แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พนักงานอัยการมีสิทธิยกคดีขึ้นกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1534 ได้ โดยผู้เยาว์ไม่ต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน
จำเลยไม่ได้ปฏิเสธว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับมรดกเสียเลย แต่ยอมให้โจทก์ได้รับส่วนแบ่งมรดกโดยเกี่ยวกันในเรื่องจำนวนเนื้อที่ที่จะแบ่งให้มากหรือน้อยเท่านั้น จนกระทั่งล่วงเลยกำหนดอายุความมรดก 1 ปี ก็ยังโต้เถียงกันแต่ในเรื่องจำนวนเนื้อที่ และขัดข้องในการที่ให้โจทก์บางคนซึ่งเป็นผู้เยาว์ต้องมีผู้แทนโดยชอบธรรมร้องขออนุญาตต่อศาลก่อนเท่านั้น ย่อมถือได้ว่าจำเลยได้ละเสียแล้วซึ่งประโยชน์แห่งอายุความโดยปริยายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 192 จำเลยจึงยกอายุความขึ้นต่อสู้โจทก์ไม่ได้
ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 56 บัญญัติให้ผู้เยาว์จะเสนอข้อหาต่อศาลได้โดยได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน และการให้ความยินยอมเช่นนี้ต้องทำเป็นหนังสือยื่นต่อศาลนั้น เพื่อรวมไว้ในสำนวนความ ก็เป็นเรื่องที่ผู้เยาว์ใช้สิทธิฟ้องร้องนั่นเอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอรับมรดกที่พิพาท จำเลยต่อสู้ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยได้ครอบครองปรปักษ์เกิน ๑๐ ปี ย่อมได้กรรมสิทธิ์ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์มีอำนาจฟ้อง แต่ฟ้องโจทก์ขาดอายุความมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๕๔ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความมรดก พิพากษากลับเป็นว่าที่พิพาทเป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์ผู้เป็นบุตร จำเลยทั้งสองผู้เป็นบิดามารดาและนายเขียวผู้เป็นสามี ให้แบ่งที่พิพาทเป็น ๑๒ ส่วน ให้โจทก์ทั้ง ๙ และจำเลยทั้งสองคนละส่วนเท่ากัน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ประเด็นข้อแรกที่โต้เถียงกันมีว่า พนักงานอัยการจะมีอำนาจยกคดีขึ้นว่ากล่าวบุพการีแทนผู้เยาว์โดยต้องได้รับความยินยอมจากผู้ใช้อำนาจปกครองเสียก่อนหรือไม่นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๕๓๔ บัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดจะฟ้องบุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรืออาญาไม่ได้ แต่เมื่อผู้นั้นร้องขอ พนักงานอัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้” คำว่า พนักงานอัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้ย่อมหมายว่า พนักงานอัยการย่อมจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวได้โดยไม่จำเป็นต้องให้บุตรผู้เยาว์ได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๑ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพราะไม่เช่นนั้นในกรณีทีบุตรผู้เยาว์มีข้อพิพาทกับบิดามารดา บุตรผู้เยาว์ย่อมจะไม่มีทางได้รับความยินยอมจากบิดามารดาเป็นแน่ และจะเลยทำให้พนักงานอัยการไม่มีทางจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวเอากับบิดามารดาของบุตรผู้เยาว์ อีกประการหนึ่ง การที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๖ บัญญัติให้ผู้เยาว์เสนอข้อหาต่อศาลได้โดยได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน และการให้ความยินยอมเช่นนี้ต้องทำเป็นหนังสือยื่นต่อศาลนั้น เพื่อรวมไว้ในสำนวนความก็เป็นเรื่องที่ผู้เยาว์ใช้สิทธิฟ้องร้องนั่นเอง เมื่อมีกฎหมายห้ามมิให้ผู้เยาว์ฟ้องบุพการีของตน แม้จะได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมก็ไม่ได้ จึงเห็นได้ว่าพนักงานอัยการมีสิทธิยกคดีขึ้นว่ากล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๓๔ ได้ โดยผู้เยาว์ไม่ต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน
โจทก์ฟ้องคดีเมื่อนางสงวนเจ้ามรดกตายเกิน ๑ ปีแล้ว จึงมีปัญหาว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความมรดกหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่านางสงวนตายเมื่อ ๑ สิงหาคม ๒๕๐๔ วันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๐๕ นางสาวสมัยโจทก์ได้ยื่นคำขอรับมรดกที่พิพาท โจทก์อีก ๘ คน นายเขียวและจำเลยทั้งสองต่างยื่นคำคัดค้านภายในกำหนดอายุความ ๑ ปี วันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๐๕ เจ้าพนักงานที่ดินได้ทำการเปรียบเทียบ ฝ่ายจำเลยจะเอาส่วนแบ่ง ๑๘๔ ตารางวา และได้เลื่อนไปเพื่อทำความตกลงกันอีกหลายครั้ง จนวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๐๕ ผู้ขอและผู้คัดค้านได้ไปที่สำนักงานที่ดิน เพื่อให้เจ้าพนักงานเปรียบเทียบ แต่เจ้าพนักงานเห็นว่าโจทก์เป็นผู้เยาว์อยู่ ๖ คน ต้องให้ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ขออนุญาตต่อศาล เมื่อมีหลักฐานมาแสดง เจ้าพนักงานที่ดินจึงจะดำเนินการเปรียบเทียบให้ พฤติการณ์เช่นนี้เห็นได้ว่าเมื่อเกินกำหนดอายุความมรดก ๑ ปีแล้ว จำเลยก็คงยอมให้โจทก์และนายเขียวได้รับส่วนมรดกรายนี้เป็นแต่เกี่ยงในเรื่องจำนวนเนื้อที่จะให้มากหรือน้อยเท่านั้น ย่อมถือได้ว่าจำเลยได้ละเสียแล้วซึ่งประโยชน์แห่งอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๒ จำเลยจึงยกอายุความว่า โจทก์มิได้ฟ้องร้องเรียกมรดกภายใน ๑ ปี นับแต่นางสงวนตายขึ้นต่อสู้โจทก์ไม่ได้ตามนัยฎีกาที่ ๑๖๐๗/๒๕๐๔ ระหว่างนายที ชัยคา กับพวก โจทก์ นายสาลี ชัยคา กับพวก จำเลย
พิพากษายืน