แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 ไม่จำต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายโดยเป็นทายาทโดยตรง หากทายาทที่มีสิทธิรับมรดกถึงแก่ความตายเสียก่อนได้รับส่วนแบ่งมรดก ผู้สืบสิทธิของทายาทก็เป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกของผู้ตายมีสิทธิเรียกร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกได้
ส. เป็นบิดาของ ศ. เมื่อ ส. ถึงแก่ความตาย ทรัพย์มรดกของ ศ. ย่อมตกทอดได้แก่ทายาทของ ศ. ซึ่งรวมทั้ง ส. ด้วย แต่ ส. ถึงแก่ความตายเสียก่อนที่จะมีการแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าว สิทธิในทรัพย์มรดกของ ศ. ส่วนที่ตกได้แก่ ส. จึงเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของ ส. ซึ่งรวมทั้ง ภ. บิดาผู้ร้อง ต่อมา ภ. ถึงแก่ความตายอีก ทรัพย์มรดกส่วนนี้ย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของ ภ. ผู้ร้องเป็นผู้สืบสิทธิของทายาทโดยเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของ ภ. ย่อมมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของ ศ. ด้วยตามส่วน ถือได้ว่าผู้ร้องมีส่วนได้เสียที่จะร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของ ศ. ได้
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของ ส. และ ภ. อ้างว่าเนื่องจากมีเหตุขัดข้องในการจัดการหรือแบ่งปันทรัพย์มรดกเกี่ยวกับที่ดิน ซึ่งมีชื่อ ศ. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เท่านั้น และ ภ. ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ศ. ตามคำสั่งศาลถึงแก่ความตายไป อันเป็นผลทำให้ไม่มีผู้จัดการทรัพย์มรดกของ ศ. และการจัดการทรัพย์มรดกของ ศ. ยังไม่เสร็จสิ้น เมื่อผู้ร้องมีสิทธิร้องขอจัดการทรัพย์มรดกคือที่ดินของ ศ. แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่จะมาร้องขอจัดการทรัพย์มรดกของ ส. และ ภ. ในที่ดินแปลงเดียวกันนั้นอีก
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า หลวงสาครสารสฤษฎ์ สมรสกับนางตลับ มีบุตรด้วยกัน 4 คน คือ นางพัตรา นางรัตนา นายศักดาและนายสมภพ ซึ่งเป็นบิดาผู้ร้อง เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2519 นายศักดาถึงแก่ความตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ นายศักดามีทรัพย์มรดกคือที่ดินโฉนดเลขที่ 9816 ตำบลห้วยชัน อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี นายสมภพได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของนายศักดาตามคำสั่งศาล ต่อมาวันที่ 9 มิถุนายน 2520 หลวงสาครสารสฤษฎ์ถึงแก่ความตายโดยยังมิได้ดำเนินการรับโอนมรดกของนายศักดา และไม่ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ใด นางรัตนาและนางพัตราบุตรของหลวงสาครสารสฤษฎ์ถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา และเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2527 นายสมภพถึงแก่ความตายโดยยังจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกของนายศักดาไม่แล้วเสร็จ และไม่ได้ทำพินัยกรรม ผู้ร้องในฐานะทายาทของนายสมภพที่มีสิทธิรับมรดกไม่ติดต่อขอรับโอนมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 9816 ดังกล่าว เพื่อนำมาแบ่งปันแก่ทายาท แต่เจ้าพนักงานที่ดินแจ้งว่าต้องให้ศาลแต่งตั้งผู้จัดการมรดกเสียก่อนจึงจะดำเนินการให้ ผู้ร้องไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมาย ขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายศักดา หลวงสาครสารสฤษฎ์และนายสมภพผู้ตายทั้งสาม
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สิทธิและหน้าที่ของนายสมภพบิดาผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกของนายศักดาเจ้ามรดกเป็นสิทธิเฉพาะตัวย่อมสิ้นสุดลงไม่ตกทอดไปยังผู้ร้อง ทายาทมีสิทธิรับมรดกของนายศักดาคือ นางสาวทรายทองบุตรบุญธรรมของนายศักดามิใช่ผู้ร้อง ส่วนที่ผู้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของหลวงสาครสารสฤษฎ์และนายสมภพผู้ตายทั้งสองปรากฏว่า ผู้ตายทั้งสองมีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร จึงไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4 จัตวา แม้ผู้ร้องอ้างว่าทรัพย์มรดกของผู้ตายทั้งสองกับนายศักดาเจ้ามรดกเป็นรายการเดียวกันและมูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกัน แต่เมื่อศาลไม่รับคำร้องขอในส่วนที่ขอตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายศักดาเจ้ามรดกซึ่งอาศัยเป็นหลักในการยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นแล้ว จึงไม่อาจรับคำร้องขอในส่วนที่ผู้ร้องอ้างว่าเกี่ยวข้องกันไว้พิจารณาที่ศาลชั้นต้นได้ จึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องขอ คืนค่าขึ้นศาลทั้งหมด
ผู้ร้องอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นนต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องว่า ผู้ร้องมีสิทธิร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายศักดา หลวงสาครสารสฤษฎ์และนายสมภพผู้เสียหายทั้งสาม หรือไม่ เห็นว่า ผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 ไม่จำต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายโดยเป็นทายาทโดยตรง หากทายาทที่มีสิทธิรับมรดกถึงแก่ความตายเสียก่อนได้รับส่วนแบ่งมรดก ผู้สืบสิทธิทายาทก็เป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองมรดกของผู้ตายมีสิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกได้ ตามคำร้องของผู้ร้องได้ความว่า หลวงสาครสารสฤษฎ์เป็นบิดาของนายศักดา เมื่อนายศักดาถึงแก่ความตาย ทรัพย์มรดกของนายศักดาย่อมตกทอดได้แก่ทายาทของนายศักดาซึ่งรวมทั้งหลวงสาครสารสฤษฎ์บิดาของนายศักดาด้วย แต่หลวงสาครสารสฤษฎ์ถึงแก่ความตายเสียก่อนที่จะมีการแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าว สิทธิในทรัพย์มรดกของนายศักดาส่วนที่ตกได้แก่หลวงสาครสฤษฎ์จึงเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของหลวงสาครสารสฤษฎ์ซึ่งรวมทั้งนายสมภพบิดาผู้ร้อง ต่อมานายสมภพถึงแก่ความตายอีกทรัพย์มรดกส่วนนี้ย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมของนายสมภพผู้ร้องเป็นผู้สืบสิทธิของทายาทโดยเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายสมภพย่อมมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 9816 ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนายศักดาด้วยตามส่วน ถือได้ว่าผู้ร้องมีส่วนได้เสียที่จะร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายศักดาได้ ชอบที่ศาลชั้นต้นจะรับคำร้องขอของผู้ร้องในส่วนนี้ไว้พิจารณา ส่วนที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของหลวงสาครสารสฤษฎ์และนายสมภพด้วยนั้น ปรากฏตามคำร้องขอว่า เหตุที่มายื่นคำร้องขอคดีนี้เนื่องจากมีเหตุขัดข้องในการจัดการหรือแบ่งปันทรัพย์มรดกเกี่ยวกับที่ดินโฉนดเลขที่ 9816 ซึ่งมีนายศักดาเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เท่านั้น และนายสมภพซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนายศักดาตามคำสั่งศาลถึงแก่ความตายไป อันเป็นผลทำให้ไม่มีผู้จัดการทรัพย์มรดกของนายศักดาและการจัดการทรัพย์มรดกของนายศักดายังไม่เสร็จสิ้น เมื่อผู้ร้องมีสิทธิร้องขอจัดการทรัพย์มรดกคือที่ดินโฉนดเลขที่ 9816 ของนายศักดาเจ้ามรดกได้ดังที่วินิจฉัยมาข้างต้นแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่จะมาร้องขอจัดการทรัพย์มรดกของหลวงสาครสารสฤษฎ์และนายสมภพในที่ดินแปลงเดียวกันนั้นอีก อุทธรณ์ของผู้ร้องฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นในส่วนที่เกี่ยวกับคำร้องขอของผู้ร้องที่ขอแต่งตั้งผู้จัดการมรดกของนายศักดาเจ้ามรดกโดยให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องขอส่วนดังกล่าวไว้พิจารณาและมีคำสั่งต่อไปตามรูปคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ