แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 116 นั้นการที่ผู้คัดค้านที่ 4 ถึงที่ 8 จะยกเหตุตามบทมาตราดังกล่าวนี้ขึ้นกล่าวอ้างปฏิเสธว่าได้รับโอนทรัพย์พิพาทโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนได้นั้น ก็แต่เฉพาะกรณีที่ได้รับโอนทรัพย์มาก่อนมีการขอให้จำเลยล้มละลาย เมื่อผู้คัดค้านที่ 4 ถึงที่ 8มิได้รับโอนทรัพย์พิพาทมาก่อนวันดังกล่าว ดังนั้น ไม่ว่าผู้คัดค้านที่ 4 ถึงที่ 8 จะได้รับโอนมาจากจำเลย โดยตรงหรือได้รับโอนมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตามสิทธิของผู้คัดค้านย่อมไม่ดีกว่าผู้โอน ผู้คัดค้านที่ 4ถึงที่ 8 จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติดังกล่าว ส่วนคำร้อง ของ ผู้คัดค้านที่ 4 ถึงที่ 7 ที่ขอให้ศาลฎีการอการวินิจฉัยคดีไว้ก่อนเนื่องจากมีคำขอให้ยกเลิกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายที่ 2 แม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามความเห็นของผู้ร้องให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายที่ 2 แล้วนั้น แต่เมื่อปรากฏว่ายังมีเจ้าหนี้คือ โจทก์ที่ 2 ซึ่งศาลได้มีคำสั่งให้ได้รับชำระหนี้ตามคำขอ และคดีถึงที่สุดแล้ว ศาลจึงไม่จำต้องรอการวินิจฉัยคดีไว้ก่อน
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลายเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2528 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2528 และพิพากษาให้จำเลยล้มละลายเมื่อวันที่2 มิถุนายน 2529
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 6816 ร่วมกับนายทวีศักดิ์ อัศวจินดามณี ต่อมาในวันที่ 31 สิงหาคม 2527 จำเลยและนายทวีศักดิ์ร่วมกันโอนขายที่ดินโฉนดดังกล่าวให้ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 วันที่ 18 เมษายน 2528ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ได้แบ่งแยกที่ดินโฉนดดังกล่าวในนามเดิมออกเป็น 7 แปลง คือ โฉนดเลขที่ 127721 ถึง 127727 รวมกับโฉนดเลขที่ 6816 เดิมเป็น 8 โฉนด และต่อมาได้โอนขายกันดังต่อไปนี้ที่ดินโฉนดเลขที่ 6816 และ 127726 เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2528ผู้คัดค้านที่ 1 ได้โอนขายเฉพาะส่วนของตนให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2และต่อมาในวันที่ 16 สิงหาคม 2528 ผู้คัดค้านที่ 2 ได้โอนขายให้ผู้คัดค้านที่ 3 ที่ดินโฉนดเลขที่ 127721 วันที่ 20 พฤษภาคม 2528ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ได้โอนขายให้แก่ผู้คัดค้านที่ 4ที่ดินโฉนดเลขที่ 127722 วันที่ 20 พฤษภาคม 2528 ผู้คัดค้านที่ 1และที่ 2 ได้โอนขายให้แก่ผู้คัดค้านที่ 5 ต่อมาในวันที่ 13 กันยายน2528 ผู้คัดค้านที่ 5 ได้โอนขายให้แก่ผู้คัดค้านที่ 4 ที่ดินโฉนดเลขที่ 127723 วันที่ 20 พฤษภาคม 2528 ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2โอนขายให้ผู้คัดค้านที่ 6 ที่ดินโฉนดเลขที่ 127724 วันที่ 20พฤษภาคม 2528 ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 โอนขายให้แก่ผู้คัดค้านที่ 7ที่ดินโฉนดเลขที่ 127725 วันที่ 20 พฤษภาคม 2528 ผู้คัดค้านที่ 2โอนขายเฉพาะส่วนของตนให้ผู้คัดค้านที่ 1 ต่อมาวันที่ 15 สิงหาคม2528 ผู้คัดค้านที่ 1 ได้โอนขายให้ผู้คัดค้านที่ 8 ที่ดินโฉนดเลขที่ 127727 วันที่ 20 พฤษภาคม 2528 ผู้คัดค้านที่ 2 ได้โอนขายเฉพาะส่วนของตนให้ผู้คัดค้านที่ 1 ต่อมาวันที่ 15 สิงหาคม 2528ผู้คัดค้านที่ 1 ได้โอนขายให้ผู้คัดค้านที่ 8 การที่จำเลยโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เป็นการที่จำเลยได้กระทำหรือยินยอมให้กระทำการในระยะเวลา 3 ปี ก่อนมีการขอให้จำเลยล้มละลาย โดยผู้คัดค้านที่ 1 เป็นภริยาของนายทวีศักดิ์ซึ่งเป็นน้องชายของจำเลย และผู้คัดค้านที่ 2 เป็นบุตรของนางสาวสุนีย์อัศวจินดามณี ซึ่งเป็นพี่น้องกับจำเลย จึงถือว่าเป็นการยักย้ายถ่ายเททรัพย์โดยทุจริต อีกทั้งผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2ย้ายภูมิลำเนาไปต่างประเทศ และไม่ปรากฏภูมิลำเนาที่แน่นอนจึงถือว่าเป็นการโอนโดยไม่สุจริตและไม่มีค่าตอบแทน ผู้ร้องชอบที่จะร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งเพิกถอนการโอนที่ดินดังกล่าวเสียได้ตามมาตรา 114 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 สำหรับผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 8 นั้น ได้รับโอนต่อจากผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ภายหลังมีการขอให้ล้มละลาย จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 116 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 6816 ซึ่งจำเลยโอนให้ผู้คัดค้านที่ 1และที่ 2 ตามมาตรา 114 เฉพาะส่วนของจำเลย และเพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 6816, 127721, 127722, 127723, 127724, 127725, 127726 และ 127727 ซึ่งผู้คัดค้านที่ 1 โอนให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 และผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 8 ตามมาตรา 116 และให้กลับคืนสู่ฐานะเดิมหากไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ ให้ผู้คัดค้านทั้งแปดชดใช้ราคาทรัพย์สินเป็นเงิน 14,231,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันยื่นคำร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่กองทรัพย์สินของจำเลย
ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ไม่ยื่นคำคัดค้าน
ผู้คัดค้านที่ 3 ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 3ได้ซื้อที่ดินมาจากผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินถูกต้องตามกฎหมาย การที่ผู้ร้องอ้างว่าจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 โดยไม่สุจริต หามีความผูกพันถึงผู้คัดค้านที่ 3 เนื่องจากผู้คัดค้านที่ 3 ได้ซื้อที่ดินดังกล่าวมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ถูกต้องตามกฎหมาย ขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ 5 และที่ 6 กับผู้คัดค้านที่ 7 ในฐานะส่วนตัวและในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้คัดค้านที่ 4 ยื่นคำคัดค้านว่าผู้คัดค้านที่ 4 ถึงที่ 7 ไม่ทราบว่าโจทก์ได้ฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นและศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดจำเลย และพิพากษาให้ล้มละลาย จำเลยไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 6816แต่เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนผู้คัดค้านที่ 4 ถึงที่ 7 เท่านั้นการที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ได้โอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 127721,127722, 127723, 127724 ให้ผู้คัดค้านที่ 4 ถึงที่ 7 ในการทำสัญญาซื้อขาย ผู้คัดค้านที่ 4 ถึงที่ 7 หามีความจำเป็นที่จะต้องตรวจสอบว่า ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ได้กรรมสิทธิ์มาจากผู้ใดได้มาอย่างไร และได้มาโดยสุจริตหรือไม่ การที่ผู้ร้องอ้างว่าจำเลยโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 6816 ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2เป็นการกระทำโดยไม่สุจริต และภายในเวลา 3 ปี ก่อนมีการขอให้ล้มละลายนั้น ก็เป็นเรื่องที่บุคคลดังกล่าวจะต้องไปว่ากล่าวกันเองผู้คัดค้านที่ 4 ถึงที่ 7 ได้ซื้อที่ดินมาโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ถูกต้องตามกฎหมายทั้งยังถือได้ว่าเป็นการรับโอนที่ดินกลับคืนมาเป็นของผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่แท้จริงอีกด้วย ขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ 8 ยื่นคำคัดค้านว่า จำเลยและนายทวีศักดิ์ไม่เคยร่วมกันโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 6816 ให้ผู้คัดค้านที่ 1และที่ 2 เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2528 ที่ดินโฉนดเลขที่ 127725และ 127727 เป็นที่ดินเฉพาะส่วนของนายทวีศักดิ์แต่เพียงผู้เดียวจึงไม่เกี่ยวข้องกับจำเลย ผู้คัดค้านที่ 8 รับโอนที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวจากผู้คัดค้านที่ 1 โดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินโดยถูกต้อง ผู้คัดค้านที่ 8 ไม่ทราบว่าจำเลยถูกฟ้องเป็นบุคคลล้มละลาย ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 6816ระหว่างจำเลยและผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เฉพาะส่วนของจำเลยตามมาตรา 114 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 และให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 6816, 127721, 127722, 127723, 127724, 127725, 127726 และ 127727 ระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 กับผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 8 ตามมาตรา 116 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 และให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม หากไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ ให้ผู้คัดค้านทั้งแปดร่วมกันใช้ราคา 14,231,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันยื่นคำร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่กองทรัพย์สินของจำเลย
ผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 8 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของผู้ร้องในส่วนที่ให้ผู้คัดค้านทั้งแปดรับผิดเรื่องดอกเบี้ย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ผู้คัดค้านที่ 3 ถึงที่ 8 ฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ผู้คัดค้านที่ 3 ยื่นคำร้องขอถอนฎีกา ผู้ร้องรับสำเนาคำร้องแล้วไม่คัดค้าน ศาลฎีกาจึงมีคำสั่งอนุญาตและให้จำหน่ายคดีเฉพาะผู้คัดค้านที่ 3 จากสารบบความ
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2527 จำเลยได้โอนขายที่ดินกรรมสิทธิ์รวมตามโฉนดที่ดินเลขที่ 6811 ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1ซึ่งเป็นภริยาของนายทวีศักดิ์น้องชายจำเลยกับผู้คัดค้านที่ 2ญาติจำเลย ต่อมาวันที่ 8 มีนาคม 2528 โจทก์จึงฟ้องขอให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย อันเป็นการโอนทรัพย์สินของลูกหนี้ในระหว่างระยะเวลาสามปีก่อนมีการขอให้ล้มละลาย
มีปัญหาตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 4 ถึง 7 ว่า ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 6816 (ก่อนที่จะแบ่งแยกโฉนด) เป็นของจำเลยถือกรรมสิทธิ์กึ่งหนึ่งร่วมกับนายทวีศักดิ์หรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงแล้วฟังไม่ได้ว่าจำเลยถือกรรมสิทธิ์แทนผู้คัดค้านที่ 4 ถึงที่ 7
ผู้คัดค้านที่ 4 ถึงที่ 8 ฎีกาต่อไปว่า ผู้คัดค้านที่ 4 ถึงที่ 8 ได้รับโอนทรัพย์พิพาทมาจากผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้รับโอนโดยตรงจากจำเลยและรับโอนมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนจึงได้รับความรับรองและคุ้มครองตามกฎหมายนั้น เห็นว่าตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 116 นั้น การที่ผู้คัดค้านที่ 4 ถึงที่ 8 จะยกเหตุตามบทมาตราดังกล่าวนี้ขึ้นกล่าวอ้างปฏิเสธว่าได้รับโอนทรัพย์พิพาทโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนได้นั้น ก็แต่เฉพาะกรณีที่ได้รับโอนทรัพย์มาก่อนมีการขอให้จำเลยล้มละลาย คือก่อนวันที่ 8 มีนาคม 2528 เมื่อผู้คัดค้านที่ 4ถึงที่ 8 มิได้รับโอนทรัพย์พิพาทมาก่อนวันดังกล่าว ดังนั้น ไม่ว่าผู้คัดค้านที่ 4 ถึงที่ 8 จะได้รับโอนมาจากจำเลยโดยตรงหรือได้รับโอนมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม สิทธิของผู้คัดค้านย่อมไม่ดีกว่าผู้โอน ดังนั้น ผู้คัดค้านที่ 4 ถึงที่ 8 จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติดังกล่าว
ส่วนคำร้องของผู้คัดค้านที่ 4 ถึงที่ 7 ลงวันที่ 12 มกราคม2539 ที่ขอให้ศาลฎีการอการวินิจฉัยคดีไว้ก่อน เนื่องจากมีคำขอให้ยกเลิกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายที่ 2 ปรากฏจากรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ลงวันที่ 2 ตุลาคม 2540 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามความเห็นของผู้ร้องให้ยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้รายที่ 2 แล้วนั้น ปรากฏว่ายังมีเจ้าหนี้คือโจทก์ที่ 2 ซึ่งศาลได้มีคำสั่งให้ได้รับชำระหนี้ตามคำขอและคดีถึงที่สุดแล้วจึงไม่จำต้องรอการวินิจฉัยคดีไว้ก่อน ให้ยกคำร้อง
พิพากษายืน