คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8460/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายคนหนึ่งของ ช. จึงมีสิทธิรับมรดกในที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของ ช. ส่วนจำเลยเป็นผู้รับพินัยกรรมของ ม. ซึ่งยกที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของ ม. ให้แก่จำเลยตามพินัยกรรม การที่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช. ฟ้องจำเลยเพื่อขอให้แบ่งที่ดินพิพาทออกเป็นสัดส่วนของแต่ละฝ่าย จึงมิใช่คดีมรดก ไม่อาจนำอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 มาใช้ได้
ม. ทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของ ม. ให้จำเลยหลังจาก ม. ถึงแก่กรรม จำเลยยังไปรับโอนที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของ ม. ตามพินัยกรรมดังกล่าว โดยไม่ได้โต้แย้งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทในส่วนของ ช. ที่โจทก์รับโอนมาในฐานะผู้จัดการมรดก อันเป็นการยอมรับว่าที่ดินพิพาทอีกส่วนหนึ่งเป็นของ ช. ที่ตกทอดแก่ทายาทของ ช. รวมทั้งโจทก์ด้วย โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกให้จำเลยแบ่งที่ดินพิพาทให้ครึ่งหนึ่ง ส่วนวิธีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างเจ้าของรวมนั้น ป.พ.พ. มาตรา 1364 ได้กำหนดขั้นตอนไว้ชัดเจนแล้ว จึงต้องเป็นไปตามนั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายช่วง ผู้ตายกับจำเลยมีสิทธิครอบครองในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ทะเบียนเล่ม 26 หน้า 159 สารบบเลขที่ 259 (ที่ถูก 295) ตำบลวังยาง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี เนื้อที่ 5 ไร่ 3 งาน 69 ตารางวา โดยโจทก์และจำเลยมีสิทธิครอบครองกันคนละครึ่ง โจทก์มีความประสงค์จะแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวเป็นสัดส่วนและบอกกล่าวให้จำเลยทราบแล้ว จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยไปดำเนินการจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ 2 ไร่ 3 งาน 84.5 ตารางวา ตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้อง หากจำเลยไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยและหากตกลงกันไม่ได้ให้นำที่ดินดังกล่าวออกขายโดยประมูลราคาระหว่างโจทก์กับจำเลยหรือขายทอดตลาด แล้วนำเงินที่ขายได้มาแบ่งกันคนละครึ่ง
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่เคยครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามฟ้อง เดิมที่ดินดังกล่าวมีหลักฐานเป็นแบบแจ้งการครอบครองซึ่งมีชื่อนางหมาเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง โจทก์เป็นบุตรของนายช่วง กับนางมูล ไม่ทราบชื่อสกุล ส่วนจำเลยเป็นบุตรของนางหมา กับนายไทย ต่อมานายช่วงกับนางหมาได้อยู่กินฉันสามีภริยา มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือนางบุญสม กับนางสาวสร้อย ต่อมาที่ดินพิพาทได้มีการออกเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ นางหมาจึงใส่ชื่อของนายช่วงเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองร่วมกับนางหมา หลังจากนายช่วงถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2510 นางหมา จำเลยและนางสาวสร้อยร่วมกันครอบครองที่ดินดังกล่าวโดยโจทก์ไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้อง จากนั้นนางหมาและนางสาวสร้อยได้ถึงแก่กรรม ทรัพย์มรดกดังกล่าวจึงตกทอดแก่จำเลยผู้เดียวและนับตั้งแต่นายช่วงถึงแก่กรรมโจทก์ไม่เคยเข้ามาเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าว และไม่เคยฟ้องเรียกเอาทรัพย์มรดกของนายช่วงจากจำเลยและนางสาวสร้อย คดีของโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยแบ่งแยกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ทะเบียนเล่ม 26 หน้า 159 สารบบเลขที่ 295 ตำบลวังยาง อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี ให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง ส่วนวิธีการแบ่งให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364 ให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,500 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 โจทก์ถึงแก่กรรม นางสาวสาลี บุตรโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำสั่งอนุญาตและมีคำพิพากษากลับยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกาโดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้ ศาลฎีกามีคำวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องคดีในฐานะผู้จัดการมรดกของนายช่วง ซึ่งเป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้จัดการมรดก เมื่อโจทก์ถึงแก่ความตาย สิทธิหน้าที่ในฐานะผู้จัดการมรดกย่อมสิ้นสุดลงไม่ตกทอดไปยังทายาทของโจทก์ นางสาวสาลีเป็นเพียงทายาทโจทก์ไม่ปรากฏว่าเป็นผู้ปกครองที่พิพาทหรือมีอำนาจจัดการทรัพย์มรดกของนายช่วงแต่อย่างใดไม่อาจเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ได้ จึงพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยกคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 7 ที่อนุญาตให้นางสาวสาลีเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ ยกฎีกาโจทก์ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42 ก่อนแล้ว ส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำสั่งและคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ศาลชั้นต้นดำเนินการตามคำพิพากษาศาลฎีกาแล้ว มีนายมนัส ทายาทของนายช่วงเจ้ามรดก และเป็นผู้ปกครองทรัพย์มรดกของนายช่วงยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำสั่งอนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยถึงแก่กรรม นางสาวบุญฟื้น ทายาทของจำเลยยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลย ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาต
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า นายช่วง และนางหมา อยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือ นางบุญสม กับนางสาวสร้อย โจทก์เป็บุตรของนายช่วงที่เกิดจากภริยาเดิมของนายช่วง ส่วนจำเลยเป็นบุตรของนางหมาที่เกิดจากสามีเดิมของนางหมา นายช่วงและนางหมามีชื่อเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ตามเอกสารหมาย จ.3 นายช่วงถึงแก่กรรมก่อนนางหมา โจทก์ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกของนายช่วง ตามคำสั่งศาลเอกสารหมาย จ.2 แล้ว โจทก์จดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนที่เป็นมรดกของนายช่วงมาเป็นของโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายช่วง ต่อมานางหมาถึงแก่กรรม จำเลยซึ่งเป็นบุตรของนางหมาจดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนที่เป็นมรดกของนางหมามาเป็นของจำเลยปรากฏตามสารบัญจดทะเบียนในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เอกสารหมาย จ.3 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความมรดกแล้วหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำสั่งศาลเอกสารหมาย จ.2 ฟังได้ว่าโจทก์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายคนหนึ่งของนายช่วงจึงมีสิทธิรับมรดกในที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของนายช่วง ส่วนจำเลยเป็นผู้รับพินัยกรรมของนางหมา ซึ่งยกที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของนางหมาให้แก่จำเลยตามพินัยกรรมเอกสารหมาย ล.1 ดังนี้ การที่โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายช่วงฟ้องจำเลยเพื่อขอให้แบ่งที่ดินพิพาทออกเป็นสัดส่วนของแต่ละฝ่าย จึงมิใช่คดีมรดก จะนำอายุความมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 มาใช้หาได้ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้จำเลยจดทะเบียนแบ่งที่ดินพิพาทออกเป็นเนื้อที่ตามรูปแผนที่ที่ดินพิพาทท้ายคำฟ้องให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่งได้หรือไม่ ซึ่งในข้อนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยังไม่ได้วินิจฉัย แต่เมื่อศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานโจทก์และจำเลยจนเสร็จสิ้นแล้ว ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวไปเสียทีเดียว โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัย เห็นว่า นางหมาได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของนางหมาให้จำเลยหลังจากนางหมาถึงแก่กรรม จำเลยยังไปรับโอนที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของนางหมาตามพินัยกรรมดังกล่าว โดยไม่ได้โต้แย้งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทในส่วนของนายช่วงที่โจทก์รับโอนมาในฐานะผู้จัดการมรดกแต่อย่างใดซึ่งเป็นไปตามสารบัญจดทะเบียนของหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.3 อันเป็นการยอมรับว่าที่ดินพิพาทอีกส่วนหนึ่งเป็นของนายช่วงที่ตกทอดแก่ทายาทของนายช่วง รวมทั้งโจทก์ด้วย โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกให้จำเลยแบ่งที่ดินพิพาทให้ครึ่งหนึ่ง ส่วนวิธีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างเจ้าของรวมนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1364 ได้กำหนดขั้นตอนไว้ชัดเจนแล้ว จึงต้องเป็นไปตามนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share