามสัญญา ฎีกาของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นเรื่องนอกฟ้อง เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดี ศาลฎีกาไม่อาจรับวินิจฉัยให้ได้ ดังนี้ แม้การโอนที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์เจ้าของกรรมสิทธิ์กับจำเลยที่ 1 จะตกเป็นโมฆียะเพราะเหตุที่จำเลยที่ 1 ใช้กลฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 159 และโจทก์ได้บอกล้างนิติกรรมนั้นแล้ว อันเป็นเหตุให้ถือว่า นิติกรรมดังกล่าวเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก และให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 176 ก็ตาม แต่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตย่อมได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 160 ที่ห้ามมิให้คู่กรณียกเรื่องโมฆียะกรรมนั้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้กระทำโดยสุจริต โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 มาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share