คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 846/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การกำหนดค่าล่วงเวลาต้องคำนวณจากค่าจ้างในเวลาทำงานปกติตามที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ3,11,29,34และ42เมื่อสัญญาจ้างมิได้กำหนดอัตราค่าจ้างปกติไว้ย่อมทำให้ไม่อาจคำนวณค่าล่วงเวลาได้การรวมค่าล่วงเวลาเหมาจ่ายไปกับค่าจ้างจึงเป็นการเอาเปรียบลูกจ้างสัญญาจ้างดังกล่าวจึงมีวัตถุประสงค์ขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา150ดังนั้นเมื่อจำเลยให้โจทก์ทำงานล่วงเวลาวันละ5ชั่วโมงนับแต่แรกเข้าทำงานจนถึงวันฟ้องและจำเลยประกอบกิจการผลิตสายไฟฟ้าซึ่งเป็นงานอุตสาหกรรมตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานข้อ3วรรคสอง(1)(ข)โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาจากการทำงานล่วงเวลาจำเลยต้องจ่ายค่าล่วงเวลาแก่โจทก์อีกส่วนหนึ่งต่างหากจากค่าจ้าง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาจำนวน 235,626.82 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาวันละ 194.75 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งพนักงานขับรถรับส่งพนักงาน โดยตกลงเหมาจ่ายค่าจ้างและค่าล่วงเวลารวมกันไปในตัว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าล่วงเวลาอีก และโจทก์ฟ้องจำเลยเรียกร้องค่าล่วงเวลาตั้งแต่เริ่มเข้าทำงานวันที่28 กันยายน 2535 จนถึงวันฟ้องวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2539 เกิน 2 ปีฟ้องจึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดพิจารณา คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างตำแหน่งพนักงานขับรถ ได้รับค่าตอบแทนการทำงานครั้งสุดท้ายเดือนละ 9,350 บาทเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.3 จ.1และ จ.2 เป็นเอกสารถูกต้อง หากโจทก์มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาแล้วโจทก์ขอสละสิทธิค่าล่วงเวลาย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2537ขึ้นไป การคำนวณค่าล่วงเวลาตามเอกสารหมาย ล.3ถูกต้องและสำหรับค่าล่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2537 ถึงวันฟ้อง (วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2539) มีจำนวน 113,517.75 บาทจำเลยขอสละข้อต่อสู้เรื่องอายุความ คู่ความแถลงไม่สืบพยาน
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยประกอบกิจการผลิตสายไฟฟ้าโจทก์เข้าทำงานตั้งแต่เวลา 6 นาฬิกา และเลิกงานเวลา19 นาฬิกา สัญญาจ้างตามเอกสารหมาย ล.1 ที่โจทก์ได้ทำไว้กับจำเลยเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2537 กำหนดเงินเดือนของโจทก์สูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำมาก เงินค่าจ้างส่วนที่เกินอัตราคาจ้างขั้นต่ำจึงเป็นการเพียงพอการจ่ายค่าทำงานล่วงเวลาวันละ 5 ชั่วโมงถือได้ว่าโจทก์จำเลยได้ตกลงเหมาจ่ายค่าจ้างรวมกับค่าล่วงเวลาเข้าด้วยกัน โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าล่วงเวลาจากจำเลยอีกพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าโจทก์จำเลยได้ตกลงเหมาจ่ายค่าจ้างเข้ากับค่าล่วงเวลาหรือไม่ สัญญาจ้างลงวันที่ 1 มิถุนายน 2537 เอกสารหมาย ล.1 ข้อ 1ระบุว่า โจทก์ตกลงทำงานให้แก่จำเลยและบริษัทในเครือ โดยจะทำงานนอกหรือเกินเวลาทำงานปกติ และข้อ 2 ระบุให้โจทก์รับค่าจ้างเดือนละ 8,160 บาท เป็นการเหมาจ่ายและเงินพิเศษอื่น ๆ(ค่าครองชีพ ค่าพาหนะ และค่าอาหาร) อีกเดือนละ 440 บาทครั้งสุดท้ายโจทก์ได้รับการปรับค่าจ้างเป็นเดือนละ 9,350 บาทเห็นว่า ตามสัญญาจ้างดังกล่าวแม้จะระบุว่าเป็นการเหมาจ่ายแต่ก็มิได้ระบุให้เหมาจ่ายรวมค่าล่วงเวลาเข้าด้วยกับค่าจ้างอย่างไรก็ดีหากมีการรวมค่าล่วงเวลาเหมาจ่ายเข้ากับค่าจ้างดังข้อต่อสู้ของจำเลย ผลจะเป็นว่าไม่อาจทราบได้ว่าค่าจ้างปกติที่จะนำไปเป็นฐานคำนวณค่าล่วงเวลานั้นต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำหรือไม่ และค่าล่วงเวลาที่ตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้างนั้นถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เพราะการกำหนดค่าล่วงเวลาต้องคำนวณจากค่าจ้างในเวลาทำงานปกติตามที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 3, 11, 29, 34 และ 42 เมื่อสัญญาจ้างมิได้กำหนดอัตราค่าจ้างปกติไว้ย่อมทำให้ไม่อาจคำนวณค่าล่วงเวลาได้ การรวมค่าล่วงเวลาเหมาจ่ายไปกับค่าจ้าง จึงเป็นการเอาเปรียบลูกจ้าง สัญญาจ้างตามเอกสารหมาย ล.1 ดังกล่าวจึงมีวัตถุประสงค์ขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 150 ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 5630/2538 ระหว่างนายฉลวย เรื่องวงษ์ โจทก์ บริษัทบาบิช(ประเทศไทย) จำกัดจำเลย ดังนั้น เมื่อจำเลยให้โจทก์ทำงานล่วงเวลาวันละ 5 ชั่วโมงนับแต่แรกเข้าทำงานจนถึงวันฟ้อง และจำเลยประกอบกิจการผลิตสายไฟฟ้า ซึ่งเป็นงานอุตสาหกรรม ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 3 วรรคสอง(1)(ข) โจทก์ย่อมมีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาจากการทำงานล่วงเวลาดังกล่าวจำเลยจึงต้องจ่ายค่าล่วงเวลาแก่โจทก์อีกส่วนหนึ่งต่างหากจากค่าจ้างเป็นเงิน 113,517.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี ตามข้อ 31 วรรคหนึ่ง แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทย ฉบับดังกล่าวคำพิพากษาศาลแรงงานกลางศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้จำเลยจ่ายค่าล่วงเวลาแก่โจทก์113,517.75 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

Share