แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในคืนเกิดเหตุจำเลยเดินเข้าไปใต้ถุนบ้านของผู้เสียหายแล้วจับและดึงท้ายรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายซึ่งใส่กุญแจคอ(ล็อก) อยู่บนขาตั้งผู้เสียหายร้องขึ้นว่า ขโมยจำเลยวิ่งหนีไป แม้รถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายจะยังไม่เคลื่อนที่ไปก็ถือได้ว่า จำเลยได้ลงมือกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ แล้วแต่กระทำไปไม่ตลอด การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานพยายามลักทรัพย์.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,334, 335 (1), (7), (8)
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 335, 83 จำคุก 3 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหามีว่าจำเลยกระทำผิดฐานลักทรัพย์สำเร็จแล้วหรือไม่ ผู้เสียหายเบิกความว่า จำเลยจับที่ท้ายรถพร้อมกับดึงรถไปทางทิศตะวันตกประมาณ 1 เมตร ขณะนั้นรถจักรยานยนต์ใส่กุญแจคอ (ล็อก) อยู่ และนายละออง เบิกความว่ารถจักรยานยนต์วางอยู่บนขาตั้ง เห็นว่าในพฤติการณ์เช่นนี้จำเลยน่าจะเข้ามาเคลื่อนย้ายทันทีได้ยาก ทั้งผู้เสียหายนั่งมองดูจำเลยตั้งแต่เดินมาจากทางกองฟางเมื่อจำเลยจับที่รถแล้ว ไม่มีเหตุผลที่ผู้เสียหายจะรอให้จำเลยดึงรถออกไปถึง 1 เมตรจึงร้องขึ้น ที่นายละอองเบิกความว่าเห็นรอยครูดไปตามพื้นประมาณ 1 เมตรนั้นก็ขัดกับคำของร้อยตำรวจเอกจักรพนธ์ ดวงกุดั่น พยานโจทก์เองที่ว่าในที่เกิดเหตุไม่มีรอยเคลื่อนของรถ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยได้ลากรถไปได้ดังที่ผู้เสียหายเบิกความเมื่อจำเลยลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่กระทำไปไม่ตลอด การกระทำของจำเลยจึงเป็นเพียงความผิดฐานพยายามลักทรัพย์เท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา335 (1), (7), (8), 83 ประกอบด้วยมาตรา 80 จำคุก 2 ปี.