คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 848/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ให้การว่า คดีโจทก์ขาดอายุความตามหนังสือสัญญากู้เงินลงวันที่ 31 ตุลาคม 2527 จนถึงวันฟ้องคือวันที่ 27 ตุลาคม 2538 รวมเป็นเวลา 10 ปี 11 เดือน กับ 21 วัน ถือได้ว่าเกินกว่า 10 ปี จึงขาดอายุความตามกฎหมาย ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ตามสัญญากู้เงินข้อ 3 ระบุว่าจะชำระเงินต้นคืนในวันที่31 ตุลาคม 2528 แม้จำเลยจะผิดนัดชำระดอกเบี้ยตั้งแต่งวดแรกซึ่งโจทก์สามารถใช้สิทธิเรียกร้องเงินต้นคืนได้ตามสัญญาข้อ 6 แต่สัญญาดังกล่าวมีการกำหนดระยะเวลาชำระหนี้ไว้แน่นอน การที่จำเลยผิดสัญญาไม่ชำระดอกเบี้ยตามกำหนด มีผลให้ผู้กู้สามารถใช้สิทธิทวงถามให้ผู้กู้ชำระเงินได้ก่อนกำหนดในสัญญาเท่านั้น เมื่อผู้กู้ไม่ได้ใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระเงิน อายุความจึงยังไม่เริ่มนับ การที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่าเมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยเดือนแรกคือวันที่ 1 พฤศจิกายน 2527 ตามสัญญากู้เงินข้อ 4 โจทก์มีสิทธิเรียกร้องต้นเงินคืนนับแต่วันดังกล่าวตามสัญญากู้เงินข้อ 6อายุความฟ้องเรียกต้นเงินคืนจึงนับแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2527 เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่27 ตุลาคม 2538 จึงเกิน 10 ปี นับแต่วันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตามป.พ.พ.มาตรา 193/12 ประกอบมาตรา 193/9 และมาตรา 193/30 นั้น ข้ออุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 เป็นการโต้แย้งการใช้ดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นแล้วว่า วันเริ่มต้นที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้นั้นควรเริ่มนับแต่วันใด เพราะเหตุใดข้ออุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงเป็นการกล่าวถึงรายละเอียดของข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากพยานหลักฐานในชั้นพิจารณาเพื่อให้ศาลได้หยิบยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นมาปรับบทกฎหมายว่า วันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เริ่มนับแต่เมื่อใด และคดีโจทก์ขาดอายุความ 10 ปี ตามข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 แล้วหรือไม่ อย่างไร มิได้เป็นการกล่าวอ้างกำหนดอายุความขึ้นมาใหม่ ดังนี้ข้ออุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นข้อที่ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้นและไม่นอกคำให้การ

Share