คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 849/2537

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาเรียงกระทงลงโทษจำเลยทุกกระทงความผิดให้จำคุกรวม 96 ปี แต่เมื่อโทษจำคุกในแต่ละกระทงความผิดที่วางมานั้นมีกำหนดไม่เกิน 2 ปี คดีจึงอยู่ในเกณฑ์ที่ศาลจะใช้ดุลพินิจรอการลงโทษไว้ได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341,343และให้คืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหาย 48 คน เป็นเงิน 1,910,500 บาทเมื่อความปรากฏในสำนวนต่อศาลอุทธรณ์ว่าระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นผู้เสียหายจำนวน 43 คนได้รับการชดใช้จากจำเลยบางส่วนแล้วและไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยในทางแพ่งอีกต่อไป และระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยก็ได้ชดใช้เงินให้แก่ผู้เสียหายอีก 4 คนเป็นที่พอใจแล้วคงเหลือเพียงผู้เสียหายรายที่ 20 เท่านั้น ดังนี้แม้จำเลยจะไม่ได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่พิพากษาให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหายทั้งหมดรวม 48 คน ก็ตามแต่เมื่อความรับผิดในทางแพ่งของจำเลยเป็นอันระงับไปแล้วการที่จะยังให้จำเลยต้องรับผิดชอบซ้ำซ้อนอีกจึงหาเป็นการชอบและเป็นธรรมไม่ ปัญหาข้อนี้จึงเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์จึงหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองแล้วพิพากษาให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหายที่ 20 เพียงรายเดียวได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกอีกหลายคนที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องได้ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือจำเลยกับพวกร่วมกันจัดหางานให้แก่ประชาชนทั่วไป รวมทั้งนายสุเวช เมธาวงศ์กับพวกรวม 48 คน ผู้เสียหายตามบัญชีผู้เสียหายท้ายฟ้องซึ่งเป็นคนหางานเพื่อไปทำงานให้แก่นายจ้างในประเทศฝรั่งเศส โดยเรียกและรับค่าบริการจากคนหางานและผู้เสียหายดังกล่าว จำเลยกับพวกไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลางตามกฎหมายและจำเลยกับพวกดังกล่าวมีเจตนาทุจริตร่วมกันหลอกลวงประชาชนทั่วไปด้วยการออกชักชวนและแพร่ข่าวแก่ประชาชนรวมทั้งนายสุเวช เมธาวงศ์กับพวก รวม 48 คน ผู้เสียหายดังกล่าวข้างต้นหลายท้องที่ ต่างตำบลอำเภอและจังหวัด ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งโดยร่วมกันแอบอ้างและใช้ชื่อ บริษัทแอร์ ซิตี้ อินเตอร์แนลชั่นแนลจำกัด ว่าเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายและได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลางให้เป็นผู้จัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานในต่างประเทศสามารถจัดหางานและส่งประชาชนและผู้เสียหายไปทำงานให้แก่นายจ้างยังประเทศฝรั่งเศสในตำแหน่งขับรถ ช่างไม้ ช่างปูนช่างไฟฟ้าและอื่น ๆ ได้ โดยต้องเสียค่าบริการสมัครงานและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยกับพวกตามที่ได้กำหนดไว้ แล้วจำเลยกับพวกจะส่งประชาชนและผู้เสียหายไปทำงานยังประเทศฝรั่งเศสตามตำแหน่งและได้รับค่าจ้างตอบแทนจากนายจ้างตามจำนวนที่ตกลงไว้ อันเป็นความเท็จความจริงแล้วจำเลยกับพวกแอบอ้างและใช้ชื่อบริษัทแอร์ ซิตี้ อินเตอร์แนลชั่นแนล จำกัด ซึ่งมิได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายขึ้นเป็นสำนักงานจัดหางาน และโดยจำเลยกับพวกไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหางานกลางให้เป็นผู้จัดหางานให้คนหางานเพื่อไปทำงานต่างประเทศแต่ประการใดทั้งจำเลยกับพวกรู้แล้วว่าไม่สามารถจะจัดส่งผู้เสียหายและประชาชนไปทำงานยังต่างประเทศดังที่ได้บอกกล่าวไว้แต่ประการใดเป็นเหตุให้ประชาชนทั่วไปและผู้เสียหายหลงเชื่อว่าเป็นความจริงจึงได้สมัครงานกับจำเลยกับพวกเพื่อไปทำงานยังประเทศฝรั่งเศสและมอบเงินค่าบริการสมัครงานและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้จำเลยกับพวกไปเป็นจำนวนเงิน 1,910,500 บาท ปรากฏรายละเอียดจำนวนเงินที่ผู้เสียหายแต่ละคนมอบให้จำเลยกับพวกไปตามบัญชีรายชื่อผู้เสียหาย จำนวนเงินและวันที่จำเลยกับพวกรับเงินไปตามบัญชีท้ายฟ้องและจำเลยกับพวกได้รับเงินจำนวนรวม 1,910,500 บาท ของผู้เสียหายดังกล่าวไป และนำไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริตขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343, 91, 83พระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 มาตรา 30, 82และให้คืนหรือใช้เงิน 1,910,500 บาท ให้แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343 วรรคแรก, 91 รวม 48 กระทง ลงโทษจำคุกกระทงละ4 ปี ปรับกระทงละ 4,000 บาท รวมจำคุก 192 ปี ปรับ 192,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกกระทงละ2 ปี และปรับกระทงละ 2,000 บาท รวมจำคุก 96 ปี ปรับ 96,000 บาทไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยต้องโทษมาก่อน และได้ชดใช้เงินให้แก่ผู้เสียหายไปเกือบทั้งหมดแล้วทั้งจำเลยมีงานทำเป็นหลักแหล่ง เพื่อให้จำเลยกลับตนเป็นพลเมืองดีต่อไปให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด2 ปีกับให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 1,910,500 บาท แก่ผู้เสียหายที่ยังไม่ได้คืน ส่วนข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่นายสว่าง ผดุงศิลป์ไพโรจน์ ผู้เสียหายที่ 20 จำนวน 35,000 บาทนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343 วรรคแรกรวม 48 กระทง ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 4 ปีปรับกระทงละ 4,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาของศาล ลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุกจำเลยกระทงละ 2 ปีปรับกระทงละ 2,000 บาท จำเลยได้รับเงินจากผู้เสียหาย 48 คนรวมเป็นเงิน 1,910,500 บาท จำเลยได้ชดใช้เงินให้ผู้เสียหายแล้ว47 ราย คงเหลือแต่นายสว่าง ผดุงศิลป์ไพโรจน์ ผู้เสียหายที่ 20อีกผู้เดียวยังไม่ได้รับเงินคืนเป็นจำนวน 35,000 บาท จึงให้จำเลยคืนเงินแก่นายสว่าง จำนวน 35,000 บาท
พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาประการแรกว่าควรลงโทษจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษตามที่โจทก์ฎีกาหรือไม่ เห็นว่า แม้จำเลยจะฉ้อโกงประชาชนโดยกล่าวเท็จแก่ประชาชนทั่วไปหลายท้องที่จนผู้เสียหายถึง 48 คนหลงเชื่อ และได้รับเงินจากผู้เสียหายจำนวนถึง1,910,500 บาท ก็ตาม แต่จำเลยก็ได้พยายามบรรเทาผลร้ายในการกระทำของจำเลยโดยชดใช้ค่าเสียหายแล้วจำนวน 47 คน ยังคงมิได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่นายสว่างผู้เสียหายที่ 20 อีกเพียงคนเดียวเป็นเงิน 35,000 บาท แสดงว่าจำเลยมีความหวั่นเกรงต่อโทษที่จำเลยจะต้องรับคงเข็ดหลาบพอสมควร จำเลยไม่เคยต้องโทษมาก่อนสมควรให้โอกาสแก่จำเลยได้กลับตนเป็นพลเมืองดีต่อไปโดยรอการลงโทษจำเลยไว้ก่อนศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว ส่วนที่โจทก์ฎีกาด้วยว่า คดีนี้เมื่อเรียงกระทงลงโทษทุกกระทงความผิดแล้วโทษจำคุกมีถึง 96 ปี การรอการลงโทษจึงไม่ชอบด้วยความมุ่งหมายแห่งกฎหมายนั้น ศาลฎีกาก็เห็นว่า เมื่อโทษจำคุกในแต่ละกระทงความผิดที่ศาลชั้นต้นวางมานั้นมีกำหนดไม่เกิน2 ปี คดีจึงอยู่ในเกณฑ์ที่ศาลจะใช้ดุลพินิจรอการลงโทษได้ ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาประการหลังว่า การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหายที่ 20 เพียงรายเดียวนั้น เป็นการไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณาหรือไม่ เห็นว่า เมื่อความปรากฏในสำนวนต่อศาลอุทธรณ์ว่า ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น ผู้เสียหายจำนวน43 คน ได้รับการชดใช้จากจำเลยบางส่วนแล้วและไม่ติดใจดำเนินคดีแก่จำเลยในทางแพ่งอีกต่อไป และระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์จำเลยก็ได้ชดใช้เงินให้แก่ผู้เสียหายอีก 4 คน เป็นที่พอใจแล้วคงเหลือเพียงผู้เสียหายรายที่ 20 เท่านั้น ดังนั้น แม้จำเลยจะไม่ได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่พิพากษาให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหายทั้งหมดรวม 48 คน ก็ตาม แต่เมื่อความรับผิดในทางแพ่งของจำเลยเป็นอันระงับไปแล้วเช่นนี้ การที่จะยังให้จำเลยต้องรับผิดซ้ำซ้อนอีกจึงหาเป็นการชอบและเป็นธรรมไม่ ปัญหาข้อนี้จึงเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ฉะนั้นที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองโดยเหตุที่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยแล้วพิพากษาให้จำเลยคืนหรือชดใช้เงินแก่ผู้เสียหายที่ 20 เพียงรายเดียวเท่านั้น จึงชอบด้วยวิธีพิจารณาแล้ว”
พิพากษายืน

Share