คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8477/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทในเครือของธนาคาร ศ. และจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดตั้งจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 เป็นหนี้เงินกู้จำเลยที่ 1 โดยจำนองที่ดินพิพาท 8 แปลงไว้แก่จำเลยที่ 1 เป็นประกันด้วย ในการจัดการหนี้สินของจำเลยที่ 2 นั้น จำเลยที่ 1 และธนาคาร ศ. ร่วมรู้เห็นและจัดการด้วย จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท 8 แปลงนี้ไว้แก่โจทก์ โดยความรู้เห็นของจำเลยที่ 1 โจทก์ได้ชำระหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายบางส่วนให้แก่จำเลยที่ 1 จำนวน 5,000,000 บาท เป็นแคชเชียร์เช็คซึ่งเรียกเก็บเงินได้แล้ว และให้แก่จำเลยที่ 2 จำนวน 1,000,000 บาท โดยส่วนที่เหลือสั่งจ่ายเช็คลงวันที่ล่วงหน้าให้แก่จำเลยที่ 1 โดยมีข้อตกลงว่าจำเลยที่ 1 จะดำเนินการไถ่ถอนจำนองให้แก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 จะโอนที่ดิน 8 แปลงให้แก่โจทก์ กรณีนี้ถือว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกันสัญญากับจำเลยที่ 2 ด้วย ต่อมาจำเลยทั้งสองผิดสัญญาไม่ดำเนินการไถ่ถอนจำนองและโอนที่ดินพิพาท 8 แปลงให้แก่โจทก์ เนื่องจากจำเลยที่ 1 ฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีล้มละลาย หลังจากนั้นโจทก์ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน 8 แปลงฉบับใหม่กับจำเลยที่ 2 โดยไม่มีการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการที่จำเลยทั้งสองผิดสัญญาจะซื้อจะขายครั้งแรก ถือได้ว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะบังคับชำระหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายและไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาท 8 แปลงครั้งแรก และเมื่อสัญญาจะซื้อจะขายครั้งแล้วครบกำหนดต่างฝ่ายต่างเพิกเฉย กรณีถือได้ว่าโจทก์และจำเลยทั้ง 2 ต่างสมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยาย คู่สัญญาจะต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม ต่างฝ่ายต่างจะเรียกค่าเสียหายใด ๆ แก่กันไม่ได้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงต้องคืนเงิน 5,000,000 บาท และ 1,000,000 บาท ตามลำดับพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ได้รับชำระเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 15,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย 2,724,675.53 บาท ค่าขาดประโยชน์จากกำไรที่จะได้รับ 12,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย 2,187,123.29 บาท และดอกเบี้ยจากต้นเงิน 27,000,000 บาท ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระให้จำเลยทั้งสองร่วมกันไถ่ถอนจำนองและโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินจำนวน 8 แปลง พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์โดยรับเงินส่วนที่เหลือ 18,000,000 บาท และร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 31,911,780.82 บาท หรือหักกลบลบหนี้แล้วชำระในส่วนที่เหลือ 13,911,780.82 บาท หากไม่ไถ่ถอนจำนองและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้โจทก์ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองโดยหักกลบลบหนี้แล้วชำระส่วนที่เหลือ 13,911,780.82 บาท และให้จำเลยที่ 1 ส่งคืนเช็คอันเป็นหลักประกันของนายมิตชั่นจำนวนเงิน 18,000,000 บาท ให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินจำนวน 5,000,000 บาท และจำเลยที่ 2 ใช้เงินจำนวน 1,000,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไถ่ถอนจำนองที่ดินตามฟ้องกับโจทก์หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทในเครือของธนาคารศรีนคร จำกัด และจำเลยที่ 2 เป็นบริษัทที่จำเลยที่ 1 จัดตั้งขึ้น ดังนั้น ในเรื่องที่เกี่ยวกับการจัดการหนี้สินของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 จะต้องร่วมรู้ด้วย จำเลยที่ 2 เป็นหนี้เงินกู้จำเลยที่ 1 โดยจำนองที่ดินพิพาท 8 แปลง ไว้แก่จำเลยที่ 1 เป็นประกันด้วย และได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวนี้ไว้แก่โจทก์ โดยความรู้เห็นของจำเลยที่ 1 โจทก์ได้ชำระหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายบางส่วนให้แก่จำเลยที่ 1 จำนวน 5,000,000 บาท เป็นแคชเชียร์เช็ค ซึ่งเรียกเก็บเงินได้แล้ว และให้แก่จำเลยที่ 2 จำนวน 1,000,000 บาท หนี้ส่วนที่เหลือชำระภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2533 โดยสั่งจ่ายเช็คล่วงหน้าเป็นประกันโดยมีข้อตกลงว่าจำเลยที่ 1 จะดำเนินการไถ่ถอนจำนองให้แก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 จะโอนที่ดิน 8 แปลง ให้แก่โจทก์ ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทและไถ่ถอนจำนองกับโจทก์ จึงต้องผูกพันตามสัญญาดังกล่าวและต้องร่วมกันดำเนินการให้โจทก์ได้ไถ่ถอนการจำนองและโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามข้อตกลงด้วย ต่อมาจำเลยที่ 1 ไม่ได้ถอนฟ้องคดีล้มละลายที่ฟ้องจำเลยที่ 2 ไว้ภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2533 จึงไม่สามารถดำเนินการไถ่ถอนการจำนองและโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามข้อตกลง จำเลยทั้งสองจึงผิดสัญญาต่อโจทก์ โจทก์ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน 8 แปลง ฉบับใหม่กับจำเลยที่ 2 โดยโจทก์มิได้มีการเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ จากการที่จำเลยทั้งสองได้ผิดสัญญามาแล้วก่อนหน้านั้น ถือได้ว่าโจทก์ไม่ประสงค์ที่จะบังคับให้ชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าว จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสองไม่สามารถดำเนินการให้โจทก์ได้ไถ่ถอนการจำนองและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ได้ และเมื่อครบกำหนดวันโอนกรรมสิทธิ์ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2535 ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ชำระเงินส่วนที่เหลือแก่จำเลยที่ 1 หรือมีการแสดงออกว่าโจทก์พร้อมที่จะปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวแล้วอย่างไร ต่างฝ่ายต่างเพิกเฉย กรณีจึงถือได้ว่า โจทก์และจำเลยที่ 2 ต่างสมัครใจที่จะเลิกสัญญาต่อกันโดยปริยายแล้ว คู่สัญญาจะต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม ต่างฝ่ายต่างจะเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ แก่กันไม่ได้ ดังนี้ จำเลยที่ 1 จึงต้องคืนเงินที่ได้รับไว้จากโจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ที่จำเลยที่ 1 ได้รับแคชเชียร์เช็คและสามารถเรียกเก็บเงินได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 คืนเงินจำนวน 5,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2533 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ เฉพาะดอกเบี้ยถึงวันฟ้องคำนวณแล้วไม่ให้เกิน 940,095.89 บาท ตามคำขอของโจทก์และคืนเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขานครปฐม เลขที่ 0838968 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2533 จำนวนเงิน 18,000,000 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share