คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 85/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีไว้กับโจทก์ จำเลยตกลงยอมเสียดอกเบี้ยให้โจทก์สำหรับเงินที่เบิกเกินบัญชีร้อยละสิบห้าครึ่งต่อปีส่วนจำนวนเงินที่เบิกเกินวงเงินตามสัญญาจำเลยยอมเสียร้อยละสิบเก้าต่อปี เมื่อมีการเลิกสัญญาโจทก์จึงมีเหตุตามสัญญาที่จะเรียกดอกเบี้ย ร้อยละสิบห้าครึ่งต่อปีต่อไปได้โดยชอบด้วยกฎหมาย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีไว้กับธนาคารโจทก์ในวงเงินไม่เกิน 280,000 บาท มีกำหนดเวลา 12 เดือน โดยยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าครึ่งต่อปี ส่วนที่เบิกเกินวงเงินยอมเสียอัตราร้อยละสิบเก้าต่อปีและยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นตามประเพณีของธนาคาร เพื่อเป็นประกัน จำเลยมอบใบรับฝากประจำจำนวนเงิน280,000 บาท โดยตกลงให้โจทก์หักเงินฝากประจำชำระหนี้ ปรากฏว่าจำเลยยังเป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชี 243,041.43 บาท หลังจากนั้นจำเลยมิได้นำเงินเข้าฝากและสั่งถอนเงิน คงมียอดดอกเบี้ยทบต้นถึงวันที่26 พฤษภาคม 2529 ซึ่งเป็นวันบอกเลิกสัญญาจำเลยเป็นหนี้เบิกเงินเกินบัญชี 339,398.08 บาท โจทก์ทวงถามจำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 27
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ตามสัญญาไม่มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยในกรณีลูกหนี้ผิดนัด ผิดสัญญาหรือบอกเลิกสัญญาไว้โดยแจ้งชัด โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เพียงร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 ยอดเงินตามฟ้องไม่มีรายละเอียดการคำนวณให้ชัดแจ้งพอที่จำเลยจะต่อสู้คดีได้ฟ้องโจทก์ส่วนนี้จึงเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 339,398.08 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าครึ่งต่อปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในเรื่องดอกเบี้ยจำเลยมิได้ต่อสู้ว่าอัตราที่กำหนดไว้ในสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและที่โจทก์เรียกร้องให้ชำระต่อมาภายหลังจากมีการเลิกสัญญาไม่ชอบด้วยกฎหมาย คงต่อสู้เพียงว่าสัญญาไม่มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยในกรณีลูกหนี้ผิดนัด ผิดสัญญา หรือบอกเลิกสัญญาไว้โดยแจ้งชัด นับแต่วันที่26 พฤษภาคม 2526 โจทก์จึงคิดดอกเบี้ยได้เพียงร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 เท่านั้น แต่หนี้เงินนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคแรก บัญญัติว่า ให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ถ้าเจ้าหนี้อาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมายย ก็ให้คงส่งดอกเบี้ยต่อไปตามนั้น โจทก์มี นางลินจงสุอัคคะพงศ์ ผู้จัดการธนาคารโจทก์ สาขาบ้านโป่ง เป็นพยานเบิกความประกอบสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีตามเอกสารหมาย จ.4 ว่า ตามสัญญาที่ทำกันไว้ จำเลยตกลงยอมเสียดอกเบี้ยให้โจทก์สำหรับเงินที่เบิกเกินบัญชีร้อยละสิบห้าครึ่งต่อปี ส่วนจำนวนเงินที่เบิกเกินวงเงินตามสัญญา จำเลยยอมเสียร้อยละสิบเก้าต่อปี เช่นนี้เมื่อมีการเลิกสัญญาโจทก์จึงมีเหตุตามสัญญาที่จะเรียกดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าครึ่งต่อปีต่อไปได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ตามบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวนั้น และตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1808/2512 ระหว่างธนาคารนครหลวงไทย จำกัด โจทก์ บริษัท อเมอร์ไทย (1955) จำกัด กับพวกจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่สืบแสดงให้ความปรากฏชัดว่าเมื่อโจทก์หักทอนบัญชีและเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดกับจำเลยแล้วโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้เกินไปจากอัตราปกติตามที่กฎหมายบัญญัติไว้อย่างไร โจทก์คงมีสิทธิเรียกเพียงดอกเบี้ยธรรมดา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 เท่านั้น และพิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 27 พฤษภาคม2529 จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share