คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 846/2505

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อที่จำเลยสู้คดีว่าจำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทเพราะเป็นการเสนอข่าวติชมด้วยความเป็นธรรม นั้น จำเลยจะยกขึ้นเป็นข้อแก้ตัวได้ต่อเมื่อได้กระทำโดยสุจริตเสียก่อนหากพยานหลักฐานในสำนวนปรากฏว่าจำเลยไม่ได้กระทำโดยสุจริต จำเลยย่อมจะยกขึ้นเป็นข้อแก้ตัวไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นบรรณาธิการผู้โฆษณาและเจ้าของหนังสือพิมพ์เสียงเชียงใหม่ได้บังอาจโฆษณาลงในหนังสือพิมพ์เสียงเชียงใหม่ใส่ความหมิ่นประมาททนายทองดี อิสราชีวิน ด้วยพาดหัวข่าวและข้อความต่าง ๆ อันทำให้ประชาชนผู้อ่านเกิดความดูหมิ่นและเกลียดชัยนายทองดี อิสราชีวิน ได้ทำให้นายทองดี อิสราชีวิน เสื่อมเสียชื่อเสียง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖,๓๒๘,๓๓๒,๘๓ พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๔๘๔ มาตรา ๔๘
จำเลยให้การสู้คดีว่า จำเลยได้ตีพิมพ์ข้อความดังกล่าวในฟ้องลงในหนังสือพิมพ์เสียงเชียงใหม่จริง ข้อความนั้นหาเป็นข้อความหมิ่นประมาททนายทองดีไม่ จำเลยตีพิมพ์เป็นการเสนอข่าวโดยสุจริตใจและติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนและหนังสือพิมพ์ย่อมกระทำกันอยู่ทั่วไป ข้อความนั้นเป็นความจริง ขอให้ศาลยกฟ้อง
ศาลแขวงเชียงใหม่พิจารณาแล้วพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฏหมายอาญามาตรา ๓๒๘ และพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๔๘๔ มาตรา ๔๘
โจทก์ร่วมอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยในสถานหนัก
จำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าข้อแก้ตัวของจำเลยฟังได้ พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
ผู้ว่าคดีโจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าข้อความที่จำเลยตีพิมพ์โฆษณานั้น อ่านแล้วได้ความว่า โจทก์ร่วมโกงเอาเงินของนายก๋องที่ฝากซื้อปืนไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวเสีย จึงเป็นข้อความที่อาจทำให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังดังศาลชั้นต้นวินิจฉัย ส่วนที่จำเลยสู้คดีว่าจำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทเพราะเป็นการเสนอข่าวติชมด้วยความเป็นธรรมนั้นศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยจะยกขึ้นเป็นข้อแก้ตัวได้ต่อเมื่อได้กระทำโดยสุจริตเสียก่อน แต่ตามพยานหลักฐานในสำนวนปรากฏว่า จำเลยกับโจทก์ร่วมไม่ถูกกัน โจทก์ร่วมและจำเลยเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ด้วยกัน มีความคิดเห็นไม่ตรงกันและเคยมีเรื่องกระทบกระทั่งกันมาแล้ว โดยจำเลยกล่าวหาโจทก์ร่วมต่อผู้ใหญ่และบุคคลอื่น ๆ ไปในทางที่โจทก์ร่วมเสียหาย มาในครั้งนี้นายก๋องมอบเรื่องให้จำเลยซึ่งเป็นทนายความทวงหนี้และจัดการฟ้องร้องให้ จำเลยกลับฉวยโอกาสเอาเรื่องนี้ไปตีพิมพ์โฆษณาและยังใช้คำว่า ส.ส. ซึ่งหมายความถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่อีก ทั้ง ๆ ที่โจทก์ร่วมไม่ได้เป็นแล้ว แสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่ได้กระทำโดยสุจริต ดังนั้น จำเลยจึงยกขึ้นเป็นข้อแก้ตัวไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่ากรณีเข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๙ นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นฟ้องด้วย พิพากษากลับให้บังคับคดีลงโทษจำเลยตามศาลชั้นต้น.

Share