คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8477/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ในคดีก่อนจำเลยฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามใบขนสินค้าขาเข้าพิพาททั้ง 7 ฉบับ และศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า ราคาสินค้าที่จำเลยสำแดงในใบสินค้าขาเข้าพิพาทไม่ใช่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาดและพิพากษาให้ยกคำขอดังกล่าว จำเลยมิได้อุทธรณ์ คำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางในส่วนคำขอดังกล่าวจึงเป็นที่สุดและมีผลผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 และมาตรา 147 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ในคดีนี้จึงต้องฟังว่า การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบแล้วดังนี้ แม้ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรจะวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยว่า ราคาสินค้าที่จำเลยสำแดงในใบขนสินค้าขาเข้าพิพาทเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด ก็ไม่มีผลกระทบถึงคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางในคดีก่อนที่ให้ยกคำขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ซึ่งถึงที่สุดแล้วได้

ย่อยาว

คดีนี้เดิมศาลภาษีอากรกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกันกับคดีหมายเลขดำที่ 190-196/2548 คดีหมายเลขแดงที่ 67-73/2549 ของศาลภาษีอากรกลางแต่คดีทั้งเจ็ดสำนวนดังกล่าวยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางคงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า จำเลยได้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าพร้อมแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มจำนน 7 ฉบับ เพื่อนำเข้าสินค้าวาล์ว ส่วนประกอบของเครื่องสูบและเครื่องสูบที่ใช้กำลังไฮดรอลิก ท่อเหล็กไร้ตะเข็บ และท่อเหล็กที่มีหน้าตัดเป็นรูปวงกลม เข้ามาในราชอาณาจักรโดยทางเรือ พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ประเมินและสั่งเพิ่มราคาสินค้าบางรายการแล้วพอใจบัญชีราคาสินค้าโดยเข้าใจว่าเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดจึงตรวจปล่อยสินค้าให้จำเลยรับไปต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 มีเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยมีสิ่งของนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงภาษีอากร จึงได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจค้นสถานประกอบการของจำเลย และยึดเอกสารทางการค้าเกี่ยวกับการนำเข้ามาตรวจสอบผลการตรวจสอบปรากฏว่าจำเลยสำแดงราคาสินค้าที่นำเข้าเป็นเท็จเพื่อหลีกเลี่ยงค่าภาษีอากร โดยราคาที่แท้จริงของสินค้าตามบัญชีราคาสินค้าที่ตรวจค้นพบสูงกว่าราคาที่จำเลยสำแดงไว้ในบัญชีราคาสินค้าที่ใช้ยื่นประกอบใบขนสินค้าขาเข้าทั้ง 7 ฉบับ โดยจำเลยสำแดงราคาสินค้าต่ำกว่าความเป็นจริงรวมทั้งสิ้น 2,518,459.12 บาท คิดเป็นอากรขาเข้า 307,752 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 197,834 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 505,586 บาท โจทก์ที่ 1 มีหนังสือแจ้งไปยังจำเลยเพื่อให้ทำความตกลงแต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์ที่ 1 จึงได้แจ้งการประเมินให้จำเลยชำระค่าภาษีอากรที่ขาด พร้อมเงินเพิ่มและเบี้ยปรับ จำเลยไม่ชำระค่าภาษีอากรตามการประเมินและมิได้อุทธรณ์การประเมินในส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่มต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามมาตรา 30 แห่งประมวลรัษฎากร ต่อมาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ได้มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ยืนราคาประเมินตามหลักฐานที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ใช้ในการประเมิน จำเลยต้องรับผิดชำระอากรขาเข้าที่ชำระขาดและภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมทั้งเงินและเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 89 (3) และมาตรา 89/1 แห่งประมวลรัษฎากร โดยเงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มคำนวณนับแต่วันตรวจปล่อยจนถึงวันฟ้อง ต้องไม่เกินจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ชำระขาด ขอให้บังคับจำเลยชำระอากรขาเข้า 307,752 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 197,834 บาท เงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม 197,834 บาท เบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม 197,834 บาท รวมทั้งสิ้น 901,254 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การว่า จำเลยชำระค่าภาษีอากรตามใบขนสินค้าขาเข้าพร้อมแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มตามคำฟ้องถูกต้องแล้ว เจ้าหน้าที่ฝ่ายประเมินภาษีอากรของโจทก์ที่ 1 ได้ประเมินภาษีอากรโดยพิจารณาจากราคาสินค้าที่จำเลยซื้อจากต่างประเทศและนำเข้ามาซึ่งได้สำแดงราคาไว้และกำหนดให้จำเลยชำระค่าภาษีอากร จำเลยได้ชำระค่าภาษีอากรให้แก่โจทก์ที่ 1 ตามที่มีการประเมินครบถ้วนแล้ว และในกรณีที่โจทก์ที่ 1 เรียกให้จำเลยชำระค่าภาษีอากรเพิ่มจำเลยก็ได้ปฏิบัติตาม จำเลยมิได้หลีกเลี่ยงภาษีอากรและสำแดงเท็จ โจทก์ที่ 1 จะนำราคาสินค้าที่นำเข้าของบริษัทคีย์เคมิคัลส์ แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เปรียบเทียบกับราคาสินค้าที่นำเข้าของจำเลยมากล่าวหาว่าจำเลยหลีกเลี่ยงภาษีอากรและสำแดงเท็จหาได้ไม่ เพราะแต่ละบริษัทมีการทำธุรกิจที่แตกต่างกัน จำเลยเป็นบริษัทที่ขายสินค้าให้แก่ส่วนราชการ มีการแข่งขันสูงจึงต้องต่อรองราคาให้ได้รับส่วนลดมากที่สุดโจทก์ที่ 1 ไม่อาจนำราคาตามบัญชีราคาสินค้าที่ยึดได้มาเปรียบเทียบกับราคาสินค้าที่สำแดงตามใบขนสินค้าขาเข้าเนื่องจากราคาตามบัญชีราคาสินค้าที่ออกไปก่อนนั้นจำเลยยังสามารถเจรจาต่อรองได้ขึ้นอยู่กับแหล่งผลิตสินค้าและอาจเปลี่ยนแปลงยกเลิกได้ โจทก์ที่ 1 มิได้ตรวจสอบเอกสารการชำระราคาสินค้าของจำเลยแก่ผู้ขายในต่างประเทศว่าราคาสุดท้ายถูกต้องตรงกับบัญชีราคาสินค้าที่จำเลยนำไปสำแดงเพื่อเสียภาษีอากรหรือไม่ การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินอากรขาเข้า 307,752 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 197,834 บาท เบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม 197,834 บาท เงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม 197,834 บาท รวมทั้งสิ้น 901,254 บาท แก่โจทก์ทั้งสองให้จำเลยที่ 1 (ที่ถูก จำเลย) ชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสองโดยกำหนดค่าทนายความให้ 8,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ราคาสินค้าที่จำเลยสำแดงในใบขนสินค้าขาเข้าพิพาทเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด จำเลยไม่ต้องชำระเงินค่าภาษีอากรเพิ่มและเบี้ยปรับนั้น เห็นว่า ในคดีหมายเลขแดงที่ 67-73/2549 ของศาลภาษีอากรกลางที่จำเลยฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตามใบขนสินค้าขาเข้าพิพาททั้ง 7 ฉบับ นี้ เมื่อศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า ราคาสินค้าที่จำเลยสำแดงในใบขนสินค้าขาเข้าพิพาทไม่ใช่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาดและพิพากษาให้ยกคำขอดังกล่าว จำเลยมิได้อุทธรณ์ คำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางในส่วนคำขอดังกล่าวจึงเป็นที่สุดและมีผลผูกพันคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 และมาตรา 147 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 และต้องฟังว่า การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบแล้ว ดังนี้ แม้ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรจะวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยว่า ราคาสินค้าที่จำเลยสำแดงในใบขนสินค้าขาเข้าพิพาทเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด ก็ไม่มีผลกระทบถึงคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางที่ให้ยกคำขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ซึ่งถึงที่สุดแล้วได้ อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share